ข่าวประชาสัมพันธ์

สถานการณ์ด้านพลังงานในยุโรปและเอเชียกลางกำลังอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง

วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553





บรัสเซลส์ 18 มีนาคม 2553 – ขณะนี้   มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของอุปทานพลังงานขั้นปฐมภูมิ ความร้อน และไฟฟ้าในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง   แม้ว่าในปัจจุบัน รัสเซียและเอเชียกลางจะมีบทบาทเป็นผู้จัดหาพลังงานรายสำคัญให้กับยุโรปตะวันออกและตะวันตกก็ตาม  

ทั้งนี้ รายงานของธนาคารโลกฉบับล่าสุดที่เปิดตัววันนี้ภายใต้ชื่อ Lights Out? The Energy Outlook in Eastern Europe and the Central Asia ได้ระบุว่า   แม้ว่าภูมิภาคนี้จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งเกิดของพลังงานอยู่มากก็ตาม   แต่สถานการณ์ด้านพลังงานของภูมิภาคก็กำลังเข้าขั้นน่าวิตก  เว้นแต่จะมีการลงทุนมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 20 ปีข้างหน้า

"มีการคาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานขั้นปฐมภูมิในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในปี 2030" ปีเตอร์ ทอมป์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง ธนาคารโลก กล่าว "ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 90"

ทอมป์สันกล่าวว่า “ก่อนที่โลกจะประสบกับวิกฤติการเงินในปี 2008  ประเทศผู้นำเข้าพลังงานหลายประเทศในภูมิภาคเริ่มประสบปัญหาเกี่ยวกับอุปทาน  แต่วิกฤติการเงินทำให้ความต้องการพลังงานลดลงและส่งผลให้ภูมิภาคสามารถหยุดหายใจได้เล็กน้อย  โดยประเทศต่าง ๆ สามารถดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบของภาวะตึงตัวของพลังงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้น   แต่โอกาสนี้จะกินเวลาประมาณ 5-6 ปีเท่านั้น   การบรรเทาปัญหานี้ต้องทำทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน   และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ภูมิภาคทั้งภูมิภาคจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะตึงตัวด้านพลังงาน  ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศเหล่านี้เปลี่ยนสถานะจากผู้ส่งออกพลังงานสุทธิ เป็นผู้นำเข้าสุทธิในปี 2030"

แนวโน้มพลังงานสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจ
หลังแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต ประเทศในยุโรปและเอเชียกลางประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักยาวนานถึง 6 ปี ก่อนเศรษฐกิจจะฟื้นคืนชีพอย่างกว้างขวาง  ส่งผลให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตรเชิงเศรษฐกิจสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก  

ความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจสะท้อนให้เห็นผ่านธุรกิจพลังงานของภูมิภาค  กล่าวคือ  ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงแรกส่งผลให้การผลิตและบริโภคพลังงานลดต่ำลงอย่างมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งการผลิตและการบริโภคพลังงานก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบำรุงรักษาและพัฒนาสินทรัพย์ด้านพลังงานกลับถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง  ทำให้ภูมิภาคมีโอกาสจะเผชิญกับสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานดังกล่าว

ภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติการณ์การเงินโลกที่เริ่มในปี 2008 ซึ่งส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดลงอย่างมาก   เหตุการณ์ดังกล่าวพลอยทำให้ภูมิภาคพอจะมีที่หายใจได้บ้าง   แต่เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นการชะลอตัวเพียงชั่วคราวเท่านั้นก่อนที่พลังงานจะกลายเป็นปัญหาสำคัญอีกครั้งหนึ่ง  ทันทีที่เศรษฐกิจเริ่มเติบโตอีกครั้ง แน่นอนว่าการบริโภคพลังงานย่อมจะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

จำเป็นต้องลงทุนเพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลน 
รายงานฉบับนี้กล่าวว่า   ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องลงทุนเงินจำนวนมหาศาลหากต้องการที่จะรักษาหรือเพิ่มระดับการผลิตพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของยุโรปโดยรวมให้ได้   ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า  ความต้องการพัฒนาพลังงานขั้นปฐมภูมิระหว่างปี 2010-2030 เพื่อให้มีน้ำมัน  แก๊ส และถ่านหินไว้ใช้ต่อไปนั้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว 

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานในภาคพลังงานของภูมิภาคจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการพัฒนาและยกระดับ   กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา  โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ในขณะนี้ถือว่าเก่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจไฟฟ้าในช่วง 20-25 ปีข้างหน้า จึงคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญฯ และจะมีความต้องการเงินอีก 500,000 ล้านเหรียญฯ สำหรับระบบทำหรือกระจายความร้อนแบบรวมศูนย์ (district heating)

"กำลังการผลิตที่ลดลงขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นวิกฤติเต็มรูปแบบ" ทอมป์สันกล่าว "ทั้งนี้ เป็นเพราะความต้องการที่ลดลงในช่วงทศวรรษ 1990 และระดับความต้องการที่ลดน้อยลงซึ่งเกี่ยวพันกับวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน  แต่การก่อสร้างโรงงานต่าง ๆ กินเวลานานหลายปี ซึ่งหมายความว่าเราจำเป็นต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้   ระดับการลงทุนที่มากกว่า 3 ล้านล้านเหรียญฯ สำหรับภูมิภาคนี้ไม่สามารถมาจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่การดึงดูดให้นักลงทุนภาคเอกชนเข้ามาลงทุนจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนบรรยากาศการลงทุนเพื่อจูงใจนักลงทุน"

ประสิทธิภาพพลังงาน – ศักยภาพที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ 
การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจะช่วยบรรลุเป้าหมาย 3 ประการพร้อม ๆ กันและมีต้นทุนต่ำที่สุด เป้าหมาย 3 ประการได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ความมั่นคงด้านพลังงานที่ดีกว่าเดิม และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่าเดิม

จากรายงานฉบับดังกล่าว เงินทุก ๆ 1 เหรียญฯ ที่ลงทุนเพิ่มขึ้นในการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนในการผลิตได้มากกว่า 2 เหรียญฯ   แต่ขณะนี้   ยังมีศักยภาพที่ยังไม่ถูกนำมาใช้เนื่องจากมีอุปสรรคหลายประการในการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน   รวมถึงราคาพลังงานที่ยังไม่มากพอ   การขาดวินัยในการขำระเงิน การขาดข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีล่าสุด การมีผู้รับเหมาและบริษัทผู้ให้บริการน้อยราย และข้อจำกัดด้านการเงิน

รัฐมีบทบาทหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยไม่เพียงแต่จะเป็นผู้กำหนดราคาพลังงานที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเท่านั้น  แต่ยังต้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานว่าด้วยประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านเรือน อุปกรณ์ และยานพาหนะต่าง ๆ  รวมทั้งบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวด้วย

รายงานฉบับนี้ชี้แนะว่าเพื่อให้ทุกคนเห็นเป็นตัวอย่าง  รัฐบาลควรดำเนินโครงการประสิทธิภาพพลังงานในภาครัฐ ตลอดจนชี้แจงให้สาธารณชนทราบถึงทางเลือกเทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน  และออกแบบเมืองให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทาง

อนาคตของการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ
ความท้าทายของประเทศเหล่านี้ในการก้าวเดินไปข้างหน้า คือ การมีพลังงานใช้เพิ่มเติมในเวลาอันสั้นและมีต้นทุนต่ำสุด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยสามารถจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า  ภูมิภาคนี้ปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงที่สุดในโลก โดยในปี 2005 รัสเซียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น  สมาชิกสหภาพยุโรปของภูมิภาคแห่งนี้ได้เริ่มแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว  รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน และจัดทำโครงการที่จะช่วยให้เกิดคาร์บอนเครดิต  ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันจึงอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ตัวเองสามารถไล่ตามได้ทันและอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีช่องว่างระหว่างความพยายามของโลกที่จะลดการปล่อยคาร์บอนสู่อากาศกับยุทธศาสตร์พลังงานระดับชาติในช่วง 20 ปีข้างหน้าอยู่   ผู้กำหนดนโยบายของภูมิภาคตลอดจนธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องคิดยุทธศาสตร์นี้ใหม่ และต้องมีส่วนร่วมในความพยายามระดับโลกอย่างจริงจัง แต่การเปลี่ยนแปลงให้เป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอาจมีต้นทุนสูง   การดำเนินโครงการที่จัดอยู่ในกลุ่มกลไกพัฒนาที่สะอาดซึ่งยังช่วยสร้างคาร์บอนเครดิตด้วยนั้น จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคสามารถลการปล่อยก็ซเรือนกระจกของตน และดึงดูดเงินทุนที่จำเป็นสำหรับนำมาใช้สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานรวมทั้งพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สะอาดกว่าเดิมและทรงประสิทธิภาพ

ดังนั้น  รัฐบาลจึงควรดำเนินการให้กฎหมายและนโยบายระดับชาติต่าง ๆ เอื้อให้เกิดการดำเนินโครงการที่ช่วยสร้างคาร์บอนเครดิต  ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัยในเวลาอันรวดเร็ว และจุดประกายให้เกิดการปฏิวัติที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน

เวลาไม่รอช้า
เนื่องจากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุน  อีกทั้งการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในธุรกิจพลังงานจำเป็นต้องเผื่อเวลาล่วงหน้าไว้หลายปี   รายงานฉบับนี้จึงเน้นย้ำด้วยว่า  ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับจุดยืนของตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนทางการเงินที่จะสร้างความก้าวหน้าดังกล่าวโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้   ซึ่งหากไม่มีบรรยากาศที่จะสนับสนุนการลงทุนในภาคส่วนนี้   นั่นย่อมหมายถึงเราอาจไม่สามารถลงทุนได้ครบถ้วน และจะก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ  เพราะพลังงานที่ขาดไปเพียงร้อยละ 10 จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 1 และหากปริมาณพลังงานที่ลดลงมีมากกว่าเดิม ก็จะยิ่งส่งผลเสียหายมากยิ่งขึ้น

"ธนาคารโลกพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานของตน"  ทอมป์สันกล่าว "ด้วยการช่วยสรรค์สร้างบรรยากาศที่น่าจูงใจต่อการลงทุน ตลอดจนช่วยเหลือประเทศให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ รวมทั้งเงินกู้เพื่อสนับสนุนโครงการที่จะช่วยลดการปล่อยก็ซเรือนกระจกได้  อย่างไรก็ตาม ประเทศจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะเวลาเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด"


Api
Api

Welcome