Skip to Main Navigation
เรื่องเด่น วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพ.ศ. 2563 ระดมสมองเพื่อเพิ่มความก้าวหน้าด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

Image

ผู้ร่วมอภิปรายหารือถึงวิธีการเพิ่มแรงผลักดันให้กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ในการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลพ.ศ. 2563

Photo: Chadin Tephaval/ World Bank


เรื่องเด่น

  • เพื่อผลักดันให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ก้าวไปข้างหน้า จะต้องมีเจตจำนงทางการเมือง ความมุ่งมั่น และความเป็นผู้นำในระดับสูง
  • หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้หมายถึงการใช้จ่ายเงินมากขึ้น แต่เป็นการจัดระเบียบการใช้ทรัพยากรในประเทศเสียใหม่
  • ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนทางด้านการดูแลสุขภาพเบื้องต้นเป็นอันดับแรกๆ

เป็นเวลาห้าปีแล้วที่โลกได้นำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ปีพ.ศ. 2558 มาใช้ และให้คำมั่นว่าจะยุติความยากจนพร้อมให้การรับรองว่าประชาชนจะได้รับความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองทั่วทุกคนภายในปีพ.ศ. 2573  ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ได้นั้น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหัวใจสำคัญที่ให้บริการสุขภาพที่ประชาชนต้องการโดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานและต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง นี่คือเหตุผลที่ในปีนี้การประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC) พ.ศ. 2563 ได้เลือก "การเพิ่มความก้าวหน้าสู่ UHC" เป็นธีมประจำปี

ในช่วงแรกของการประชุมนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสาธารณสุขซึ่งจัดขึ้นในกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ผู้ร่วมอภิปรายที่มีส่วน เกี่ยวข้องได้หารือเกี่ยวกับวิธีการผลักดัน UHC ให้บรรลุตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี พ.ศ. 2573 รองนายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้กล่าวคำปราศรัยในประเด็นสำคัญว่ามันต้องใช้ “ทั้งหยาดเหงื่อ ความเหน็ดเหนื่อยและน้ำตา” ในการริเริ่มโครงการ UHC ในปีพ.ศ. 2545 ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่ได้เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง


"หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ป้องกันไม่ให้คนไทยกว่า 50,000-75,000 ครัวเรือนต้องเผชิญกับความยากจนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ลดช่องว่างอัตราการเสียชีวิตของทารกระหว่างจังหวัด เพิ่มอายุขัย ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับคืนมาประมาณ 20% และส่งเสริมการกระจายรายได้"
Image
อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เอเรียล ปาโบล-เม็นเดส ศาสตราจารย์ทางการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเมืองนิวยอร์ก ผู้ร่วมอภิปรายได้เห็นความสำคัญของการสร้างความเข้าใจคุณค่าทางเศรษฐกิจของ UHC แก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อไม่ให้พวกเขาคิดว่ามันจะทำลายเศรษฐกิจ “UHC ไม่ได้หมายถึงการใช้จ่ายเงินที่มากขึ้น แต่เป็นการจัดระเบียบการใช้ทรัพยากรในประเทศเสียใหม่ให้ห่างจากการต้องควักกระเป๋าจ่าย” ปาโบล-เม็นเดส กล่าว

Image
“สุขภาพก็เป็นเงินเช่นกัน” แดเนียล ดูลิทสกี ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคแห่งธนาคารโลกกล่าว

แดเนียล ดูลิทสกี ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคแห่งธนาคารโลกกล่าวว่า เราต้องทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่การเงินในประเทศต่าง ๆ “พูดภาษาเดียวกัน” ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่ธนาคารโลกจัดทำโครงการดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) เพื่อแสดงให้เห็นว่าการลงทุนด้านสุขภาพและการศึกษาของประเทศจะช่วยเพิ่มผลิตผลของกำลังแรงงานในอนาคต “เวลาเป็นเงินแต่สุขภาพก็เป็นเงินเช่นกัน” ดูลิทสกี กล่าว

การระดมทุนเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่อีกประการสำหรับ UHC  ด้วยช่องว่างทางการเงินสำหรับประเทศที่ยากจนที่สุด 54 ประเทศที่คาดว่าจะสูงถึง 175 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีพ.ศ. 2573  การเพิ่มเงินทุนภายในประเทศเพื่อสุขภาพนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเป็นเพียงแค่ "เศษเงิน" ในกรณีนี้ เขากล่าว

ประเทศต่างๆจะต้องระดมทรัพยากรทางเศรษฐกิจและจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณเพื่อให้แน่ใจว่าการให้บริการด้านสุขภาพของพวกเขาคุ้มค่าโดยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเบื้องต้นเป็นอันดับต้น ๆ  ดูลิทสกีกล่าว

นาโอโกะ ยามาโมโตะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกด้าน UHC / Healthier Populations กล่าวว่า UHC เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ“การเมืองเป็นอย่างมาก” และเป็นทางเลือกทางการเมืองที่ผู้นำทางการเมืองระดับสูงหลายคนมุ่งมั่นดำเนินการ อย่างไรก็ตาม UHC ก็เป็นเรื่องทาง “ระบบสังคม” ด้วยซึ่งประชากรต้องเข้ามามีส่วนร่วม “การเจรจาที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาระดับสถาบันมีความสำคัญมาก (สำหรับ UHC)” เธอกล่าว

Image
“จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง—จริงๆ” ขวท ธิ ไฮ โอนห์ ผู้อำนวยการบริหารสภาองค์กรบริการเอดส์แห่งเอเซียแปซิฟิกกล่าว

ขวท ธิ ไฮ โอนห์ ผู้อำนวยการบริหารสภาองค์กรบริการเอดส์แห่งเอเซียแปซิฟิกกล่าวว่าแม้ว่าการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติ (UN-HLM) ในเรื่อง UHC เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทางการเมืองในทางนโยบาย ประเทศต่างๆในปัจจุบันยังต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อทำตามคำขวัญ SDG ที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

“หากมีประเทศหนึ่งบอกว่า (UHC) ของเขาคุ้มครอง 80%  เราต้องถามว่าแล้วส่วนที่เหลืออีก 20% เล่าคือใคร  ใครที่ไม่ถูกนับรวมและหาทางรวมพวกเขาเข้าไป” โอนห์กล่าว

Image
“เราต้องรวมเยาวชนเข้าไปด้วย” เอวาลิน คาริโจ ผู้อำนวยการ Y-ACT เยาวชนนักเคลื่อนไหว Amref Health Africa กล่าว

กลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ถูกรวมเข้าไปมากนักคือกลุ่มเยาวชน เอวาลิน คาริโจ ผู้อำนวยการ Y-ACT Youth in Action, Amref Health Africa กล่าว “มีเยาวชน 1.2 พันล้านคนหรือคิดเป็น 16% ของประชากรโลกและ ในแอฟริกาคิดเป็น 70% ของประชากร” เธอกล่าว “แต่มันยังขาดการลงทุนและขาดทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับเยาวชน แม้ว่าพวกเขามีแนวโน้มที่ต้องเผชิญกับการว่างงานมากกว่าผู้ใหญ่ถึงสามเท่า”

นอกจากการลงทุนในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแล้ว ยังต้องมีการปรับแพคเกจประโยชน์ทางด้านสุขภาพให้เหมาะสมกับเยาวชนด้วย นอกจากนี้พวกเขาจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อพัฒนา UHC คาริโจกล่าว

แอนเดอร์ส นอร์ดสตรอม ทูตด้านสุขภาพระดับโลก กระทรวงการต่างประเทศสวีเดนกล่าวจากประสบการณ์ของประเทศสวีเดนว่า ประเทศต่างๆจะต้องทำมากกว่า UHC เพื่อลดช่องว่างด้านสุขภาพระหว่างคนในกลุ่มสังคมและเศรษฐกิจที่ต่างกัน “เราต้องแก้ปัญหาสังคมโดยรวมเพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนมีสุขภาพทีดี...ทำให้สังคมปลอดภัย ถนนปลอดภัย ปลอดจากความรุนแรง สะอาดและมีอากาศที่สะอาดขึ้น และได้รับการสนับสนุนให้มีทางเลือกเพื่อสุขภาพในเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ นั่นคือที่สวีเดนในขณะนี้” นอร์ดสตรอมกล่าว

ผู้ร่วมอภิปรายทุกคนเห็นพ้องกันว่าในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ จะต้องแปลงแถลงการณ์ทางการเมืองของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขององค์การสหประชาชาติ (UN-HLM) ให้เป็นแผนการดำเนินงานจริงเพื่อบรรลุเป้าหมาย UHC ภายในปีพ.ศ. 2573   รัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมือง ความมุ่งมั่น และความเป็นผู้นำในระดับสูงสุดในการระดมทรัพยากรภายในประเทศเพื่อมาผลักดันระบบบริการสุขภาพให้กลายเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ให้การดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและการป้องกันปัญหาทางการเงินจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ  สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องระลึกไว้คือ UHC ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์ด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงเรื่องการพัฒนาในวงกว้างด้วย เช่น การลดความยากจน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความไม่เท่าเทียมทางสังคม เป็นต้น



Api
Api