Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

การฟื้นฟูเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเพลี่ยงพล้ำ

วอชิงตัน 27 กันยายน 2564 — ธนาคารโลกแถลงเมื่อวันจันทร์นี้ว่า การฟื้นตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้นถูกบั่นทอนด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและครัวเรือนต่างๆ ต้องยืดเยื้อออกไป ซึ่งจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มลดระดับลงในไตรมาสที่สองของปีพ.ศ. 2564 และประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ถูกปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจลง ตามรายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ประจำเดือนตุลาคม 2564 ของธนาคารโลก ระบุว่า ขณะที่จีนคาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.5 แต่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 2.5 โดยลดลงเกือบ 2 จุดร้อยละจากที่คาดการณ์ในเดือนเมษายน 2564 อัตราการจ้างงานและการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานลดลง และจะมีประชากรจำนวนมากถึง 24 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากจนในปีพ.ศ. 2564

“การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับชะตาที่พลิกผัน” มานูเอลา เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว“แม้ว่าในปีพ.ศ. 2563 ภูมิภาคนี้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในขณะที่ภูมิภาคอื่นของโลกประสบปัญหา แต่ในปีพ.ศ. 2564 การแพร่ระบาดได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในปีนี้โอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตต้องลดลงไป อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ก็เคยผ่านพ้นวิกฤตและกลับมาแข็งแกร่งได้หลายต่อหลายครั้งแล้ว และก็จะสามารถทำได้อีกหากมีนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสม”

ความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดหลายระลอกอย่างต่อเนื่องของโควิด-19 จะส่งผลเสียต่อการเติบโตและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในระยะยาว รายงานระบุว่า การที่ธุรกิจต้องเลิกกิจการไปทั้งที่ควรจะอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปกติกำลังนำไปสู่การสูญเสียสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อันมีค่า ขณะที่ธุรกิจที่ยังอยู่รอดก็ชะลอการลงทุนที่จะก่อให้เกิดผลผลิต กิจการขนาดเล็กได้รับผลกระทบหนักสุด แม้ว่าจะเดือดร้อนกันเกือบถ้วนหน้า แต่กิจการใหญ่ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมียอดขายตกลงน้อยกว่า และมีแนวโน้มมากกว่าที่จะรับเทคโนโลยีขั้นสูงและเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ครัวเรือนต่างๆ ล้วนประสบความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่ยากจนมากกว่ามีแนวโน้มสูงกว่าที่จะสูญเสียรายได้ เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารมากกว่า มีลูกที่ไม่ได้เข้าเรียน และต้องเทขายทรัพย์สินที่ไม่ค่อยจะมีทิ้งไป การเพิ่มขึ้นของภาวะแคระแกร็นในเด็ก การเสื่อมถอยของทุนมนุษย์ และการสูญเสียสินทรัพย์ที่ก่อผลผลิตอันเป็นผลตามมา จะส่งผลเสียต่อการหารายได้ในอนาคตของภาคครัวเรือนเหล่านี้ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นระหว่างกิจการต่างๆ ก็จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานได้

“การเร่งฉีดวัคซีนและตรวจหาเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจะสามารถฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ที่ยังล้มลุกคลุกคลานให้กลับมาได้เร็วที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ. 2565 และเพิ่มอัตราการเติบโตเป็นสองเท่าในปีหน้า” อาดิตยา แมตทูหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว “แต่ในระยะยาว มีแต่การปฏิรูปที่ลงลึกอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะสามารถป้องกันการเติบโตที่ชะลอตัวและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งการเกิดขึ้นคู่กันของการเติบโตที่ชะลอตัวและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นนั้น ภูมิภาคนี้ไม่เคยประสบมาก่อนเลยในศตวรรษนี้”

รายงานประมาณการณ์ว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศได้มากกว่าร้อยละ 60 ภายในครึ่งแรกของปีพ.ศ. 2565 ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถขจัดการแพร่ระบาดให้หมดไปโดยสิ้นเชิงก็ตาม แต่ก็จะลดการเสียชีวิตลงไปได้อย่างมาก ทำให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ยังจำเป็นต้องพยายามดำเนินการในสี่ด้านอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อ ประกอบด้วย 1) การจัดการกับความลังเลในการรับวัคซีนและปัญหาการกระจายวัคซีนเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการฉีดวัคซีน 2) เพิ่มการตรวจ สืบย้อน และกักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด 3) เพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนในภูมิภาคเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า และ 4) สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีความช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนความพยายามภายในประเทศในทุกด้านที่กล่าวมา โดยเฉพาะในประเทศที่มีศักยภาพจำกัด

นอกจากการควบคุมการแพร่ระบาดแล้ว ยังจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมเพื่อกระตุ้นการเติบโตและทำให้การเติบโตกระจายอย่างทั่วถึง รายงานยังระบุว่าการเร่งกระจายเทคโนโลยีอาจเป็นทางออกสำหรับวิกฤตโดยการกระตุ้นผลิตภาพ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการศึกษา และเปลี่ยนแปลงหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเสริม เช่น การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีทักษะในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ จะต้องมีการเสริมด้วยนโยบายเปิดกว้างทางการค้าและการลงทุน และนโยบายการแข่งขันเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับธุรกิจต่างๆ ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาที่ล่าช้ามานาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพการสอนและความสอดคล้องของหลักสูตรจะทำให้มีการเข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่: 2021/021/EAP

รายชื่อผู้ติดต่อ

ในวอชิงตัน
Kym Smithies
+1(202) 458-0152
ksmithies@worldbank.org
ในกรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
02-686-8385, 08-1846-1246
kanitha@worldbank.org
Api
Api