ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตในระดับปานกลางแต่ยังคงแข็งแกร่ง

วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558


ภูมิภาคควรมีการปฏิรูปโครงสร้างและการจัดการเศรษฐกิจมหภาค

สิงคโปร์ 5 ตุลาคม 2558 – รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Update) พบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ โดย 2 ใน 5 ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาจากภูมิภาคนี้  โดยรวมแล้วเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะเติบโตระดับปานกลางที่ร้อยละ 6.5  ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 6.8 ในปีที่แล้ว

การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงแข็งแกร่ง หากแต่การที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตในระดับปานกลางจึงแนะนำให้ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างบนพื้นฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมในระยะยาว  การปฏิรูปดังกล่าวรวมถึงการปรับปรุงระเบียบด้านการเงิน แรงงาน และตลาดสินค้า รวมไปถึงมาตรการพัฒนาความโปร่งใสและการรับผิดรับชอบ  นโยบายเหล่านี้จะเพิ่มความมั่นใจให้แก่ นักลงทุนและตลาด อีกทั้งส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนอันจะช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน” นายแอ๊กเซล ฟานทรอตเซนบวร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกซึ่งเปิดตัววันนี้ ได้ศึกษาความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภูมิภาคนี้ โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้สูงเป็นไปอย่างช้าๆ การค้าโลกเติบโตช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั่วภูมิภาคยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ

แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้มีความหลากหลาย ประเทศจีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 7 ในปีนี้ และจะชะลอตัวลงอยู่ในระดับปานกลางหลังจากนี้  เนื่องจากเศรษฐกิจจีนกำลังปรับตัวไปสู่การเติบโตจากการบริโภคในประเทศและจากภาคบริการ ซึ่งมีผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง

เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.6 ในปี 2558 นี้ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับปีที่แล้ว ประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และมองโกเลียจะเติบโตช้าลงและมีรายได้เข้าประเทศน้อยลงอันเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกตกต่ำ ประเทศผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จะยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจคงที่ ทว่าแข็งแกร่ง เช่น ประเทศเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 6.2 ในปี 2558 และ ร้อยละ 6.3 ในปี 2559 ประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ประเทศกัมพูชาจะยังคงเติบโตที่ร้อยละ 6.9 ในปีนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสินค้าเกษตรตกต่ำ ในขณะที่ประเทศเมียนมาร์จะมีการเติบโตที่ ร้อยละ 6.5 ในปีนี้ จากเดิมที่ร้อยละ 8.5 ในปีที่ผ่านมา  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อเดือนกรกฎาคม ส่วนประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกยังคงมีการเติบโตในระดับปานกลางเช่นเดียวกัน

“การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกคาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากการปรับสมดุลย์ทางเศรษฐกิจของจีนและคาดว่าสหรัฐจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับปรกติ” นายชูเดียร์ เชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก “ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนด้านการเงินในระยะสั้น แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว”

รายงานนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ในระหว่างปี 2559-2560  เนื่องจากจีนได้ออกนโยบายป้องกันและเครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ  รวมถึงระดับหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างต่ำ ระเบียบการออมนอกระบบธนาคารที่เข้มงวด  และบทบาทของรัฐที่เป็นหลักในระบบการเงิน    หากว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะยังคงชะลอตัวต่อไปจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศที่มีการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับจีน

รายงานฉบับนี้ยังคาดการณ์ว่า สหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ถึงแม้จะมีการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและจะดำเนินการปรับขึ้นเป็นลำดับ  แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่ตลาดการเงินตอบสนองอย่างรุนแรงต่อมาตรการนี้ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่า ช่วงห่างพันธบัตรเพิ่มขึ้น เงินทุนไหลเข้าลดลง และสภาพคล่องลดลง

จากความเป็นไปได้ที่ปัจจัยภายนอกจะมีผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคดังที่กล่าวมาข้างต้น  รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึง 2 ประเด็นหลักสำหรับภูมิภาคนี้ คือ การจัดการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและการคลังที่อ่อนแอ  รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างในเชิงลึกโดยเน้นการกระตุ้นการลงทุนของเอกชน

รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Update) เป็นรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของภูมิภาคจัดทำโดยธนาคารโลกเผยแพร่ปีละ 2 ครั้งและสามารถติดตามได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://www.worldbank.org/eapupdate 

ติดตามได้ทางเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/worldbank
หรือทวิตเตอร์: https://www.twitter.com/worldbank

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน สิงคโปร์
Dini Djalal
โทร: +62-21-5299-3156
ddjalal@worldbank.org
ใน วอชิงตันดีซี
Jane Zhang
โทร: +1 (202) 473-1376
janezhang@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2016/86/EAP

Api
Api

Welcome