ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.5 ในปี 2558

วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558


การเพิ่มความสามารถในการส่งออกและคุณภาพการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญ

กรุงเทพมหานคร 3 มิถุนายน 2558 – จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย 2558 ที่เผยแพร่ในวันนี้ของธนาคารโลก เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.9 ในปี 2557 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซาจากสถานการณ์การเมืองที่วุ่นวายในช่วงครึ่งแรกของปี และการส่งออกที่ลดต่ำลงท่ามกลางอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศจีนและประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

อัตราการขยายตัวที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.5 อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง รายรับจากการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกคาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างช้าๆ

รายงานฉบับนี้ได้ย้อนกลับไปวิเคราะห์และพบว่าการขยายตัวของการส่งออกที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2555 นั้น มีผลมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง  ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของการส่งออกโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2549–2554 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 13 ก่อนที่จะชะลอตัวลงจนต่ำกว่าร้อยละ 1 ในช่วงปี 2555-2557 ซึ่งสอดคล้องกับการที่ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดส่งออกโลกมีแนวโน้มลดลงในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน

“ประเทศไทยเคยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงในอดีต การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไทยสามารถรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนไทยนายอูริช ซาเคา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวการส่งเสริมให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูง และเข้าถึงทักษะที่เข้มแข็งเหมาะสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ จะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน  การจัดโครงสร้างระบบเครือข่ายโรงเรียนเพื่อให้สามารถมีอาจารย์ที่ดีสำหรับทุกๆห้องเรียนในประเทศไทยจะช่วยสร้างความแตกต่างได้อย่างมากสำหรับเด็กไทยและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่นอกกรุงเทพมหานคร


Image

นักเรียนในชัันเรียนจังหวัดแม่ห้องสอน คลิ้กที่ภาพเพื่อชมสไลด์โชว์

ภาพถ่ายโดย เศกสรรค์ พิพัฒนติกานันท์ / ธนาคารโลก

"รายงาน Thailand Economic Monitor ฉบับนี้ได้เน้นความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเห็นได้ว่าประเทศที่ให้ความสำคัญในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ได้ก้าวข้ามประเทศพัฒนาระดับปานกลาง (Middle Income Country) ไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างรวดเร็ว  ผมจึงใคร่ขอให้ทุกท่านได้อ่านรายงานฉบับนี้ และช่วยกันกระตุ้นให้มีการพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง" นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

รายงานของธนาคารโลกได้ให้ข้อสังเกตว่า การเพิ่มทักษะและผลิตภาพของกำลังแรงงาน เป็นศูนย์กลางที่จะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สูงขึ้น และชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญในระดับต้นๆ  ประเทศไทยก้าวหน้าไปมากในการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเพิ่มการเข้าชั้นเรียนทั้งโรงเรียนในเมืองและในชนบท ทุกวันนี้ เด็กไทยแทบทุกคนเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษา  และกว่าร้อยละ 70 ของครอบครัวยากจนสามารถที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเปลี่ยนไปมากจากเมื่อ 25 ปีที่แล้วที่มีเพียงร้อยละ 10 ของครอบครัวยากจนเท่านั้นที่สามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมากที่สามารถจะทำให้คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยดีขึ้น และให้เด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงานที่มีทักษะของไทย ตัวอย่างเช่น การจัดโครงสร้างระบบเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มีครูที่ดี  และช่วยให้ห้องเรียนทุกห้องมีการสอนที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนทุกๆคนมีการศึกษาที่ดีขึ้น  และลดความแตกต่างของผลการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท


สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพฯ
Paul Risley
โทร: +66-2-686-8324
prisley@worldbank.org
ใน วอชิงตัน ดีซี
Diana Chung
โทร: +202-473-8357
dchung1@worldbank.org




Api
Api

Welcome