ข่าวประชาสัมพันธ์

การลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการภาครัฐในระดับภูมิภาค

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555




กรุงเทพฯ 10 พฤษภาคม 2555 – ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยได้ส่งผลให้ความยากจนลดลงไปอย่างมาก แต่การเติบโตดังกล่าวและการบริการภาครัฐกลับกระจุกตัวอยู่แต่ในภาคกลางและกรุงเทพฯ เป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญลำดับต่อไปสำหรับประเทศไทยคือการจัดให้มีการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้นทั่วทั้งประเทศ รายงานการบริหารการเงินการคลังสาธารณะของประเทศไทย: การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะของไทยที่มีการเปิดตัวเผยแพร่ในวันนี้ระบุ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปฏิรูปในเรื่องการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างและรายรับของท้องถิ่น ในขณะที่มีดำเนินการปฏิรูปดังกล่าว รัฐบาลก็ยังสามารถรักษาเสถียรภาพการเงินการคลังระดับมหภาคไว้ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบประมาณรัฐและการจัดหาบริการสาธารณะแก่ประชาชนยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคต่างๆ อยู่มาก ดังนั้นจึงเห็นว่านโยบายการคลังและกรอบการคลังระหว่างรัฐบาลและท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการจัดให้มีการเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียมมากขึ้นทั่วทั้งประเทศ ซึ่งหมายความว่าต่อไปควรจะต้องมุ่งให้ความสนใจไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณและประสิทธิผลของการใช้จ่ายงบประมาณให้มากขึ้น

รายงานการบริหารการเงินการคลังสาธารณะของประเทศไทย: การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะของไทย ฉายภาพให้เห็นโดยละเอียดถึงแบบแผนการใช้จ่ายงบประมาณในระดับภูมิภาค ระบุปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดให้มีบริการสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม และนำเสนอทางเลือกต่างๆ เพื่อการปรับปรุงการให้บริการในระดับท้องถิ่น โดยผ่านให้การให้บริการของรัฐมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบได้มากขึ้นตลอดทั่วประเทศ

อุปสรรคต่อการให้บริการอย่างเท่าเทียมประการหนึ่งที่ระบุในรายงานคือ การกระจุกตัวของงบประมาณในพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรฐกิจสูง ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการสาธารณะในภูมิภาคต่างๆ และส่งผลให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน

“การจัดการการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคในการให้บริการสาธารณะได้ ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และลดความไม่เท่าเทียมกัน นโยบายด้านงบประมาณของประเทศไทยสามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีบริการสาธารณะไม่เพียงพอได้ เพื่อยกระดับให้มีมาตรฐานที่ดีหรือใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ” นายชาห์บีห์ อาลี โมฮิบ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกและหัวหน้าคณะผู้จ้ดทำรายงานกล่าว

อีกประเด็นหนึ่งที่กล่าวถึงในรายงานคือ โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและท้องถิ่นสามารถได้รับการพัฒนาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและให้บริการแก่ประชาชนอย่างสามารถถูกตรวจสอบได้มากขึ้นได้

การกระจายอำนาจแบบบูรณาการและการรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กต่างๆ ให้เป็นหน่วยงานที่ใหญ่ขึ้นและมีศักยภาพทางการเงินมากขึ้นจะทำให้โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้นเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นจะมีแรงจูงใจที่จะให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพได้ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบการถ่ายโอนและจัดสรรงบประมาณระหว่างรัฐบาลและท้องถิ่น (Intergovernmental fiscal transfer system) 

ระบบการติดตามและประเมินผลที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถที่จะมีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการติดตามผลจากส่วนกลางหรือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมร่วมและการตรวจสอบในระดับท้องถิ่นได้

“การจัดให้มีการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพได้ทั่วทั้งประเทศนั้นคือเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ขณะที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง รายงานการบริหารการเงินการคลังสาธารณะของประเทศไทย: การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะของไทย มุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดการถกเถียงในประเด็นที่ว่าประเทศไทยจะรับมือกับเป้าหมายที่ท้าทายต่อไปนี้อย่างไร”  นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “เราคาดหวังที่จะได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการดำเนินนโยบายปฏิรูปต่อไปจากรัฐบาลไทย ผู้เชี่ยวชาญนโยบายสาธารณะตลอดจนผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาประเทศต่างๆ”

รายงานการบริหารการเงินการคลังสาธารณะของประเทศไทย: การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะของไทย จัดทำโดยธนาคารโลกไดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลไทย  เป็นผลงานการศึกษาที่ใช้เวลากว่าสองปีในการศึกษาวิเคราะห์การบริหารจัดการงบประมาณรัฐของประเทศไทยว่าส่งผลอย่างไรต่อการให้บริการของรัฐในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น  เจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นและนักวิชาการในกรุงเทพฯ นนทบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี  สุราษฎร์ธานี ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ตลอดจนจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศมีส่วนร่วมในผลงานการศึกษาชิ้นนี้

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพฯ
โซเฟีย บุช
โทร: +66 2 686-8324
sbusch@worldbank.org
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: +66 2 686-8326
bsangarun@worldbank.org



Api
Api

Welcome