ข่าวประชาสัมพันธ์

เศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาต้องช่วยผู้ร่างนโยบายให้มากกว่านี้

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553



วอชิงตัน 29 กันยายน 2010 – วันนี้ ประธานกลุ่มธนาคารโลก นายโรเบิร์ต บี เซลลิค ได้กล่าวเรียกร้องให้มีการปรับปรุงการวิจัยเศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งประกาศปรับทิศทางการทำงานวิจัยของธนาคารโลกเอง ผ่านแนวคิด “ข้อมูลที่เปิดเผย องค์ความรู้ที่เปิดกว้าง แนวทางการแก้ไขที่เปิดให้ร่วมกันใช้” (Open Data, Open Knowledge, Open Solutions) เพื่อให้โลกเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากประสบการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

ในสุนทรพจน์ของเซลลิคที่กล่าวก่อนการประชุมประจำปีของธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประธานกลุ่มธนาคารโลกเผยว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลกนั้นยิ่งทำให้การปรับเปลี่ยนแนวทางของการวิจัยเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่พูดถึงนี้เป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้น องค์ความรู้ในการพัฒนาควรมีฐานรองรับหลายด้าน (multi-polar) เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา ในฐานะเสาหลักใหม่ของประสบการณ์และการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลก อันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

“ขณะนี้ มีโอกาสใหม่และความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะรังสรรค์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา ซอฟท์แวร์ทำให้เรามีเครื่องมือใหม่ในการทำงาน อินเตอร์เน็ตทำให้เรามีวิธีใหม่ในการสื่อสาร เศรษฐกิจที่กำลังเติบโตทำให้เราพบเห็นประสบการณ์ใหม่ๆ” เซลลิคกล่าวกับผู้ที่เข้าฟังสุนทรพจน์ของเขาที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ “ดังนั้น เราจึงต้องฟังเสียงและเปลี่ยนแปลงเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม”

“ก่อนที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นก็ได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ที่เราใช้กันอยู่แล้ว ตลอดจนมีความรู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนานั้นจำเป็นต้องมีการปรับปรุง” เซลลิคกล่าว “วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น”

ประธานกลุ่มธนาคารโลกย้ำว่า ในฐานะแหล่งข้อมูลความรู้เรื่องการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่ง ธนาคารโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวเอง หากยังต้องการรักษาฐานะการเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาของตน

“เศรษฐกิจแบบใหม่ที่มีฐานรองรับหลายฐานย่อมต้องการความรู้จากหลายแหล่ง” นายเซลลิคกล่าว “เราจำเป็นต้องทำให้เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาแพร่หลายในวงกว้างขึ้นและทำให้มันลึกลับน้อยลง พร้อมตระหนักด้วยว่าเราไม่สามารถผูกขาดคำตอบว่านโยบายอะไรเหมาะสมที่สุดต่อใครหรือสถานการณ์ไหนได้อีกต่อไป เราจำเป็นต้องเปิดประตูบานนี้ออกให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยสำนึกว่าผู้อื่นก็สามารถหาคำตอบและแนวทางแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองเช่นกัน การปฏิวัติงานวิจัยแบบเปิดกว้างและเปิดเผยนี้กำลังเกิดขึ้นแล้ว เราต้องตระหนักว่าความรู้เรื่องการพัฒนาไม่ใช่สมบัติที่นักวิจัย นักวิชาการ หรือใครก็ตามในหอคอยงาช้างจะเก็บไว้เชยชมแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป”

ธนาคารโลกจะเพิ่มรูปแบบงานวิจัยซึ่งจะทำเป็นเครือข่ายโดย “คนหมู่มาก” (wholesale model) เพื่อเสริมรูปแบบการทำงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ของตนที่เน้น “การวิจัยเฉพาะหัวข้อโดยคนเฉพาะกลุ่ม” (elite retail model) ซึ่งเป็นรูปแบบที่นักเศรษฐศาสตร์มักทำงานวิจัยเฉพาะหัวข้อก่อนจะนำไปเขียนเป็นรายงาน งานวิจัยรูปแบบใหม่นี้จำเป็นต้องมีการให้บุคคลภายนอกใช้ซอฟท์แวร์ ตลอดจนให้เขาเหล่านั้นเข้าถึงคลังข้อมูลของธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ตให้มากขึ้น เพื่อจะได้ทำวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลเอง ซึ่งจะส่งผลให้มีการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาในท้ายที่สุด

การประกวดความคิดสร้างสรรค์ภายใต้หัวข้อ “แอพส์เพื่อการแข่งขันในการพัฒนา” ที่ธนาคารโลกกำลังทำอยู่นี้ จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นหรือโปรแกรมประยุกต์ตลอดจนเครื่องมือใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมสูง ซึ่งแนวคิดใหม่นี้จะทำให้ธนาคารโลกสามารถเข้าถึงประสบการณ์มหาศาลในประเทศที่กำลังพัฒนา

“นี่คือทิศทางที่ผมต้องการให้ธนาคารโลกก้าวเดิน นี่คือการทำให้เศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาเข้าถึงคนหมู่มากได้มากขึ้น” นายเซลลิคกล่าว “นี่จะทำให้การทำวิจัยเพื่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถหวนคืนไปยังรูปแบบเดิม ๆ ได้อีก”

และเพื่อเชื่อมโยงผลจากการวิจัยเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนากับนโยบายสำคัญ ๆ ด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากขึ้น สาขาวิชานี้จำเป็นจะต้องมีความสามารถในการตอบคำถามเร่งด่วนที่ผู้นำในประเทศกำลังพัฒนากำลังค้นหาคำตอบอยู่ รวมทั้งตระหนักด้วยว่าวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของการพัฒนาอาจจะต้องแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ

“บ่อยครั้งที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานวิจัยไม่ค่อยยอมเริ่มงานของตนตรงจุดที่เห็นได้ชัดว่ามีช่องว่างในด้านความรู้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้กำหนดนโยบายมักจะเผชิญ แต่กลับไปเริ่มต้นด้วยการพยายามตอบคำถามที่ตัวเองสามารถตอบได้ด้วยการใช้เครื่องมือที่เป็นที่คนในอุตสาหกรรมนี้มักจะชอบใช้” นายเซลลิคกล่าว

“ประวัติศาสตร์ของการพัฒนาแสดงให้เห็นแล้วว่า คำตอบเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา นโยบายที่เหมาะสมสำหรับแก้ปัญหาของแต่ละประเทศก็อาจจะแตกต่างกันไปตามสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ด้านการพัฒนาในแต่ละช่วง ตัวอย่างเช่น ข้อถกเถียงที่ว่าประเทศควรจะพึ่งพาการส่งออกให้กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตหรือพึ่งพาความต้องการในประเทศดี อีกทั้งการใช้นวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ มาช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งก็ย่อมจะขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจในภาคเอกชนของประเทศนั้น ๆ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าได้มากแค่ไหน นโยบายที่ถูกต้องในปัจจุบันอาจแตกต่างจากนโยบายที่ถูกต้องในช่วงทศวรรษที่ 1970 เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากอินเตอร์เน็ตรวมทั้งความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของห่วงโซ่อุปทานในธุรกรรมระหว่างประเทศ”

ในการเรียกร้องให้โลกตั้งคำถามเกี่ยวกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เซลลิคได้กล่าวถึงช่องว่าง 4 ช่องใหญ่ๆ ในความรู้ว่าด้วยการเอาชนะความยากจนให้ได้โดยมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน และยังประโยชน์ให้แก่ประชากรทุกหมู่เหล่า ประธานกลุ่มธนาคารโลกเรียกร้องให้นักวิจัยทั้งในและนอกสถาบันร่วมกันถกเถียงถึงช่องว่างเหล่านี้และช่องว่างอื่นๆ ที่เห็น ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงอย่างครอบคลุมในรายงานที่ชื่อ “วิจัยเพื่อการพัฒนา: มุมมองของธนาคารโลกเกี่ยวกับทิศทางการทำงานวิจัยในอนาคต”

ประการแรก เราจำเป็นต้องเข้าใจให้ดีกว่านี้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการว่าด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Commission on Growth and Development) ที่มีไมเคิล สเปนซ์ เป็นประธาน ได้ระบุชื่อประเทศทั้ง 13 ประเทศในโลกซึ่งสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงได้ติดต่อกันนานกว่า 25 ปี คำถามคือทำไมจึงมีเพียง 13 ประเทศเท่านั้น ประการที่สอง ควรมีการศึกษามากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจให้ดีกว่าเดิมว่า ทำอย่างไรภาครัฐจึงจะสามารถขยายการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงโอกาสในภาคเอกชนด้วย ให้กว้างขวางกว่าเดิม ประการที่สาม โลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากกว่าที่เราคาดหลายเท่านัก ดังนั้น เราจึงควรหันมาใส่ใจให้มากขึ้นว่าโลกจะรับมือกับความเสี่ยงที่มีตั้งแต่หายนะทางธรรมชาติ ไปจนถึงโรคระบาด สงครามและความขัดแย้งกลางเมือง การขึ้นราคาน้ำมันและอาหาร และวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคและในโลกที่ส่งผลกระทบต่อผู้อ่อนแอในโลกได้อย่างไร ประการสุดท้าย เราจำเป็นต้องทราบว่าแนวทางอะไรที่ได้ผล และเราจำเป็นต้องมีแนวทางการวิจัยที่เน้นผลสัมฤทธิ์ให้มากขึ้น ขณะนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องหาหลักฐานให้มากขึ้นเพื่อประเมินประสิทธิภาพของความพยายามในการพัฒนารวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย

“ลูกค้าของธนาคารโลกต้องการการเปลี่ยนแปลง ผู้ถือหุ้นของเราเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง หากไร้การเปลี่ยนแปลง เศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่นำมาใช้ปฏิบัติจริง ก็คงเหี่ยวเฉาตายคาหิ้งไปในที่สุด” นายเซลลิคกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
EAP

Api
Api

Welcome