ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจไทยยังพึ่งแรงผลักดันจากภายนอก พยากรณ์จีดีพีปี '53 โตร้อยละ 6.1

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553




กรุงเทพฯ 24 มิถุนายน 2553 – รายงาน “ตามติดเศรษฐกิจไทย” ของธนาคารโลก ฉบับเดือนมิถุนายน 2553 ระบุว่า ภาคส่งออกยังเปรียบเสมือนเครื่องยนต์เครื่องเดียวที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการค้าปลีกได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ธนาคารโลกแนะนำให้ไทยหาวิธีส่งเสริมการเจริญเติบโตของการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) รวมทั้งกระตุ้นความต้องการในประเทศ ซึ่งจะทำให้แหล่งที่มาของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสมดุลย์มากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ปรับการคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปี 2553 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 จากที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเป็นร้อยละ 6.2 สาเหตุที่มีการปรับลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็มาจากการที่ภาคส่งออกของไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี อีกทั้งเป็นการขยายตัวที่สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดไว้ ทำให้สามารถเพิกถอนผลกระทบบางส่วนจากสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ก็อาจจะไม่สดใสเท่าที่ควร เนื่องจากสถานการณ์ในยุโรปและประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนั้น ความต้องการในประเทศเองก็ยังไม่น่าจะฟื้นตัวมากนัก ธนาคารโลกจึงคาดว่าจีดีพีของไทยในปีหน้าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.6

“ข่าวดีก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงสองไตรมาสแรกของปีนั้นเป็นไปยังรวดเร็วมากแม้จะมีสถานการณ์ด้านการเมืองเข้ามากระทบ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเศรษฐกิจไทยยังพึ่งแรงผลักดันจากภายนอกอยู่เยอะ” นายเฟรดเดอริโก้ จิล ซานเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกในประเทศไทยกล่าว “ข่าวร้ายก็คือ ในขณะที่โลกเองก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง การพึ่งแรงผลักดันจากภายนอกนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยยังอ่อนไหวต่อสถานการณ์โลกอยู่มาก”

แม้การท่องเที่ยวและการค้าปลีกของไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยเหตุที่การท่องเที่ยวมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 8 ของจีดีพี ในขณะที่ภาคการผลิตมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 39 จึงทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้รับการชดเชยโดยการส่งออกที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกระบุว่า ผลกระทบทางสังคมอาจมีมากกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการท่องเที่ยวและการค้าปลีกนั้นต้องอาศัยความมั่นใจทั้งของนักท่องเที่ยวและของผู้บริโภคเป็นหลัก นอกจากนี้ ภาวะแห้งแล้งที่ส่งผลกระทบไปทั่วไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกและราคาข้าวที่ตกต่ำลง ก็อาจทำให้ผู้ที่ต้องอาศัยรายได้จากอุตสาหกรรมการเกษตรต้องเดือดร้อนอย่างหนัก เมื่อคำนึงว่าจำนวนแรงงานในภาคท่องเที่ยว ภาคค้าปลีก และภาคเกษตรนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 61 ของแรงงานทั้งหมด ภาวะดังกล่าวนี้จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ

จำเป็นต้องรักษาสถานะเศรษฐกิจมหภาคที่สมดุลย์ และสร้างเครื่องยนต์เครื่องที่สอง

ประเทศไทยนั้นนับว่าโชคดีกว่าประเทศอื่นอยู่มากตรงที่ฐานะการคลังของไทย ระดับหนี้ในภาครัฐ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งสถานะทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคการเงินของไทยก็จัดว่าเข้มแข็ง ทำให้ไทยมีความยืดหยุ่นกว่าหลายประเทศในการนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ มาใช้ ในอนาคตข้างหน้า รัฐบาลควรหาวิธีลดภาวะงบประมาณขาดดุลลง เพื่อให้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทยที่มีอยู่นั้นดำเนินต่อไป

นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งพัฒนาเครื่องยนต์เครื่องที่สองเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกในอนาคต รวมทั้งเพื่อช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้เต็มศักยภาพที่มี

แม้การฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมืองจะช่วยให้ไทยสามารถกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงุทนและผู้บริโภคให้กลับมาได้ในระดับหนึ่ง แต่ธนาคารโลกให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพียงประการเดียวจะไม่อาจช่วยให้ไทยสามารถเติบโตได้ในระยะยาว

เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นในการตอบรับกับความท้าทายที่จะเข้ามาในอนาคต ธนาคารโลกแนะนำให้ไทยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มหรือ higher value added ทั้งนี้ธนาคารโลกระบุว่า ภาคบริการของไทยนั้นมีพัฒนาการที่ค่อนข้างย้อนกลับเมื่อเทียบกับภาคการผลิต โดยในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานั้น สัดส่วนของภาคบริการต่อจีดีพีนับว่าลดลงเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ภาคนี้มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้มากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน หากไทยพัฒนาความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มของตนให้มากขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศแข่งขันได้ดีขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงและกลายเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ การผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มนี้เป็นงานที่มีรายได้สูงกว่าการผลิตแบบใช้แรงงานเป็นหลัก การที่รัฐสามารถสร้างงานประเภทนี้ได้มากขึ้นก็จะช่วยกระตุ้นความต้องการในประเทศในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนั้นได้ก็ต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะและมีการศึกษาสูงเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารโลกจึงแนะนำให้ไทยขยายโอกาสในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพทั้งในระดับมัธยมและอุดมศึกษาให้เท่าเทียมกันมากขึ้น เนื่องจากสถิติที่มีอยู่นั้นยังชี้ว่า โอกาสของประชาชนที่จะได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นยังขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของครัวเรือนค่อนข้างมาก

เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ขัดข้องที่จะจ่ายค่าแรงให้แก่พนักงานที่มีการศึกษาสูงในอัตราที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ความไม่เสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษานี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในประเทศไทยยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ ปัจจัยดังกล่าวยังทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะอีกด้วย ธนาคารโลกกล่าว

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org



Api
Api

Welcome