ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกเผยละตินอเมริกาก้าวหน้าในเรื่องสร้างโอกาสเพื่อพัฒนามนุษย์แม้ยังตามหลังประเทศร่ำรวย

วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553



  • ข้อมูลจากดัชนีโอกาสของมนุษย์พ.ศ. 2553 (2010 Human Opportunity Index) สำหรับลาตินอเมริกาชี้ว่า  ภูมิภาคมีความก้าวหน้าด้านการให้โอกาสเพื่อการพัฒนามนุษย์ แต่ยังคงตามหลังประเทศร่ำรวย ประเทศชิลี อุรุกวัย เม็กซิโก คอสตาริก้า และเวเนซูเอลา ติดอันดับสูงสุดด้วยคะแนนเฉลี่ย 85 จากคะแนนเต็ม 100

  • ภูมิหลังของแต่ละบุคคลยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดโอกาสการเข้าถึงบริการพื้นฐานของเด็กในภูมิภาคนี้

กรุงมาดริด 13 พฤษภาคม 2553 – ในโลกอุดมคตินั้น เพศสภาพ สีผิว บ้านเกิดและรายได้ครัวเรือนจะเป็นเพียงสภาพแวดล้อมที่ไม่มีอิทธิพลต่ออนาคตของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง   แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว   ปัจจัยเหล่านี้เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่และกลายเป็นเงื่อนไขซึ่งกำหนดเส้นทางชีวิตของประชาชาชนชาวละตินอเมริกา อย่างไม่เป็นธรรม   อีกทั้งมีความสำคัญอย่างมากต่อโอกาสที่พวกเขาจะเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ  เช่น การศึกษา  บริการสาธารณสุข  หรือไฟฟ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขามีโอกาสที่ดีในอนาคต

ข้อมูลจากดัชนีโอกาสของมนุษย์ พ.ศ. 2553 (Human Opportunity Index 2010) ชี้ให้เห็นว่า ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
มีความพยายามที่จะผลักดันละตินอเมริกาให้เดินหน้าไปสู่ความเป็นโลกแห่งอุดมคติดังกล่าว   แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร   ดัชนีโอกาสของมนุษย์ที่กล่าวถึงเบื้องต้นนั้นเป็นดัชนีที่วัดความสามารถของภาครัฐในการทำให้ประชากรของตนสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านสังคมต่าง ๆ ได้อย่างถ้วนทั่ว    เพราะการที่รัฐสามารถทำเช่นนั้นได้จะเป็นหลักประกันที่ดีต่อประชากรแต่ละคน อันจะช่วยให้เขาเหล่านั้นสามารถเป็นกำลังสำคัญที่ดีของชาติได้ในอนาคต

รายงานเรื่อง ”เด็กได้รับโอกาสอะไรบ้าง? รายงานเรื่องโอกาสของมนุษย์ในละตินอเมริกากับคาริบเบียน 2553” (“What opportunities do our children have? Report on human opportunity in Latin America and the Caribbean 2010”)  ซึ่งธนาคารโลกได้นำเสนอแก่ชาวยุโรปเป็นครั้งแรกในวันนี้ได้ให้ “ความหวังบางประการ” เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการพัฒนามนุษย์ในละตินอเมริกา ขณะเดียวกันรายงานฉบับนี้ก็สรุปว่า “ประเทศในละตินอเมริกากับคาริบเบียนมีความก้าวหน้าในการเปิดประตูสู่การพัฒนาให้กับประชาชนทุกคน แต่หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล

นอกจากนี้การศึกษาชิ้นนี้ยังเตือนด้วยว่า  แม้หลายประเทศในละตินอเมริกาจะก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องนี้   แต่ยังมีช่องว่างทางด้านโอกาสอยู่มากหากจะเปรียบเทียบสถานการณ์ด้านการพัฒนามนุษย์ในละตินอเมริกากับประเทศร่ำรวยในภูมิภาคอื่นๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปกับอเมริกาเหนือ  

เมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองกับประเทศร่ำรวย เป็นที่ชัดเจนว่าแม้ประเทศในละตินอเมริกาให้โอกาสมากขึ้น แต่โดยรวมแล้วยังคงตามหลังประเทศที่ทำได้แย่ที่สุดในหมู่ประเทศที่ร่ำรวยนายมาเซลโล กุยกาเล ผู้อำนวยการนโยบายเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาความยากจนแห่งธนาคารโลก กล่าวระหว่างการนำเสนอรายงานฉบับนี้ในพิธีที่จัดขึ้น ณ กรุงมาดริด  ซึ่งมีบุคคลสำคัญจากภูมิภาคเข้าร่วมการประชุมหลายต่อหลายท่านอาทิ  นางมิเชล บาชเลท อดีตประธานาธิบดีของชิลี  และนางมาเรีย เฮซุส เฟอร์นันเดซ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินระหว่างประเทศแห่งกระทรวงเศรษฐกิจสเปน 

การศึกษานี้ (ซึ่งได้ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2) เผยว่า ดัชนีโอกาสของมนุษย์ในภูมิภาคในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นในสัดส่วนร้อยละหนึ่งจุดต่อปีเท่านั้น  ซึ่งหมายความว่าเป้าหมายการเข้าถึงบริการพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วทั้งภูมิภาคจะล่าช้าออกไป 24 ปี หรือเทียบเท่ากับหนึ่งชั่วอายุคน  อันเป็นระยะเวลาที่คณะผู้จัดทำดัชนีนี้ระบุว่านานเกิดกว่าที่จะยอมรับได้ นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า พื้นฐานส่วนตัวของแต่ละคน เช่น สถานที่เกิดและระดับการศึกษาของพ่อแม่เด็กยังคงมีอิทธิพลมากต่อการที่เด็กๆ ในภูมิภาคนี้จะเข้าถึงบริการทางสังคมหลักๆ หรือไม่

อย่างไรก็ตามรายงานนี้แสดงความหวังในระดับหนึ่งด้วยข้อสังเกตที่ว่า ดัชนีโอกาสของมนุษย์ของทุกประเทศใน
ละตินอเมริกากับคาริบเบียนกระเตื้องขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยที่ชิลี อุรุกวัย เม็กซิโก คอสตาริก้ากับเวเนซูเอลานำลิ่วที่คะแนนเฉลี่ยนสูงกว่า 85 จากคะแนนเต็ม 100 โดยเม็กซิโกนั้นมีความก้าวหน้ามากที่สุด ในขณะที่ชิลีได้คะแนนสูงสุดด้วย 95 คะแนนและฮอนดูรัสได้คะแนนรั้งท้าย 51 คะแนน

ความเปลี่ยนแปลงในบราซิลกับเม็กซิโกเป็นไปแบบก้าวกระโดด

การศึกษาชิ้นนี้พบว่า มีบางประเทศในภูมิภาคที่สามารถขยายบริการทางสังคมบางประเภทให้ครอบคลุมประชากรได้มากขึ้น  แต่ล้มเหลวในการขยายบริการประเภทอื่นๆ เช่น จาไมก้า ซึ่งได้คะแนนสูงสุดในดัชนีด้านการศึกษา แต่กลับได้คะแนนเพียงเท่าเกณฑ์เฉลี่ยในเรื่องที่อยู่อาศัย   รายงานฉบับนี้ยังประเมินด้วยว่า บราซิลกับเม็กซิโกจะสามารถทำให้ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด ไฟฟ้าและระบบสุขาภิบาลได้ภายในหนึ่งทศวรรษข้างหน้า

ดัชนีโอกาสของมนุษย์เป็นดัชนีที่วัดความสามารถของภาครัฐในการให้บริการพื้นฐานทางสังคมแก่ประชาชนและความสามารถในการกระจายบริการได้อย่างทั่วถึง ในระดับคะแนนตั้งแต่ศูนย์ถึง 100 คะแนน โดยที่ 100 คะแนนนั้นแปลว่าประเทศนั้นได้บรรลุเป้าหมายที่ประชากรทุกคนเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน

เพื่อกำหนดกรอบสำหรับการจัดอันดับตามดัชนีโอกาสของมนุษย์ การศึกษาในครั้งได้ตรวจสอบจากสถิติเกี่ยวกับน้ำดื่ม ไฟฟ้าและสุขอนามัย รวมไปถึงอัตราการเข้าเรียนและการจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ระดับประถมศึกษา) โดยทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการที่คนจะบรรลุศักยภาพชีวิตอย่างเต็มที่ ข้อมูลที่เลือกมานี้เป็นตัวแทนที่แสดงสถานภาพของเด็กกว่า 200 ล้านคนใน 19 ประเทศในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

รายงานฉบับนี้ชี้ว่าละตินอเมริกายังจัดว่าล้าหลังกว่าประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในบางด้าน เช่น ในด้านคุณภาพการศึกษา รายงานระบุว่าประเทศในละตินอเมริกาอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ  ส่วนในด้านโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ไม่แออัดจนเกินไปนั้น มีเพียงสามประเทศในภูมิภาคเท่านั้นที่ได้อันดับสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของยุโรป คือ คอสตาริก้า ชิลี และบราซิล ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เหลือได้คะแนนตามหลังห้าคะแนนและมากกว่านั้น

รายงานฉบับนี้ใช้ผลของการทดสอบนักเรียนตามมาตรฐานสากล (Program for International Student Assessment) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พร้อมทั้งข้อมูลด้านประชากรศาสตร์เพื่อสร้างฐานของดัชนีด้านโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กวัยสิบห้าปีทั่วโลก ดังนั้น ดัชนีจึงสามารถวัดน้ำหนักของภูมิหลังทางครอบครัวของเด็กแต่ละคนที่มีผลต่อทักษะการเรียนรู้ของเด็กในวิชาสำคัญเช่นคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ได้

 “ช่องว่างนี้เกิดขึ้นไม่แต่เพียงเพราะว่าประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถให้บริการทางการศึกษาได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะสาเหตุที่การกระจายโอกาสการศึกษาในประเทศละตินอเมริกากับคาริบเบียนนั้นเป็นไปอย่างไม่เสมอภาคด้วย”  รายงานฉบับนี้กล่าว “ในบริบทของละตินอเมริกานั้น  ยิ่งครอบครัวมีฐานะร่ำรวยเท่าใด นักเรียนจะได้คะแนนทดสอบดีขึ้นเท่านั้น

รัฐบาลยังสามารถช่วยสร้างโอกาสได้มากขึ้น

นายมาเซลโล กุยเกลกล่าวว่า โชคดีที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ยังคงมีโอกาสอีกมากในการปรับปรุงดัชนีโอกาสด้านต่างๆ ให้กับประชาชนของตน พร้อมกับเร่งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานได้ทั่วหน้า
นายกุยเกลกล่าวต่อไปอีกว่า “การพัฒนาดัชนีนี้ให้เป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐในการวัดความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์  ถือเป็นการย่างเข้าสู่ยุคใหม่ ในแง่ที่นโยบายรัฐสามารถที่จะให้โอกาสแก่ทุกคนในแต่ละช่วงของชีวิต

ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่แรกเกิด รัฐสามารถให้บริการเพื่อดูแลทารก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลให้ทารกมีโภชนาการและสุขภาพที่ดี  ตลอดจนบริการอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และให้การดูแลเด็ก ๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงยามที่พวกเขาได้ก้าวสู่วัยรุ่นและต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ที่มักจะมากับวัยนี้   เมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่  รัฐก็ยังสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ด้วยการสนับสนุนให้เขามีโอกาสเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์   ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของการสร้างความน่าเชื่อถือทางการเงินให้แก่ตนเอง (อันจะช่วยให้พวกเขามีช่องทางในการประกอบอาชีพที่หลากหลายยิ่งขึ้นกว่าการเป็นลูกจ้างผู้อื่นแต่เพียงอย่างเดียว)

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ และเป็นแนวทางที่ดีกว่าในการดำเนินนโยบายทางสังคม โดยไม่เน้นในเรื่องที่จะทำให้ทุกคนเท่าเทียม  แต่ให้ความสำคัญกับการให้โอกาสอย่างเดียวกันแก่ประชากรทุกคนอย่างทั่วถึง” เขากล่าว
อดีตประธานาธิบดีบาชเลทก็ตระหนักเช่นกันถึงความสำคัญของดัชนีโอกาสของมนุษย์ต่อการพัฒนาในภูมิภาค

ดัชนีนี้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้นำในภูมิภาค เพราะมันได้กลายเป็นฐานของข้อมูลที่สำคัญอันจะช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดทิศทางของนโยบายและโครงการทางสังคม โดยมุ่งเน้นไปยังภาคที่มีความต้องการสูงสุด และทำให้เราสามารถปรับระดับของโอกาสต่างๆ ให้เท่าเทียมกันได้” นางบาเชเลทกล่าว สมัยที่เธอดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของชิลีนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของเธอสามารถปรับปรุงดัชนีด้านสังคมให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

รายงานที่ตีพิมพ์เป็นครั้งที่สองนี้ เป็นการศึกษาต่อเนื่องจากรายงานดัชนีโอกาสของมนุษย์ฉบับแรกที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2551 ซึ่งได้ประเมินโอกาสของประชากรใน 15 ประเทศด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในระดับภูมิภาค รัฐ และเมือง รวมถึงข้อมูลที่ได้จากรัฐบาลในระดับท้องถิ่น 165 รัฐบาล 

รายงานฉบับนี้ชี้ว่า ยังมีช่องว่างที่ใหญ่มากระหว่างเมืองหลวงกับพื้นที่ที่เหลือภายในประเทศ โดยเฉพาะ ช่องว่างในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าเรื่องการศึกษา  อย่างไรก็ตามในช่วง 13 ปีที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการเพื่อลดช่องว่างดังกล่าวลง ดังจะเห็นได้จากดัชนี 7 จาก 10 หัวข้อได้รับการปรับปรุงเป็นอย่างมากในพื้นที่นอกเมืองหลวง

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
WB

Api
Api

Welcome