ข่าวประชาสัมพันธ์

ประเทศกำลังพัฒนาเร่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553




กรุงวอชิงตัน ดีซี 11 พฤษภาคม 2553 –  รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกชี้ว่า แม้โลกจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปีที่ผ่านมาอันเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ทางการเงินในประเทศอุตสาหกรรมนั้น แต่ปรากฏว่า มีการขอความช่วยเหลือจากกลุ่มธนาคารโลกเพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถรับมือกับปัญหาทางการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลักษณะที่เป็นความท้าทายที่เชื่อมโยงกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  

รายงานชื่อ Progress Report on the Strategic Framework for Development and Climate Change ซึ่งธนาคารโลกนำออกเผยแพร่ในวันนี้ ได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับความช่วยเหลือของธนาคารโลก ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวของประเทศกำลังพัฒนา โดยรายงานฉบับนี้ได้ระบุว่า ความช่งยเหลือที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ได้ร้องขอจากธนาคารโลกนั้นครอบคลุมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโครงการพัฒนาที่จะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience Development) กลไกการปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศที่ผันผวนมากขึ้น การนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ รวมทั้งการจัดหาเงินทุนสำรหับโครงการที่สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการผลิตพลังงานทดแทน

ทั้งนี้ธนาคารโลกเปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมานั้น ภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนเพียงภูมิภาคเดียวได้รับเงินกู้จากธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการฟื้นฟูบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development -IBRD) ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารโลกที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ในโครงการหรือกิจการซึ่งแต่ละประเทศเป็นผู้ริเริ่มร่วม 180 โครงการ อันจะช่วยให้ประเทศเหล่านี้สามารถปรับตัวรวมทั้งลดทอนผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

การออกแบบโครงการพัฒนาให้สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้นั้น ได้กลายมาเป็นประเด็นหลักของการบรรเทาความยากจนและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกา ดังเห็นได้จากโครงการต่าง ๆ เช่น การบรรเทาความเสี่ยงจากภัยแล้งในเอธิโอเปีย (อยู่ในระหว่างการดำเนินงานขั้นที่สองโดยใช้เงินทั้งสิ้น 175 ล้านเหรียญฯ) ไปจนถึงการบริหารจัดการลุ่มน้ำในเคนยาและมาลาวี (เป็นเงิน 75.5 ล้านเหรียญฯ) ซึ่งส่งสัญญารซ่าทวีปแอฟริกากำลังพยายามเร่งรับมือกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่มากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะนี้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มความท้าทายด้านการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดนางแคทเธอรีน เซียรา รองประธานธนาคารโลกฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนกล่าว “ไม่ว่าจะเป็นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ  ซึ่งมีการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ จนถึงการระดมทุนเกือบ 1 พันล้านเหรียญฯ สำหรับใช้ในโครงการพัฒนาที่สามารถทนแทนต่อแรงเสียดทานของภาวะโลกร้อนได้นั้น เราได้พยายามเพิ่มศักยภาพของกลุ่มธนาคารโลกในการร่วมงานกับสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี  องค์การสหประชาชาติ หน่วยงานระดับทวิภาคี ภาคประชาสังคมและหุ้นส่วนจากภาคเอกชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในข่ายเปราะบางที่สุดในการรับมือกับปัญหาเร่งด่วนที่สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น กลุ่มธนาคารโลกได้ขยายความสนับสนุนสำหรับการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศและโครงการที่มีผลกระทบต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศน้อย โดยการใช้และเพิ่มเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ร่วมกับการการระดมทุนและเอื้ออำนวยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ๆ นำประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศเข้ามารวมกับผลิตภัณฑ์หลักทางการเงินอื่นๆ บุกเบิกและขยายการเข้าถึงตลาดคาร์บอนและเสริมเงินทุนด้วยความช่วยเหลือทางวิชาการและการให้คำแนะนำทางนโยบาย ทั้งนี้ กลุ่มธนาคารโลกร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีและหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติต่างๆ กำลังให้ความช่วยเหลือแก่บังคลาเทศ โบลิเวีย โคลัมเบีย โมซัมบิก เนปาล ไนเจอร์ ทาจิกิสถาน เยเมน และแซมเบีย เพื่อขยายการดำเนินงานด้านการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศผ่านโครงการนำร่องเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศภายใต้กองทุน  Climate Investment Funds อยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ โครงการระดับภูมิภาคในแคริบเบียนและหมู่เกาะแปซิฟิกสองโครงการ ได้มุ่งเป้าหมายไปที่ประเทศที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก กองทุนเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology Fund) ภายใต้กองทุน Climate Investment Fund (CIF)  ที่บริหารโดยกลุ่มธนาคารโลก ได้อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมูลค่า 4,400 ล้านเหรียญฯ สำหรับแผนการลงทุนระดับประเทศ 13 แผนใน 12 ประเทศ ที่คาดว่าจะสามารถระดมทรัพยากรเพิ่มเติมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนได้อีกประมาณ 36,000 ล้านเหรียญฯ รวมทั้งโครงการระดับภูมิภาคอีก 1 โครงการในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่เน้นการเร่งพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบรวมแสง (Concentrated Solar Power)

ทำให้มาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธด้านการพัฒนา

มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาที่จะนำปัจจัยว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการบรรเทาปัญหาความยากจน เห็นได้จากการที่กว่าร้อยละ 80 ของแผนความร่วมมือทั้งหมดที่ธนาคารโลกจัดทำร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาในช่วงต้นของปีงบประมาณนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสถาบันในประเทศนั้นๆ ได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมกิจกรรมที่จะช่วยประเทศเหล่านี้ให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

สัญญาณที่บ่งบอกการดำเนินการของประเทศกำลังพัฒนาในด้านนี้อีกประการหนึ่ง คือ ความจำเป็นในการรวมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อพัฒนานโยบายและสถาบันทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในปีงบประมาณ 2552 และครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2553 ธนาคารได้จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 6 พันล้านเหรียญฯ เพื่อใช้สำหรับปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อจัดการกับความจำเป็นทางด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงเงินกู้ที่ให้กับเม็กซิโก บราซิล ตุรกี โมร็อกโกและอินโดนีเซีย ประเทศที่ยากจนกว่านี้หลายประเทศซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) อันเป็นหน่วยงานของธนาคารโลกที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจนโดยเฉพาะ ได้ขอรับความช่วยเหลือดังกล่าวเช่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น สินเชื่อเพื่อนโยบายพัฒนาเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกานาให้เป็นไปอย่างโปร่งใสมากขึ้น มีองค์ประกอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเน้นที่การสร้างเสริมความแข็งแกร่งทางสถาบันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาคป่าไม้รวมอยู่ด้วย

นวัตกรรมทางการเงินผ่านความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

  • การพัฒนาเวทีองค์ความรู้การจัดเงินทุนสนับสนุนด้านภูมิอากาศ (Climate Finance Knowledge Platform) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตอบสนองปัญหาที่ประสานกันร่วมกันระหว่างหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติ
  • การดำเนินงานกองทุนเพื่อการลงทุนด้านภูมิอากาศ (Climate Investment Funds) ร่วมกันโดยสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี โดยมีวงเงินสนับสนุน 6,300 ล้านเหรียญฯ ในปัจจุบัน
  • กองทุน Forest Carbon Partnership Facility (FCPF) ครอบคลุมประเทศเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน 37 ประเทศและสามารถระดมทุนได้ 160 ล้านเหรียญฯ ในปัจจุบัน
  • Carbon Partnership Facility จะเร่งขยายผลกระทบจากการจัดเงินทุนสนับสนุนด้านภูมิอากาศ (มีวงเงิน 100 ล้านเหรียญฯ ในกองทุนคาร์บอน)
  • การเป็นหุ้นส่วนร่วมกันระหว่างบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (Standard and Poor’s) เพื่อพัฒนาดัชนีประสิทธิภาพคาร์บอนสำหรับตลาดเกิดใหม่ระดับโลก (Global Emerging Market Carbon Efficient Index)

เร่งการดำเนินการด้านพลังงานทดแทนและประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่กำลังขยายตัวอยู่ในขณะนี้

ปีงบประมาณ 2552 เป็นปีที่กลุ่มธนาคารโลกได้ให้เงินสนับสนุนโครงการด้านพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างประสิทธิภาพถึง 3,300 ล้านเหรียญฯ ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับโครงการด้านพลังงานทดแทนและการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 88 เทียบกับอัตราเฉลี่ยต่อปีที่คาดไว้อยู่ที่ร้อยละ 30   

ในบังคลาเทศมีการให้เงินกู้ 130 ล้านเหรียญฯ เพื่อสนับสนุนการสร้างโอกาสให้กว่าหนึ่งล้านครัวเรือนเข้าถึงพลังงานแบบที่ไม่เชื่อมโยงกับสายส่งไฟฟ้า (off-grid energy access) โดยใช้ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Photovoltaics)  ส่วนในยูกันดา กลุ่มธนาคารโลกได้ร่วมมือกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก  (Global Environment Facility - GEF) ให้เงินกู้สนับสนุนโครงการพลังงานทดแทนเป็นเงิน 76 ล้านเหรียญฯ   นอกจากนี้ ประเทศสมาชิก IDA บางประเทศกำลังอยู่ระหว่างการยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงที่จะมีความร่วมมือกันภายใต้โครงการขยายการสร้างพลังงานทดแทนในประเทศรายได้ต่ำ (Scaling-Up Renewable Energy in Low Income Countries -SREP) (วงเงิน 292 ล้านเหรียญฯ)    อนึ่ง บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ยังได้เพิ่มเงินกู้ผูกพันงวดใหม่สำหรับโครงการพลังงานทดแทน ขึ้น 5 เท่าในปีงบประมาณ 2552 จาก 115 ล้านเหรียญฯ เป็น 587 ล้านเหรียญฯ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ IFC ให้ความสำคัญในลำดับต้น เรากำลังพยายามเพิ่มการลงทุนที่เป็นประโยชน์กับสภาพภูมิอากาศในทุกภาคของเศรษฐกิจและแสวงหารูปแบบความเป็นหุ้นส่วนใหม่ๆ เพื่อใช้อำนาจเพิ่มผลทางการเงินสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภุมิอากาศทุกรูปแบบนางเรเชล ไคท์ รองประธานฝ่ายบริการคำปรึกษาของ IFC กล่าว

ปีงบประมาณ 2552 เป็นปีแรกที่กว่าครึ่งหนึ่ง (ทั้งจำนวนโครงการและจำนวนเงิน)ของโครงการที่ IFCให้เงินกู้ผูกพันเป็นโครงการด้านพลังงานทดแทน เราคิดว่าอัตราดังกล่าวจะสูงขึ้นอีกในอนาคต

การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาซึ่งจะช่วยให้ประเทศเสริมสร้างความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในอนาคต  IDA ใช้เครื่องมือทางการเงินหลากหลายรูปแบบเพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เช่น การใช้รูปแบบการค้ำประกันความเสี่ยงบางส่วนแก่ไนจีเรีย เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าและก๊าซในวงเงิน 400 ล้านเหรียญฯ ควบคู่ไปกับสินเชื่อวงเงิน 200 ล้านเหรียญฯ ที่จะช่วยลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงการผลิตไฟฟ้าแบบเชื่อมโยงกับสายส่งไฟฟ้า (Grid-based Generation) ที่สะอาดขึ้น

สำหรับการดำเนินงานของ IFC แล้ว ประเทศสมาชิกของ IDA กำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ IFC เพิ่งเปิดตัวกองทุนประกันภัยโดยใช้ดัชนีเป็นพื้นฐาน (Global Index Insurance Facility) โครงการนี้จะช่วยให้ชาวนาได้รับการประกันความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่เลวร้ายซึ่งอาจทำลายผลผลิตจากไร่นาและชีวิตความเป็นอยู่ของตน กองทุนดังกล่าวมุ่งเน้นตลาดเกิดใหม่ เช่น  ประเทศซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกา ที่ซึ่งร้อยละ 60 ของแรงงานทั้งหมดเป็นชาวนาและแรงงานภาคเกษตรกรรม แต่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือในการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร  IFC กำลังทำงานร่วมกับบริษัทประกัน รัฐบาลและสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ที่ใช้ดัชนี (ทางสภาพภูมิอากาศ) เป็นพื้นฐาน ซึ่งจะจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่ชาวนาในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภาวะฝนแล้ง หรือน้ำท่วม

ป่าไม้ได้รับความสำคัญลำดับต้นในวาระการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประเทศกำลังพัฒนา

การบริหารจัดการป่าไม้เปิดโอกาสให้ประเทศเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนได้มีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรไปพร้อมๆ กัน โครงการลงทุนด้านป่าไม้ (Forest Investment Program – FIP) ที่ดำเนินการภายใต้กองทุน CIF ในวงเงิน 558 ล้านเหรียญฯ จะช่วยสนับสนุนความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาในการลดการทำลายและบรรเทาการเสื่อมโทรมของป่ารวมทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้แบบยั่งยืนอันจะนำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปกป้องแหล่งกักคาร์บอน (REDD+)     

โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยขยายเงินทุนสนับสนุนให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมของตนเอง  และแก่การลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งกำหนดผ่านกลยุทธ REDD+ ของประเทศหรือกลยุทธที่เทียบเท่าอื่นๆ โครงการดังกล่าวเสริมรับกองทุน FCPF  ที่บริหารโดยธนาคารโลกซึ่งครอบคลุมประเทศเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน 37 ประเทศ กองทุน FCPF ได้ระดมเงินทุน 160 ล้านเหรียญฯสำหรับการสร้างเสริมศักยภาพและการจัดสรรเงินทุนให้กับโครงการนำร่องโดยใช้ประสิทธิภาพการดำเนินงานเป็นพื้นฐาน

สิ่งที่เห็นได้จากประสบการณ์ของเราคือประเทศกำลังพัฒนากำลังเร่งดำเนินการรับมือกับผลที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เงินทุนสนับสนุนยังคงจำกัดอยู่มาก ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงควรที่จะช่วยรับประกันว่าเงินช่วยเหลือในด้านนี้จะสอดคล้องกับความต้องการของประเทศกำลังพัฒนานายคเสนิยา ลวอฟสกี ผู้บริหารโครงการและเป็นหัวหน้าคณะจัดทำรายงาน Progress Report on the Strategic Framework for Development and Climate Change ของธนาคารโลก กล่าว

นายโทกา กาเยเวีย แมคอินทอช หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของธนาคารโลกซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศในทวีปแอฟริกาหลายประเทศรวมถึงบอตสวานา แอฟริกาใต้และเคนยา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่สูงเกี่ยวกับอนาคตของนโยบายสภาพภูมิอากาศของโลกและกลไกที่จะมาสนับสนุนเงินทุนในด้านนี้นั้นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด...ในกรณีของทวีปแอฟริกา ศักยภาพที่อ่อนแอและทรัพยากรที่จำกัดมีผลทำให้ความท้าทายที่แอฟริกากำลังเผชิญอยู่ยิ่งหนักขึ้นไปอีก ดังนั้นแอฟริกาจึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นอีกมากจากในระดับที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในจุดนี้ การระดมทุน IDA 16 ที่กำลังจะมาถึงสามารถเข้ามามีบทบาทหลักได้

ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ส่งสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจนว่าพร้อมที่จะระดมเงินช่วยเหลือจำนวน 30,000 ล้านเหรียญฯ ภายในปี พ.ศ. 2555 เพื่อให้เป็นทรัพยากรเพิ่มเติมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเจตจำนงที่จะเพิ่มให้ถึง 100,000 ล้านเหรียญฯ ภายในปี พ.ศ. 2563 

การเริ่มต้นทำให้คำสัญญาดังกล่าวเป็นความจริงขึ้นมาได้พร้อมๆ กับความก้าวหน้าในการทำให้อนาคตของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือกลไกทางการเงินอื่นๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงการที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนาได้นั้นมีความแน่นอนขึ้น จะเป็นสิ่งที่กำหนดขอบเขตและความรวดเร็วของมาตรการด้านภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
พิชญา ฟิตต์ส
โทร: (02) 686-8324

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2010/398/SDN

Api
Api

Welcome