ข่าวประชาสัมพันธ์

ภาคพลังงานอินโดนีเซียได้รับ $400 ล้านจากกองทุนสภาพอากาศโลก

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553




มะนิลา 16 มีนาคม พ.ศ. 2553 -  ศักยภาพพลังงานความร้อนใต้พิภพของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังจากที่มีการอนุมัติแผนกองทุนเพื่อการลงทุนด้านภูมิอากาศใหม่ แผนมูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology Fund-CTF) และจะช่วยเปลี่ยนการใช้พลังงานหมุนเวียนของอินโดนีเซีย รวมทั้งสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวของตนในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 26 ภายในปี พ.ศ. 2563 ได้

แผนดังกล่าวนี้จะนำเงินกู้ร่วมจากกองทุน CTF ไปใช้ในการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพขนาดใหญ่    รวมทั้งเพื่อเร่งให้เกิดโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานกับการใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านการสร้างกลไกเพื่อแบ่งปันความเสี่ยงและรับมือกับอุปสรรคในการจัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนระดับย่อยและระดับกลางด้วย นอกจากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุน CTF แล้ว เงินลงุทนที่เหลืออีก 2,700 ล้านเหรียญฯ จะมาจากแหล่งอื่นๆอีกหลายแหล่งด้วย

รองประธานฝ่ายบริหารจัดการความรู้และการพัฒนาที่ยั่งยืนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย นางเออร์ซูลา เชฟเฟอร์-พรีอุส กล่าวว่า “การมีพลังงานเพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้ร้อยละ 90 ของประขากรอินโดนีเซียมีไฟฟ้าใช้ในปี พ.ศ. 2563  จากที่เป็นร้อยละ 65 ในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ ด้วยการใช้แหล่งพลังงานที่สะอาดกว่า การพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพจะทำให้เกิดผลที่ดีขึ้นทางสุขภาพ และทำให้ประชากรโดยรวมสามารถเข้าถึงพลังงานได้มากขึ้น

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่สี่ในเอเซียที่มีแผนการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำซึ่งได้รับเงินทุนจากกองทุน CTF อันเป็นกองทุนพหุภาคีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ ประเทศอื่น ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน CTF ไปก่อนหน้านี้ก็คือ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม การที่คณะกรรมการกองทุนให้การสนับสนุนแผนของอินโดนีเซียจะทำให้ความช่วยเหลือจากกองทุน CTF ที่ให้แก่เอเชียเพิ่มเป็น 1,200 ล้านเหรียญฯ รวมทั้งยังช่วยให้มีการระดมเงินจากรัฐบาล ภาคเอกชน และแหล่งอื่นๆ ทั้งสิ้นเกือบ 13,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อสนับสนุนโครงการที่จะช่วยให้เอเชียเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้นำในการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต

ในโอกาสนี้  นางแคทเธอรีน ซีเอรา  รองประธานธนาคารโลกฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนกล่าวว่า “งานของกองทุนเพื่อการลงทุนด้านภูมิอากาศ (Climate Investment Fund) คือการแสดงให้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง และแผนของอินโดนีเซียก็มีความโดดเด่น  อินโดนีเซียนั้นจัดว่ามีศักยภาพพลังงานความร้อนใต้พิภพสูงที่สุดในโลก การจัดหาเงินทุนร่วมผ่านกองทุน CTF ในครั้งนี้จะช่วยให้อินโดนีเซียสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อสนองตอบความต้องการทางพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศได้ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการที่เป็นไปได้จริงซึ่งประเทศกำลังพัฒนาสามารถนำไปปฏิบัติได้เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

นอกจากการอนุมัติแผนของอินโดนีเซียแล้ว  การประชุมกองทุน CTF ที่มะนิลาเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมายังได้อนุมัติแผนสำหรับโคลัมเบีย (150 ล้านเหรียญฯ จาก CTF โดยจัดหาอีก 2,850 ล้านเหรียญฯ จากแหล่งอื่น รวมทั้งภาคเอกชน) คาซักสถาน (200 ล้านเหรียญฯ จาก CTF โดยจัดหาจากแหล่งอื่นอีก 1,100 ล้านเหรียญฯ) และยูเครน (350 ล้านเหรียญฯ จาก CTF จัดหาจากแหล่งอื่น 2,300 ล้านเหรียญฯ)

การอนุมัติแผนใหม่นี้ทำให้ยอดแผนการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุน CTF เพิ่มเป็นสิบสามแผน  ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมานั้น  อียิปต์ เม็กซิโก โมรอคโค แอฟริกาใต้ และตุรกีต่างก็มีแผนการลงทุนที่ได้รับอนุมัติแล้วและกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนาหรือดำเนินการตามแผน นอกจากนี้ยังมีประเทศห้าประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่มีแผนการลงทุนในภูมิภาคมูลค่า 750 ล้านเหรียญฯ เพื่อพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์แบบรวมแสง

ภูมิหลัง

กองทุนเพื่อการลงทุนด้านภูมิอากาศ (Climate Investment Funds) เป็นเครื่องมือจัดหาเงินทุนที่มีเอกลักษณ์และได้รับการออกแบบมาเพื่อทดสอบว่า ประเทศต่างๆ สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะนำประเทศเหล่านั้นไปสู่การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการพัฒนาที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ โดยใช้การจัดหาเงินทุนผ่านงธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี

กองทุนเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology Fund-CTF) จัดหาเงินทุนให้กับการสาธิต การใช้ และการโอนถ่ายเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในระดับสูงเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงในปริมาณที่มีนัยสำคัญภายในแผนการลงทุนของประเทศ ส่วนกองทุนยุทธศาสตร์สภาพภูมิอากาศ (Strategic Climate Fund-SCF) นั้น  ทำหน้าที่จัดหาเงินทุนให้แก่โครงการเป้าหมายในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อดำเนินการตามแนวทางนำร่องด้านภูมิอากาศ  หรือการดำเนินการในภาคต่างๆที่มีศักยภาพในการขยายผล

ในคณะกรรมการกองทุนของทั้ง CTF และ SCF มีตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วจำนวนเท่ากัน  ด้วยตระหนักในความจำเป็นของการเจรจาภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) กองทุน CIF จึงได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นมาตรการชั่วคราวในการเสริมสร้างฐานความรู้ของโลกเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาแบบคาร์บอนต่ำและวิธีแก้ปัญหาที่สามารถปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศได้

กองทุน CIF ดำเนินการร่วมกันโดยธนาคารพัฒนาแอฟริกา (African Development Bank) ธนาคารพัฒนาเอเซีย (Asian Development Bank) ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนายุโรป (European Bank for Reconstruction and Development) ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank) บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation) และธนาคารโลก (World Bank)

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงต้น ดีซี
โรเบิร์ต บิสเซ็ท
โทร: +1 (202) 415-9646
rbisset@worldbank.org
ใน มะนิลา (ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย)
ฟิลิป วู้ด
โทร: +63 (2) 632-4132
pwood@adb.org


Api
Api

Welcome