ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกจัดทำคู่มือรวบรวมแนวทางปฏิบัติที่ดีในการบูรณะฟื้นฟูที่อยู่อาศัยจากทุกมุมโลก

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553



บรัสเซลส์ 16 มีนาคม 2553 - วันนี้ ธนาคารโลกประกาศเปิดตัว “คู่มือการบูรณะฟื้นฟูหลังภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อโครงสร้างบ้านที่แข็งแรงและชุมชนที่แข็งแกร่ง”  (Safer Homes, Stronger Communities: A Handbook for Reconstructing after Natural Disasters) ซึ่งธนาคารโลกพัฒนาขึ้นร่วมกับหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ได้แก่ Earthquake and Megacities Initiative  มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ (Habitat for Humanity International) สถาบันนักสำรวจแห่งสหราชอาณาจักร (Royal Institution of Chartered Surveyors) Shelter Center และหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยการดำเนินการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและฟื้นฟูประเทศชื่อ United Nations International Strategy for Disaster Reduction and Recovery  รวมทั้ง World Housing Encyclopedia ด้วย การจัดทำคู่มือดังกล่าวนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Global Facility for Disaster Reduction and Recovery (GFDRR)

คู่มือดังกล่าวให้แนวทางแก่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารโครงการและเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบูรณะที่พักอาศัยและชุมชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยเน้นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างที่อยู่อาศัยกับการพัฒนาชุมชน และกับโครงสร้างทางสาธารณูปโภค การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐด้วย

ด้วยเหตุที่การฟื้นฟูประเทศหลังภัยพิบัตินั้นต้องอาศัยการตัดสินใจด้านต่างๆ อย่างฉับพลันหลังจากที่ภัยพิบัติอุบัติขึ้นใหม่ๆ  แต่การตัดสินใจนั้นจะมีผลกระทบในระยะยาวต่อชีวิตของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย  คู่มือฉบับนี้จึงให้ความสำคัญกับความท้าทายที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องเผชิญในการวางแผนการบูรณะฟื้นฟูอย่างรวดเร็วและเหมาะสม ในขณะที่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วย  คู่มือดังกล่าวนี้ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 23 บทด้วยกัน และแต่ละบทตอนนั้นก็นำเสนอเครื่องมือสำหรับการดำเนินการบูรณะฟื้นฟูอย่างเป็นระบบและมีบูรณาการ การบริหารการสื่อสารกับผู้ที่มีส่วนได้เสีย และการจัดระบบการติดตามผลการปฏิบัติงานเป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายทุกด้านของการบูรณะฟื้นฟู

“คู่มือนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับนโยบายการบูรณะฟื้นฟูประเทศที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แต่เป็นการให้แนวทางสำหรับการปรับแต่งนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า”

นายอับบาส เค. จา ผู้ประสานงานธนาคารโลกด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

“คู่มือนี้เน้นถึงความจำเป็นที่แต่ละประเทศจะต้องลงทุนในการสร้างศักยภาพให้แก่ชุมชน  และเสริมสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นให้รู้จักบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติก่อนที่ภัยจะมาถึง   รวมทั้งประกันว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือในการวิเคราะห์และลดทอนความเสี่ยงและนำเครื่องมือนั้นไปปฏิบัติใช้อย่างถูกต้อง เรียกว่าคู่มือนี้ได้เติมเต็มช่องว่างในการบริหารโครงการบูรณะฟื้นฟูขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ว่าได้”

ธนาคารโลกได้สะสมประสบการณ์ที่มีคุณค่าจากโครงการบูรณะที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ในประเทศต่างๆ  เช่น อินโดนีเซีย (อาเจะห์ ยอกยาการ์ตา)  ปากีสถาน  อิหร่าน (บาม)  และอินเดีย (คุชราต)   คู่มือที่นำออกเผยแพร่ในวันนี้ เป็นการผสานข้อมูลความรู้ดังกล่าวเข้ามาไว้ในเล่มเดียวกัน  โดยได้รวมรวบกรณีศึกษากว่า 100 กรณีที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์โดยตรงในการบูรณะฟื้นฟูบ้านเรือนและชุมชนหลังการเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตลิงค์เพื่อการหาข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมในหัวข้อที่มีการกล่าวถึงในคู่มือ   ทั้งนี้ยังมีการเสริมข้อมูลดังกล่าวด้วยเวปไซต์สำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่คือ http//:www.housingreconstruction.org ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีอย่างต่อเนื่อง

รายงานดังกล่าวได้รับการเปิดตัวในวันนี้   ระหว่างพิธีที่จัดขึ้นเป็นพิเศษโดยศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center - ADPC) ร่วมกับธนาคารโลกและ GFDRR  ณ สำนักงานใหญ่ของ ADPC ในประเทศไทย  โดยมีผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะฟื้นฟูบ้านเรือนเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก

“ในภาวะที่เอเชียตะวันออกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่สูงขึ้นเรื่อยๆ  รวมทั้งในเวลาที่ภาคก่อสร้างกำลังอยู่ในภาวะที่เปราะบางเช่นนี้  นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดียิ่งที่จะนำคู่มือฉบับนี้ออกเผยแพร่แก่สาธารณชน”

ดร. พิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการบริหารแห่งศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย กล่าว “คู่มือดังกล่าวนี้ให้แนวทางแก่ผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารโครงการข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการบูรณะที่พักอาศัยและชุมชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ผ่านประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค การรณรงค์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในทุกระดับที่เกี่ยวข้องนำคู่มือฉบับนี้มาเป็นแนวทางปฎิบัตินั้นจึงจัดว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การสร้างศักยภาพให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับให้สามารถนำกลไกต่างๆ ที่นำเสนอไว้ในคู่มือเล่มนี้ไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์จริง” 

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพฯ
เฮลีย์ คิม
โทร: (02) 298-0681 ถึง 92 (ต่อ 256)
hykim@adpc.net
ใน วอชิงตัน ดีซี
ซีชาน ซูฮาอิล
โทร: (+1-202) 458-7382
zsuhail@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
WB

Api
Api

Welcome