ข่าวประชาสัมพันธ์

คุณภาพการศึกษาไทยอาจเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนา

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553




กรุงเทพฯ 22 มกราคม 2553 – ทุกๆ ปี ประเทศไทยผลิตบัณฑิตที่พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมากถึง 250,000 คน กระนั้นก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการในไทยยังต้องประสบอยู่อย่างสม่ำเสมอก็คือการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม

นี่เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่ระบบอุดมศึกษาของไทยกำลังเผชิญในปัจจุบัน ธนาคารโลกระบุ

ในรายงานฉบับใหม่ที่ออกเผยแพร่ในวันนี้ ชื่อ “สร้างศักยภาพการแข่งขันของระบบอุดมศึกษาไทยในเศรษฐกิจโลก” หรือ “Towards a Competitive Higher Education System in a Global Economy ” ในภาษาอังกฤษ แม้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจกับการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชากร แต่คุณภาพของการศึกษาในประเทศไทยนั้นยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล และหากประเด็นนี้ไม่ได้รับการแก้ไข อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวได้  

“จำนวนเด็กไทยที่เข้าสู่สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษารวมทั้งจำนวนสถานศึกษาในระดับนี้ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา” นายลูอิส เบนเวนิสเต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากธนาคารโลก และผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้กล่าว “แต่ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงปัญหาคุณภาพการศึกษาและความหมายของการเรียนรู้ในระดับนี้กันอย่างกว้างขวาง ดัชนีต่างๆ ที่ใช้วัดผลสำเร็จของการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นแสดงให้เห็นว่ายังมีช่องว่างอยู่พอสมควรระหว่างปริมาณและคุณภาพของบัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับนี้”  

นี่เป็นประเด็นซึ่งท้าทายความสามารถของผู้มีส่วนรับผิดชอบนโยบายด้านการศึกษาของไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในวันที่ความรู้ (knowledge) ได้กลายเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้รุดหน้า รวมทั้งผลักดันให้เกิดพัฒนาการทางสังคมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ในภาวะเช่นนี้ แรงงานราคาถูกและทรัพยากรต่าง ๆ ที่เคยเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาเพียงประการเดียว ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธนาคารโลกรายงานว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจโลกอันมีความรู้เป็นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ก็คือความสามารถของประเทศเองในการผลิตแรงงานที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่ากำลังผันเปลี่ยนไปทุกเมื่อเชื่อวัน หากปราศจากแรงงานเหล่านี้แล้ว ไทยอาจจะต้องถูกประเทศอื่นๆ แซงหน้าไปได้ แม้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรจำนวนมากของประเทศก็ตาม

“เศรษฐกิจโลกกำลังซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการแข่งขันก็ทวีความรุนแรงขึ้น ไม่มีประเทศไหนจะสามารถนิ่งดูดายได้ในภาวะเช่นนี้ ประเทศไทยก็ไม่ได้อยู่ในข่ายยกเว้น”  รายงานฉบับดังกล่าวระบุ

รายงานฉบับนี้  เป็นรายงานสรุปพัฒนาการของระบบอุดมศึกษาไทยในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนำเสนอบทวิเคราะห์ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของการอุดมศึกษาในประเทศ รวมทั้งอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบบอุดมศึกษากับภาคเอกชน รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นสถานที่เตรียมความพร้อมของนักศึกษา ซึ่งจะกลายเป็นแรงงานในอนาคต ให้สามารถตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจในโลกซึ่งซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้นทุกวันได้  

 ประเด็นสำคัญๆ ที่รายงานฉบับนี้นำเสนอมีดังนี้

  • แม้ในปัจจุบัน จะมีเยาวชนไทยจำนวนมากที่เข้าสู่ระบบอุดมศึกษาในแต่ละปี แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของเยาวชนเหล่านี้มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูง ในขณะที่เพียงร้อยละ 5 เท่านั้นมาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ นี้แสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา
  • การสำรวจผลิตภาพและบรรยากาศการลงทุนของธนาคารโลกที่ออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะพื้นฐานและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สอดคล้องกับความต้องการของงาน เป็นสาเหตุที่ทำให้กว่าร้อยละ 80 ของผู้ประกอบการไทยไม่สามารถหาบุคลากรเข้าทำงานบางประเภทได้
  • อัตราว่างงานในหมู่แรงงานที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้น สูงกว่าอัตราว่างงานในหมู่แรงงานระดับอื่นๆ มาก นอกจากนี้บัณฑิตที่จบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์นั้นยังมีการว่างงานสูง นี่เป็นดัชนีที่แสดงว่า การเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานในระดับอุดมศึกษานั้นยังไม่อาจตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้เท่าที่ควร
  • ไทยยังประสบปัญหารขาดแคลนบัณฑิตที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีความสำคัญยิ่งต่อการก้าวขึ้นสู่สถานภาพของเศรษฐกิจฐานความรู้ ขณะเดียวกัน จำนวนบัณฑิตที่จบสาขาสังคมศาสตร์ในไทยก็มีมากเกินความต้องการของตลาดแรงงาน
  • แม้จะมีความต้องการด้าน research and development (การวิจัยและพัฒนา) หรือ R & D ในประเทศไทยสูง แต่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ มีเพียงร้อยละ 25 ของคณาจารย์ผู้สอนเท่านั้นที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก (ซึ่งเป็นระดับที่ช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการค้นคว้าวิจัยให้แก่ผู้รับการศึกษา) นี่เป็นดัชนีที่แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังเน้นเรื่องการสอนมากกว่าการวิจัย  

รายงานฉบับนี้อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสถานศึกษาให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยที่มีความเป็นอิสระ ปรับปรุงการกำกับดูแล การจัดหาเงินทุน และการเชื่อมโยงการเรียนรู้ในสถานการศึกษากับความต้องการของภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ได้ สถานศึกษาที่จะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องมีคามยืดหยุ่น สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญ สถานศึกษาของไทยจำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพของการเรียนรู้ในทุกระดับมากกว่าปริมาณของผู้จบการศึกษาในระดับนั้นๆ    

“สร้างศักยภาพการแข่งขันของระบบอุดมศึกษาไทยในเศรษฐกิจโลก” คือรายงานฉบับล่าสุดในกลุ่มรายงานที่ชื่อว่า Thailand Social Monitor  (ตามติดสถานการณ์สังคมไทย) ซึ่งธนาคารโลกจัดทำอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของประเทศ รวมทั้งนำเสนอข้อเปรียบเทียบระหว่างนโยบายที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้ตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ๆ  เพื่อให้ผู้รับผิดชอบด้านนโยบายของไทยมีทางเลือกและสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ ได้     

รายงานฉบับล่าสุดนี้ แม้จะเป็นการวิเคราะห์จากมุมมองของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังนำเสนอประเด็นที่มีความสำคัญต่อสังคมเช่นเดียวกับรายงานฉบับอื่นๆ ในกลุ่มนี้ในอดีต โดยธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า ประโยชน์ของการศึกษาในระดับสูงนั้นหาใช่มีเฉพาะประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้นไม่   แต่ยังมีประโยชน์ทางสังคมอื่นๆ มากมายตามมาอีกด้วย  

ที่ผ่านมานั้น การศึกษาของธนาคารโลกพบว่า สังคมที่สมาชิกมีการศึกษาสูงมักจะเป็นสังคมที่มีอาชญากรรมน้อย มีอัตราการเติบโตของประชากรต่ำ สมาชิกสังคมมีสุขภาพดีเนื่องจากมีความเข้าใจเรื่องการป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าในสังคมที่มีการศึกษาน้อย รวมทั้งมีความเข้าใจในความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสูงด้วย นอกจากนี้ในประเทศไทยยังพบว่า มารดาที่มีการศึกษาสูงนั้นมักจะใช้บริการสาธารณสุขในระหว่างตั้งครรภ์และในการทำคลอด ทำให้ประเทศชาติสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและทารกโดยรวมได้ในอดีต

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
TH

Api
Api

Welcome