ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกระบุประเทศกำลังพัฒนาจะประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนในระหว่างที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ

วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553




กรุงเทพฯ วันที่ 21 มกราคม 2553 — ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังปรากฎอยู่ในขณะนี้ จะชะลอตัวลงในช่วงหลังของปี ทั้งนี้ก็เพราะว่าอานิสงส์ของการใช้มาตรการการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจนั้นกำลังจะจางลง ในขณะเดียวกัน เสถียรภาพของตลาดการเงินโลกก็ยังไม่กลับคืนมา นอกจากนี้ การที่ความต้องการในภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ กอปรกับภาวะว่างงานที่ยังสูงอยู่ก็น่าจะมีอิทธิพลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกพอสมควร

การคาดการณ์ดังกล่าวปรากฎอยู่ในรายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกชื่อ Global Economic Prospects 2010  (แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 2553) ซึ่งธนาคารโลกนำออกเผยแพร่ในวันนี้ รายงานฉบับนี้เตือนว่า แม้ว่าวิกฤติการเงินโลกดูเหมือนจะผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว แต่สภาพเศรษฐกิจโลกนั้นก็ยังบอบบางอยู่ ด้วยเหตุนี้เองธนาคารโลกจึงคาดว่า ผลกระทบจากสภาวะวิกฤติในครั้งนี้ จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของระบบการเงินและการเจริญทางเศรษฐกิจของโลกในช่วง 10 ปีข้างหน้า

พร้อมกันนี้ รายงานฉบับนี้ยังได้คาดว่า มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกโดยรวม (Global GDP) ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 2.2 ในปี 2552 นั้น จะเติบโตด้วยอัตราร้อยละ 2.7 ในปี 2553 และร้อยละ 3.2 ในปี 2554 

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนานั้นน่าจะค่อนข้างดี จะเห็นได้จากการที่ธนาคารโลกคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของ ประเทศกำลังพัฒนาโดยรวมจะโตในอัตราร้อยละ 5.2 ในปีนี้ และเขยิบไปอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ในปี 2554 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 1.2 ในปี 2552 ที่ผ่านมามากทีเดียว ส่วน GDP ของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยรวมซึ่งลดลงถึงร้อยละ 3.3 ในปี 2552 นั้น ก็ยังคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยกระเถิบมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ในปี2553 และร้อยละ 2.3 ในปี 2554 ขณะเดียวกันรายงานฉบับนี้ก็ยังประเมินด้วยว่า ปริมาณการค้าของโลกซึ่งลดลงอย่างฮวบฮาบถึงร้อยละ 14.4 ในปี 2552 นั้น น่าจะเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 4.3 ในปีนี้ และร้อยละ 6.2 ในปี 2554  

แม้จะมีแนวโน้มสูงว่าการพยากรณ์ดังกล่าวน่าจะใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด แต่สถานการณ์โลกทั่วๆ ไปก็ยังมีความไม่แน่นอนปกคลุมอยู่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2554 ซึ่งธนาคารโลกได้พยากรณ์ไว้นั้น อาจจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 หรือพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความมั่นใจของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการในช่วงสองสามไตรมาสข้างหน้า 

“เราไม่อาจจะคาดหวังให้เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ที่ใหญ่หลวงได้ภายในเวลาเพียงข้ามคืน เนื่องจากโดยปกติแล้ว การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากวิกฤติและการสร้างงานนั้นต้องใช้เวลาหลายปี สภาวะเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อคนยากคนจนเป็นอย่างมาก” นายจัสติน หลิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และรองประธานอาวุโสสำหรับงานเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาของธนาคารโลกกล่าว “ประเทศที่ยากจนที่สุด  ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าหรือเงินกู้ยืมที่มีรัฐเป็นผู้อุดหนุน อาจต้องการเงินทุนเพิ่มถึง 35,000 -50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ดำเนินโครงการช่วยเหลือทางสังคมต่างๆ ที่มีมาก่อนภาวะวิกฤติ”  

ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังบอบบางอยู่เช่นนี้ ราคาน้ำมันโดยทั่วไปน่าจะยังคงอยู่ที่ประมาณ 76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ย  และราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 3 โดยเฉลี่ยในระหว่างปี 2553-2554  

รายงานดังกล่าวยังได้เตือนว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่แต่ละประเทศจะสามารถฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสองปีที่ผ่านมาได้ มีการประเมินว่า จำนวนประชากรที่จะตกอยู่ในภาวะยากจนที่สุด (extreme poverty) ในปี 2553 (หรือมีรายได้ต่ำกว่า $1.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน) นั้น จะเพิ่มขึ้นอีก 64 ล้านคนจากจำนวนที่ควรจะเป็นหากไม่เกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าว 

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk aversion) ของสถาบันกาเรงินที่น่าจะเพิ่มขึ้น การกำกับดูแลที่น่าจะเข้มงวดขึ้น  และความจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แพร่หลายในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู อันเป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ น่าจะส่งผลต่อสภาวะการเงินโลกพอสมควร  ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศต้องประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุน  หรือต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมที่สูงขึ้นกว่าก่อน

“ในภาวะที่การเงินระหว่างประเทศยังตึงตัวอยู่นั้น ผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาจะต้องประสบปัญหาต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ขณะที่บางบริษัทอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ลง และเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศก็ยังลดลงอีก ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านั้น  ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึงร้อยละ 0.2 ถึง 0.7 หากว่าเศรษฐกิจยังเฟื่องฟูและต้นทุนการกู้ยืมเงินยังต่ำอยู่” นายแอนดรูว์ เบิร์นส์ ผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้กล่าว  

ขณะที่การเงินในทุกรูปแบบมีแน้วโน้มที่จะได้รับผลกระทบ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) น่าจะมีข้อจำกัดน้อยกว่าการกู้ยืม อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทแม่ต่างๆ จะต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมที่สูงขึ้นนั้น จะส่งผลต่อความสามารถของบริษัทในการสนับสนุนการผลิตสินค้าบางตัว ผลที่ตามมาคือ เงินลงทุน FDI ที่ไหลเวียนเข้าประเทศก็จะชะลอลงด้วย จากที่ เคยเป็นร้อยละ 3.9 ของ GDP ในประเทศกำลังพัฒนาในปี 2550 ลงมาที่ประมาณร้อยละ 2.8-3.0 ในระยะกลาง ผลกระทบที่จะตามมานั้นอาจถึงขั้นรุนแรงสำหรับบางประเทศ เนื่องจากเงินลงทุน FDI นั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของเงินลงทุนทั้งหมดในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า ยุโรปและเอเชียกลาง และละตินอเมริกา 

“ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาวะตึงตัวของการเงินระหว่างประเทศได้ ประเทศเหล่านั้นสามารถและควรที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศ และสนับสนุนตลาดเงินทุนภายในท้องถิ่นโดยการขยายศูนย์กลางการเงินในระดับภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มการแข่งขันและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการกำกับดูแลในภาคการเงินของตนเอง” นายฮานส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการ Development Prospects Group ของธนาคารโลกกล่าว

“แม้ว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล แต่ก็ถือว่าเป็นการช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถหาแหล่งเงินทุนภายในประเทศได้ง่ายขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถกลับไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจดังเช่นที่เคยเป็นก่อนวิกฤติครั้งนี้จะเกิดขึ้นได้” 

รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า สภาวะการเงินระหว่างประเทศที่ผ่อนคลายในช่วงปี 2546 จนถึง 2550 มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเฟื่องฟูของการเงินและภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงเวลาเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมในช่วงดังกล่าวซึ่งต่ำกว่าในขณะนี้มาก ทำให้การไหลเวียนของเงินทุนระหว่างประเทศและการปล่อยกู้โดยสถาบันการเงินท้องถิ่นเป็นไปอย่างคล่องตัวและสามารถขยายตัวได้อย่างราบรื่น ส่งผลให้อัตราการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ปรากฎการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้ผลผลิตศักยภาพ (potential output) ในประเทศกำลังพัฒนาเติบโตร้อยละ 1.5 ในช่วงนั้น

แม้ว่าการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูนั้น ส่วนหนึ่งจะอยู่บนพื้นฐานที่แข็งแกร่งของประเทศนั้นๆ เอง แต่เห็นได้ชัดว่า สภาวะการเงินของโลกที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงดังกล่าวนั้นเป็นสภาวะที่ไม่ยั่งยืน

 

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน
Merrell Tuck
โทร: +1 (202) 473-9516
mtuckprimdahl@worldbank.org
Rebecca Ong
โทร: +1 (202) 458-0434
rong@worldbank.org
ใน วอชิงตัน (สื่อทีวี)
Mehreen A. Sheikh
โทร: +1 (202) 458-7336
msheikh1@worldbank.org


Api
Api

Welcome