ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกประกาศนโยบายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลใหม่

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552



กรุงวอชิงตัน 17 พ.ย. 2552 — วันนี้ คณะกรรมการบริหารของธนาคารโลกได้มีมติอนุมัตินโยบายเปิดเผยข้อมูลใหม่ที่ธนาคารโลกนำเสนอ   ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารเป็นผู้นำด้านความโปร่งใสในหมู่สถาบันพัฒนาระหว่างประเทศด้วยกัน นโยบายดังกล่าวนี้ได้ผ่านกระบวนการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางทั้งภายในองค์กร และกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกในประเทศสมาชิก 33 ประเทศ รวมทั้งมีการรวบรวมความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของทางธนาคารอีกด้วย

นโยบายใหม่นี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานของแนวทางการเปิดเผยข้อมูลของธนาคาร โดยเปลี่ยนจากแนวทางในปัจจุบันที่กำหนดว่าเอกสารใดที่จะเปิดเผยได้ ไปเป็นการเปิดเผยข้อมูลทุกประเภทที่ไม่ได้อยู่ในรายการยกเว้น (list of exceptions)  

เมื่อได้รับคำอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารแล้ว ธนาคารโลกจะทำการสรุปร่างนโยบายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2552 และจะประกาศให้นโยบายใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป หลังจากนั้น ธนาคารโลกก็จะจัดทำรายงานสรุปความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายใหม่เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารภายในสิ้นปี พ.ศ. 2554 อีกด้วย

“การปรับกระบวนทัศน์ครั้งนี้เน้นให้เห็นว่าธนาคารมุ่งมั่นเรื่องความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อประชาชน และตระหนักถึงความสำคัญของสองประเด็นนี้ต่องานพัฒนาและในการบรรลุวัตถุประสงค์ของธนาคารในการเอาชนะความยากจนและปรับปรุงประสิทธิภาพของการพัฒนา”  ประธานกลุ่มธนาคารโลกนายโรเบิร์ต บี เซลลิคกล่าว  

“ผมขอขอบคุณองค์กรภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่รัฐบาล และประชาชนในประเทศสมาชิกที่ได้ให้ความคิดเห็นและมุมมองในช่วงที่เราพัฒนานโยบายใหม่นี้ขึ้นมาโดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือระดับโลก ผลของการทำงานร่วมกันนี้ทำให้เราได้มาซึ่งนโยบายที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลที่ดีที่สุด และเปิดกระบวนการพัฒนาด้วยการสร้างความเป็นเจ้าของ ความเป็นหุ้นส่วนและการมีส่วนร่วมในโครงการที่ธนาคารสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง” ประธานธนาคารโลกกล่าว

หลักการด้านการเข้าถึงข้อมูลภายใต้นโยบายใหม่นี้ จะทำให้ธนาคารโลกต้องเปิดเผยข้อมูลมากประเภทกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องโครงการที่อยู่ในระหว่างเตรียมการ โครงการที่กำลังดำเนินอยู่ กิจกรรมด้านการวิเคราะห์และให้คำปรึกษา และรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร โดยสาธารณชนทั่วไปจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ทางเว็บไซต์ของธนาคาร และทาง InfoShop รวมทั้งที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนา และผ่านคลังเก็บข้อมูลในอดีตของธนาคารโลก

ขณะเดียวกัน นโยบายนี้พยายามที่จะสร้างสมดุลย์ระหว่างการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่กับการเคารพข้อมูลเฉพาะของประเทศสมาชิก (ซึ่งเป็นทั้งลูกค้าธนาคารโลกและผู้ถือหุ้น) พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์กรอื่นๆ ซึ่งบางครั้งไม่อาจเปิดเผยได้หรือไม่สมควรจะนำไปเปิดเผย (เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลที่หากเปิดเผยแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี)

และด้วยเหตุที่ธนาคารโลกตระหนักดีว่าความอ่อนไหวของข้อมูลบางประเภทจะลดลงตามเงื่อนไขเวลา เราจึงกำหนดให้มีการจัดประเภทของข้อมูลว่าข้อมูลชนิดไหนสามารถเปิดเผยได้เมื่อระยะเวลาผ่านไปแล้วนานเท่าใด โดยมีกำหนดเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจนตั้งแต่ห้าปี 10 หรือ 20 ปีขึ้นอยู่กับประเภทของข้อมูล

“การเปิดกว้างช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วม การปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการตรวจสอบโครงการที่ธนาคารโลกสนับสนุนโดยสาธารณชน” นายเจฟ กัทแมน รองประธานฝ่ายนโยบายปฏิบัติการและบริการประเทศกล่าว “และนโยบายนี้จะสร้างเสริมการมีส่วนร่วมในการออกแบบและดำเนินโครงการและนโยบาย และปรับปรุงผลสำเร็จของการพัฒนา”

นโยบายใหม่นี้ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการตอบสนองคำร้องขอข้อมูล และกลไกการอุทธรณ์สำหรับผู้ขอที่เชื่อว่าธนาคารไม่มีเหตุผลอันควรที่จะปฏิเสธการให้ข้อมูลที่ควรได้รับการเปิดเผย โดยกลไกการอุทธรณ์นี้ยังเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาทบทวนการตัดสินใจไม่เปิดเผยข้อมูลของธนาคารโลกโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศที่เป็นอิสระด้วย

ในช่วงหลายเดือนต่อไปนี้ ธนาคารจะเตรียมดำเนินมาตรการปฏิบัติตามนโยบายการเข้าถึงข้อมูลใหม่ มาตรการเหล่านี้ประกอบด้วยการอบรมพนักงาน การปรับปรุงระบบและเทคโนโลยีการจัดการข้อมูล การพัฒนะระบบติดตามข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการดำเนินงานของคลังเก็บข้อมูลในอดีตของธนาคารโลก InfoShop และหน่วยงานด้านสารนิเทศของสำนักงานประจำประเทศ และกำหนดมาตรฐานบริการที่เกี่ยวข้องเป็นต้น

ธนาคารโลกจะนำคำประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการ ซึ่งผนวกข้อคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารไว้ด้วย มาเปิดเผยแก่สาธารณชนในเดือนธันวาคม 2552

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (0) 2686-8326
bsangarun@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
World Bank

Api
Api

Welcome