เรื่องเด่น

ประเทศไทย: การลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อการคุ้มครองเสือโคร่งที่ดีขึ้น

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


Image

เรื่องเด่น
  • เสือในธรรมชาติกำลังลดจำนวนลง เพราะมีการปกป้องไม่เพียงพอ หรือไม่มีการปกป้องเลย เสือในป่าธรรมชาติมีเหลืออยู่เพียงประมาณ 3,200 ตัวทั่วโลกและประมาณ 250 ตัวในประเทศไทย
  • ธนาคารโลกได้ร่วมมือกับพันธมิตรในโครงการโกลบอลไทเกอร์ โดยมุ่งปรับปรุงวิธีบริหารจัดการเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สู่การอนุรักษ์เสือและที่อยู่อาศัยของเสือในป่าธรรมชาติให้ดีขึ้น
  • เจ้าหน้าที่อุทยานในเขตรักษาพันธุ์เจ้าสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้นำวิธีการลาดตระเวนสมัยใหม่มาใช้งาน และประสบความสำเร็จในการเพิ่มประชากรเสือ

กรุงเทพ, มกราคม 2555 –ในพื้นที่ใกล้แนวชายแดนไทยเมียนมาร์ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่าจาก 7 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่าจากประเทศไทย ผู้ปกป้องผืนป่าอุดมทางตะวันตกของประเทศในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่นั้นมีรอยข่วนเสือฝังลึกบนต้นไม้ วัวแดงที่เหลือแต่ซากอยู่บนทางเดินตามร่องแม่น้ำ และรอยเท้าเสือตัวหนึ่งบนพื้นดินที่เฉอะแฉะ

เมื่อพบร่องรอยเหล่านี้ เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกข้อมูลจุดพิกัดและข้อสังเกตอื่นๆ ลงในเครื่องมือหาพิกัดจากดาวเทียมแบบมือถือ (hand-held GPS) และบันทึกภาพด้วยกล้องดิจิตอล หลังเสร็จสิ้นการลาดตระเวน ข้อมูลต่างๆ จะถูกกำหนดเป็นแผนที่โดยใช้ระบบกริด (Grid System) เพื่อกำหนดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า เทคโนโลยีล่าสุดในระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเหล่านี้ ช่วยหัวหน้าเขตอนุรักษ์และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในการวางแผนการลาดตระเวนครั้งต่อไปอย่างเป็นระบบ และช่วยให้พวกเขามีเครื่องมือ เพื่อใช้ในการปกป้องเสือในป่าธรรมชาติจากการลักลอบล่า ลอบค้า และเคลื่อนย้ายสัตว์ผิดกฎหมาย ซึ่งนับว่าเป็นงานที่เร่งด่วนที่สุดงานหนึ่งในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า

“การลักลอบล่าสัตว์และค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายซึ่งกำลังระบาดรุนแรง คือภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อโอกาสอยู่รอดของเสือในป่าธรรมชาติทั้งหลาย เจ้าหน้าที่ผู้เป็นแนวหน้าในการพิทักษ์สัตว์ป่าของประเทศที่มีเสือ จำเป็นต้องมีเครื่องมือสนับสนุนการทำงานอันประกอบด้วยเทคโนโลยีการลาดตระเวนสมัยใหม่ และมีทักษะในการสร้างความร่วมมือจากชุมชน เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามนี้” เคสแชฟ วาร์มา ผู้อำนวยการโครงการโกลบอลไทเกอร์กล่าว

การฝึกอบรมเพื่อปราบปรามอาชญากรรมคุกคามสัตว์ป่า

การปฏิบัติการลาดตระเวนและวาดแผนที่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนภาคสนาม สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าจาก กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ไทย และเวียดนาม ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม การฝึกอบรมส่วนภูมิภาคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อการอนุรักษ์เสือ เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ระยะเวลา 2 อาทิตย์ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันธนาคารโลก รัฐบาลไทย ผ่านกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โครงการโกลบอลไทเกอร์ (Global Tiger Initiative) สถาบันอนุรักษ์ชีววิทยาสมิธโซเนียน (Smithsonian Conservation Biology Institute) และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า

“โครงการเหนือกว่าความเป็นผู้นำ (Greater than Leadership Program) ของสถาบันธนาคารโลก มีระยะเวลา 1 ปี และอบรมการนำเทคนิคการลาดตระเวนสมัยใหม่ที่เรียกว่า ‘การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ’ ไปใช้งานจริง” นาง อลิสัน เวสคอท จากสถาบันธนาคารโลก กล่าว “จุดเด่นของโครงการนี้คือการเป็นมากกว่าการฝึกอบรม หากแต่เป็นการให้ขั้นตอน กระบวนการ และเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ซึ่งทีมงานสามารถนำไปใช้ได้จริงเพื่อบรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติงานของตนเอง”

ทีมงานจากเขตอนุรักษ์ของแต่ละประเทศ ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าอุทยาน รองหัวหน้า หัวหน้าเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน และพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ จะตกลงร่วมกัน ในเรื่องลักษณะปัญหาที่พวกเขาต้องเข้าไปแก้ไขอย่างชัดเจนเป็นลำดับแรก จากนั้นจะมีการอมรมเชิงปฏิบัติการเรื่องทักษะความเป็นผู้นำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ได้ดำเนินการใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งมีชื่อว่ามิสท์ ( MIST) อย่างได้ผลมาเป็นเวลากว่า 5 ปี หลังการอบรมทีมงานจากแต่ละประเทศ จะแยกย้ายกับกลับสู่พื้นที่อนุรักษ์ของตนเองแล้วนำทักษะใหม่นี้ไปประยุกต์ใช้เป็นเวลา 11 เดือน ซึ่งเป็นช่วงทดลองผลการใช้งาน โดยระหว่างนี้สถาบันอนุรักษ์ชีววิทยาสมิธโซเนียนมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สถาบันธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือด้านคำแนะนำเกี่ยวกับทักษะความเป็นผู้นำ และการบริหารความเปลี่ยนแปลง โดยความช่วยเหลืออาจรวมถึงการฝึกฝนภาคสนามเพิ่มเติมได้

ความเป็นผู้นำกับงานอนุรักษ์

นาง อลิสัน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะผู้ฝึกสอนกล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากที่ได้ทำงานร่วมกับทีมงานของเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าจาก 7 ประเทศที่มีประชากรเสืออยู่ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้เป็นแนวหน้าของการรักษากฎหมายพิทักษ์สัตว์ป่า เป็นผู้อยู่กลางสมรภูมิการลักลอบล่าสัตว์ การลักลอบขนส่ง และค้าสัตว์ผิดกฎหมาย ความเป็นผู้นำจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเพราะเนื้องานจะเกี่ยวกับการเลือกผู้ปฏิบัติที่มีความเหมาะสมกับงาน มีความสามารถตรงตามที่งานต้องการ และมีทั้งอำนาจในการรักษากฎหมายและสามารถลงมือดำเนินงานได้จริง วัตถุประสงค์ของเราคือการช่วยทีมงานเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จในการนำการลาดตะเวนเชิงคุณภาพไปเริ่มต้นใช้งานเมื่อพวกเขากลับไปยังประเทศของเขา และให้สามารถใช้งานมันได้สำเร็จประโยชน์จริง”

โทนี่ แลมบิโน่ หนึ่งในคณะผู้ฝึกสอนของสถาบันธนาคารโลกกล่าวว่า “ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างกล่าวย้ำว่างานอนุรักษ์คุ้มครองเสือจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่าย ดังนั้นเราจึงอบรมผู้เข้าฝึก ถึงการวิเคราะห์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ เพื่อที่ว่า เมื่อทำงานไปแล้ว พวกเขาจะมีความสามารถที่จะตัดสินใจอย่างมีหลักการ ว่าพวกเขาต้องทำงานร่วมกับคนกลุ่มไหนเพื่อให้งานบรรลุผล ต้องโน้มน้าวคนกลุ่มไหน และพวกเขาต้องทำงานต่อสู้กับคนกลุ่มใด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาต้องเข้าใจการสร้างแนวร่วมพันธมิตรเพื่อการอนุรักษ์คุ้มครองเสือ”

โครงการโกลบอลไทเกอร์หวังว่าวิธีการดเนินการใหม่นี้จะช่วยให้โครงการสามารถบรรลุเป้าหมายทางกลยุทธ์ในการเพิ่มจำนวนประชากรเสือในป่าธรรมชาติเป็น 2 เท่าก่อนถึงปีเสือปีต่อไปคือ พ.ศ. 2565 ปัจจุบันมีเสือในป่าธรรมชาติอยู่ประมาณ 3,200 ตัวทั่วโลกและประมาณ 250 ตัวในประเทศไทย



Api
Api

Welcome