เรื่องเด่น

รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกย้ำ “ถึงเวลาที่จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับพันธกิจหลักของธนาคารโลก”

วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2550

หลังจากที่ปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับสภาวะผู้นำของนายพอล วูล์ฟโฟวิทซ์ ประธานธนาคารโลก ได้รับการแก้ไขจนลุล่วงไปแล้ว นายจิม อดัมส์ รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ก็ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับมาให้ความสนใจกับพันธกิจหลักของธนาคารโลกอีกครั้งหนึ่ง

“ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น ยังมีปัญหาทางด้านการพัฒนาอีกมากมายที่กำลังท้าทายเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนที่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร การประคับประคองประเทศให้สามารถเผชิญกับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เติบโตทันความต้องการของภาคเศรษฐกิจ รวมทั้งการหาวิธีแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้  เป็นต้น” นายอดัมส์กล่าว

“ถึงแม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมก็ได้ทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว ธนาคารโลกจึงจำเป็นที่จะดำรงบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ต่อไป และเราจะอุทิศพลังงานรวมทั้งเวลาให้แก่งานของเราอย่างเต็มความสามารถเช่นกัน”

“เราต้องยอมรับว่า การแก้ไขวิกฤติการณ์ของธนาคารนั้น เป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เราก็ยังพยายามที่จะเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมาภิบาลในองค์กรของเราเองอย่างเปิดเผยและมุ่งมั่น เช่นเดียวกันกับที่เราพยายามส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกทำ” นายอดัมส์กล่าวต่อ  “เรามีความตั้งใจที่จะช่วยให้รัฐบาลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสามารถแก้ไขปัญหาที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญหน้าอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

ธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนนโยบายกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ รวมทั้งการยกฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ในกว่า 20 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ผ่านเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า รวมทั้งการให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ

เพื่อให้นโยบายเหล่านี้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารโลกยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและนโยบายเข้ามาทำงานในแต่ละประเทศร่วมกับรัฐบาลและหุ้นส่วนในการพัฒนาอื่นๆ

ธนาคารโลกคาดว่าเงินช่วยเหลือที่ธนาคาารจะมอบให้แก่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี พ.ศ. 2550 นั้น จะมีมูลค่าประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ   และจะมอบให้ในรูปแบบของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งเงินให้เปล่า

ในอดีตที่ผ่านมานั้น เงินช่วยเหลือจากธนาคารโลกได้ส่งผลให้ประชาชนกว่า 1,000 คนที่ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน Yogyakarta (ประเทศอินโดนีเซีย) ได้มีบ้านอยู่อาศัยอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้แล้ว  ธนาคารโลกยังได้ช่วยพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนใน 6 จังหวัดที่ห่างไกลของประเทศมองโกเลีย  ปรับปรุงระบบสุขาภิบาลในเขตที่มีประชากรอาศัยหนาแน่นในประเทศจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาอื่นๆ ในประเทศคิริบาติ (Kiribati ) เพื่อช่วยให้ภาครัฐสามารถต่อสู้กับปัญหาเรื่องความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก รวมทั้งความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

Api
Api

Welcome