Skip to Main Navigation
publication วันที่ 15 กรกฎาคม 2564

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย กรกฎาคม 2564: เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ


ประเด็นสำคัญ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดในช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ. 2564 แต่การฟื้นตัวของอุปสงค์โลกและมาตรการให้เงินเยียวยาขนานใหญ่ของไทยก็ช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว

  • ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 2.6 ในไตร-มาสแรกของปีพ.ศ. 2564 หลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงร้อยละ 6.1 ในปีพ.ศ. 2563 ซึ่งทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการหดตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในอาเซียน
  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 มีความรุนแรงอย่างมากโดยรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมและจำกัดการเคลื่อนย้าย ซึ่งส่งผลลบต่อการบริโภคและการดำเนินธุรกิจ
  • การส่งออกสินค้ามีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ของโลกที่กำลังฟื้นตัวสำหรับชิ้นส่วนยานยนตร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดจนกระทั่งปีพ.ศ. 2565 และคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ และไม่สม่ำเสมอ

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีพ.ศ. 2564 คาดว่าน่าจะปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมีนาคม ลงมาเป็นร้อยละ 2.2 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม ที่มีต่อการบริโภคภาคเอกชน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในจำนวนที่ต่ำมากจนถึงสิ้นปีพ.ศ. 2564
  • การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 2.4 โดยผลกระทบจากมาตรการลดและจำกัดการเคลื่อนย้าย ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และการสูญเสียรายได้แม้จะได้รับมาตรการช่วยเหลือทางสังคมบางส่วนแล้วก็ตาม
  • การฟื้นตัวน่าจะเร็วขึ้นในปีพ.ศ. 2565 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ (1) ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนภายในประเทศ  (2) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้นทั้งโลกเพียงพอที่จะทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศสามารถฟื้นตัวได้บางส่วน และ (3) การใช้จ่ายเงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่เพิ่งผ่านการอนุมัติอย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • รัฐบาลวางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากรร้อยละ 70 (50 ล้านคน) ภายในสิ้นปีพ.ศ. 2564 และความล่าช้าของแผนการฉีดวัคซีนจะส่งผลลบต่อการเคลื่อนย้าย การบริโภค และการท่องเที่ยวของประเทศ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่มาตรการรับมืออย่างทันท่วงทีของรัฐบาลช่วยบรรเทาผลกระทบลง

  • อัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2564 โดยขยับสูงขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2563 กว่าครึ่งเป็นแรงงานที่เคยทำงานในภาคบริการ ในไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2564 มีตำแหน่งงานลดลงจากไตรมาสที่สี่ของปีพ.ศ. 2563 ถึง 710,000 ตำแหน่ง
  • การจ้างงานในภาคการเกษตรลดลงถึงร้อยละ 10.9 แต่การจ้างงานในภาคอื่นๆ ทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าส่งออกของโลก อุตสาหกรรมยานยนตร์และการก่อสร้างมีอัตราการเติบโตของการจ้างงานรายไตรมาสสูงที่สุด คือ ร้อยละ 3.3 และ 7.5 ตามลำดับ
  • การจำลองสถานการณ์ของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าหากปราศจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล อัตราความยากจนจะเพิ่มจากร้อยละ 6.2 ในปีพ.ศ. 2562 เป็น 7.4 ในปีพ.ศ. 2563 ซึ่งหมายความว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 700,000 คน ก่อนที่จะลดลงเป็นร้อยละ 7.0 ในปีพ.ศ. 2564
  • อัตราความยากจนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในพื้นที่ชนบทและร้อยละ 1.0 ในพื้นที่เมือง โดยเพิ่มมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีอัตราความยากจนสูงสุดของประเทศในปีพ.ศ. 2562
  • รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 1 ล้านล้านบาทสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือครัวเรือนที่เปราะบางที่สุด ประมาณร้อยละ 70 ของการใช้จ่าย เป็นไปเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือน ส่วนมากผ่านทางมาตรการให้เงินเยียวยาและการอุดหนุนบางส่วน โดยมีงบประมาณส่วนหนึ่งในสัดส่วนที่ย่อมลงจัดสรรเพื่อให้ความช่วยเหลือการฟื้นตัวของภาคเอกชน
  • ด้วยระบบการประกันสังคมและการให้ความช่วยเหลือทางสังคม ในขณะนี้คนไทยกว่า 44 ล้านคนได้รับประโยชน์โดยตรงหรือได้รับการชดเชยในระดับหนึ่ง มีการประมาณการเบื้องต้นว่าครัวเรือนกว่าร้อยละ 80 ได้รับความช่วยเหลือทางสังคมในปีพ.ศ. 2563
  • เงินเยียวยาทั้งหมดในปีพ.ศ. 2563 มีประมาณ 3.86 แสนล้านบาทหรือราวร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทำให้การให้ความช่วยเหลือทางสังคมทั้งหมดอยู่ที่ราวร้อยละ 3.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าจากร้อยละ 0.77 ในปีพ.ศ. 2562 เงินเยียวยาจำนวนมากส่งไปถึงแรงงานนอกระบบและเกษตรกร ซึ่งก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนกลุ่มนี้ไม่ถูกจัดเป็นกลุ่มเปราะบาง
  • ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 รัฐบาลเห็นชอบกับการกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาอุดหนุนช่วยเหลือครัวเรือนต่อไปอีกและอาจจะกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้ราว 1.5 จุดร้อยละในกรณีสมมติฐาน (Counterfactual Scenario)

ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือทางสังคมในการรับมือโควิด-19 เป็นที่น่าพอใจในหลายด้าน ประเทศไทยยังสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบความคุ้มครองทางสังคมเพิ่มขึ้นได้อีก

  • ด้วยเจาะจงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผลเพื่อให้แน่ใจว่าผู้รับประโยชน์กลุ่มเปราะบางได้รับความช่วยเหลืออย่างพอเพียง
  • กำหนดและติดตามชุดมาตรการให้ประโยชน์ขั้นต่ำสุดและสูงสุดที่ครัวเรือนอาจได้รับเพื่อจำกัดภาระทางการคลังโดยรวม
  • ครอบคลุมให้ถึงภาคนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ในระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศเพื่อให้ทุกคนสามารถได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นในทุกเวลาไม่ใช่เฉพาะแต่ในช่วงวิกฤตเท่านั้น