Skip to Main Navigation
publicationวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566

ปิดช่องว่าง: ความเหลื่อมล้ำและงานในประเทศไทย

The World Bank

ดาวน์โหลดรายงาน

ข้อค้นพบสำคัญ

  • ตลอดระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดระดับความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูง โดยในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยยังคงมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ของรายได้อยู่ที่ร้อยละ 43.3 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และอยู่ในอันดับที่ 13 จาก 63 ประเทศที่มีการรายงานข้อมูลสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคของรายได้ ระดับความเหลื่อมล้ำจะสูงมากเมื่อพิจารณาถึงการกระจุกตัวของรายได้และความมั่งคั่ง เนื่องจากประชากรที่รวยที่สุดเพียงร้อยละ 10 ถือครองความมั่งคั่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งทั้งประเทศ
  • ปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการส่งผลให้ยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่ ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย จากโอกาสในการพัฒนามนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน และจะคงอยู่ตลอดวงจรชีวิตและสามารถสืบทอดไปถึงรุ่นต่อๆ ไป ความเหลื่อมล้ำในระดับอาชีพและการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ความแตกต่างเชิงพื้นที่ทั้งระหว่างและภายในภูมิภาคยังส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้อีกด้วย ในปี 2563 ค่าเฉลี่ย GDP ต่อหัวในกรุงเทพฯ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 6.5 เท่า ซึ่งมี GDP ต่อหัวต่ำที่สุดในประเทศ
  • ผลการเรียนรู้เผยให้เห็นเบื้องลึกของปัญหาความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาของประเทศ ไม่เพียงแต่นักเรียนจากครอบครัวที่ยากจนจะออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุยังน้อยอย่างไม่เป็นสัดส่วน แต่ผู้ที่อยู่ในโรงเรียนยังมีโอกาสน้อยที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นที่เหมาะสมกับวัย มีแนวโน้มสูงที่จะมีผลการเรียนต่ำลง และมีโอกาสน้อยที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเมื่อเทียบกับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยกว่า โดยผลคะแนนของนักเรียนไทยในโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ปี 2561 แสดงให้เห็นผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยกว่าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนกว่า ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ลดโอกาสการจ้างงานสำหรับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนในภายหลัง ซึ่งจำกัดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น
  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ช่องว่างในผลลัพธ์การเรียนรู้และปัญหาหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงขึ้น โดยคาดการว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ช่องว่างการเรียนรู้กว้างขึ้น ความแตกต่างระหว่างปีการศึกษาที่คาดหวังในโรงเรียนและปีการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ จาก 3.7 ปีเป็น 4 ปี ส่งผลให้เกิดความสูญเสียปีการศึกษาที่ปรับการเรียนรู้ไป 1.22 ปี ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 อัตราโดยรวมของครัวเรือนที่เป็นหนี้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45.2 เป็นร้อยละ 51.5 เนื่องจากการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ลำดับความสำคัญของนโยบายในการจัดการกับปัจจัยเชิงโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำ โดยสามารถแบ่งโครงสร้างได้เป็นสามกลุ่ม: 1) การสร้างความยืดหยุ่น 2) การเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและทั่วถึง และ 3) การส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

  • การสร้างความยืดหยุ่น ในระยะสั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียการเรียนรู้และราคาสินค้าจำเป็นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งคู่อาจทำให้ช่องว่างด้านทุนมนุษย์กว้างยิ่งขึ้น มาตรการเชิงนโยบายสามารถรวมถึงการสนับสนุนโรงเรียนและการฟื้นฟูการเรียนรู้ ปรับปรุงนโยบายการคลังเพื่อเสริมสร้างโปรแกรมการคุ้มครองทางสังคม การกำหนดเป้าหมายการช่วยเหลือครัวเรือนยากจน เพิ่มการจัดเก็บรายได้ และการลงทุนด้านการศึกษาและบริการด้านสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  • การเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและทั่วถึง นโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและทำให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงมากขึ้นสามารถมุ่งเน้นไปที่ลำดับความสำคัญหลักสี่ประการ ได้แก่ การเพิ่มทักษะและการยกระดับทักษะของแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการหยุดชะงักของตลาดแรงงาน การใช้การศึกษาและการฝึกอบรมในการสร้างเส้นทางสู่งานที่ดีขึ้น และช่วยให้แรงงานปรับตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในตลาดแรงงาน และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร
  • การส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น นโยบายเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมกันของโอกาสในการศึกษาควรมุ่งเน้นไปที่การรับเด็กที่ยากจนเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล การปิดช่องว่างในการเรียนรู้ การสนับสนุนนักเรียนที่มีความเสี่ยงเพื่อปรับปรุงผลการเรียนและลดอัตราการลาออกกลางคัน และช่วยให้นักเรียนมุ่งไปสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา การควบรวมและจัดระเบียบโรงเรียนขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีทรัพยากรที่พร้อมมากขึ้น จะสามารถช่วยพัฒนาการกระจายทรัพยากรให้มีความเท่าเทียมกันทั่วทุกโรงเรียน การลดความแตกต่างเชิงพื้นที่ในการเข้าถึงบริการพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถช่วยบรรเทาความไม่เท่าเทียมกันที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ได้