Skip to Main Navigation
สุนทรพจน์ และ บันทึกสุนทรพจน์ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การประชุมปกป้องสิทธิของประชากรในด้านวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

สวัสดีทุกท่าน

คุณ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
คุณ อังคณา นีลไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คุณ พงษ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้แทนด้านความหลากหลายทางเพศ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
คุณ ทอร์ ฮอง หัวหน้าภารกิจ สถานฑูตนอร์เวย์
คุณ เฮกกิ คาร์ฮู เลขาธิการหมายเลขหนึ่งและรองหัวหน้าภารกิจ สถานฑูตฟินแลนด์

ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและองค์กรประชาสังคม  ขอบคุณทุกท่านที่มาในเย็นวันนี้  ดิฉันได้รับเกียรติอย่างมากที่ได้มาอยู่ที่นี่และพบกับหลายท่านเป็นครั้งแรก

ดิฉันภูมิใจกับงานของทีมประเทศไทยของเรา ที่นำและผลักดันโดยอูลริค เพื่อให้เกิดความเข้าใจวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศมากขึ้นในประเทศไทย  และดิฉันยินดีที่วันนี้พวกเรามีโอกาสได้ประเมินบทเรียนร่วมกัน จากการจัดทำเวิร์คชอปทั่วประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและองค์กรประชาสังคมในเรื่องวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

ประธานกลุ่มธนาคารโลก จิม คิม ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในวันสากลเพื่อการยุติการเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกัน การรักได้มากกว่าหนึ่งเพศ และการข้ามเพศ ในวันที่ 17 พฤษภาคมปีนี้ว่า “ไม่มีประเทศใด ชุมชนใด หรือเศรษฐกิจใดจะสามารถมีศักยภาพเต็มที่ หรือก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ แห่งศตวรรษที่ 21 โดยปราศจากการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และเท่าเทียมของประชากร  การกีดกันที่มีเหตุมาจากวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (SOGI) นั้นมีราคาแพง ทั้งต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง และต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ  และกลุ่มธนาคารโลกยืนเคียงข้างชุมชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และทำงานร่วมกับประเทศต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางข้อมูลและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในการพัฒนา”

ด้วยการสนับสนุนอย่างมากจากนอร์ดิกทรัสฟันด์ ธนาคารโลกได้สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและข้อมูลที่เสริมสร้างความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับประชากร LGBTI ทั่วโลก  ในประเทศไทย รายงานการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่ธนาคารโลกทำ ได้ระบุถึงการเลือกปฏิบัติหลัก ๆ ที่LGBTI เผชิญ ไม่เพียงในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาและบริการสุขภาพอีกด้วย  ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่ารัฐบาลได้เสนอข้อเสนอแนะจากงานวิจัยในการอภิปรายด้านนโยบาย และความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วนที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ได้นำไปสู่การพัฒนาชุดหลักสูตรการอบรมและคู่มือเรื่องวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งได้ถูกนำไปใช้ในเวิร์คชอปที่ทำโดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์ประชาสังคมทั่วประเทศ  กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้เป็นไปโดยตรงกับวัตถุประสงค์ของประธานคิมและกลุ่มธนาคารโลก ในการเติมเต็มช่องว่างทางข้อมูลและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในด้านวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในการพัฒนา

ไม่กี่ปีมานี้ ธนาคารโลกได้สร้างกลไกในการทำงานประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งรวมถึงการสร้างกลุ่มงานด้าน SOGI การแต่งตั้งที่ปรึกษาด้าน SOGI คลิฟตัน คอร์เทซ ซึ่งหลายคนในที่นี้ได้เคยพบแล้ว  ซึ่งสิ่งนี้ช่วยสร้างทิศทางและยุทธศาสตร์ให้กลุ่มธนาคารโลกในการรวมประเด็น SOGI เข้าไว้ในการวิเคราะห์ประเทศอย่างเป็นระบบ (Systematic Country Diagnostic - SCD) ของเรา ซึ่งประเมินความท้าทายที่สำคัญเร่งด่วนที่สุดและโอกาสในการยุติความยากจนและสร้างการแบ่งปันความร่ำรวยในประเทศต่าง ๆ กรอบการทำงานด้านความร่วมมือในประเทศ (Country Partnership Frameworks - CPF) และแผนปฏิบัติการด้านเพศสภาพของประเทศ  ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค แง่มุมด้าน SOGI ได้ถูกรวมเข้าไว้ใน SCD และ CPF ต่าง ๆ และแผนปฏิบัติการของประเทศในประเทศไทยและกัมพูชา และกำลังอยู่ในขั้นตอนการผนวกเข้าไปในประเทศเมียนมาร์  กำลังเกิดการวิจัยในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อขยายข้อมูลเชิงประจักษ์ของการกีดกันคนที่มีความหลากหลายทางเพศต่อการพัฒนา ซึ่งเราจะแบ่งปันและกระจายผลเหล่านี้ในประเทศไทยด้วยเมื่อเวลามาถึง  เรามีความมุ่งมั่นต่อการสร้างความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของทุกคนในธนาคารเอง และกำลังสร้างการอบรมเจ้าหน้าที่ในด้านเพศสภาพ SOGI และการมีส่วนร่วมของคนทุกคน

หลังจากนี้ ท่านจะได้รับฟัง ดร. อัมรา แบ่งปันสิ่งสำคัญจากการถอดบทเรียนและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย  บทเรียนและข้อเสนอแนะเหล่านี้มีความสำคัญต่อพวกเราทุกคนในการก้าวไปข้างหน้าด้วยกันเพื่อสร้างนโยบายอันเกิดจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และความตระหนักในสังคมในเรื่อง SOGI ซึ่งหวังว่าจะนำประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปีพ.ศ. 2573 ตามเจตจำนงค์ของประเทศไทยที่ว่าจะ “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”

ดิฉันขอขอบคุณนอร์ดิกทรัสฟันด์ และตัวแทนจากสถานฑูตต่าง ๆ อีกครั้งสำหรับการสนับสนุน และขอขอบคุณพันธมิตรผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กรรมการสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคมและวิชาการ ที่ได้ประสานความร่วมมือกันอย่างทุ่มเท และทำงานอย่างหนัก  และสุดท้ายนี้ดิฉันขอขอบคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ และทีม SOGI สำหรับการนำและประสานงานในกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น

Api
Api