วอชิงตัน ดี.ซี. 23 เมษายน 2568 – ในปี พ.ศ. 2567 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific: EAP) มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ทั้งนี้ ในการรักษาแนวโน้มการเติบโตและการสร้างงานให้คงอยู่ต่อไปได้นั้น ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจำเป็นต้องหาทางรอดท่ามกลางโลกที่ผันผวนและรับมือกับความท้าทายระยะยาวที่เกิดจากภาพรวมของการทำธุรกิจโลก (global integration) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรให้ได้
ในการอัปเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคปี พ.ศ. 2568 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ในปี พ.ศ. 2567 อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเติบโตดังกล่าวอาจปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเติบโตในภาพรวมและอีกส่วนขึ้นอยู่กับนโยบายในการตอบสนองต่อความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ อัตราความยากจนในภูมิภาคนี้จะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงปี พ.ศ. 2567 ถึง พ.ศ. 2568 ประชากรราว 24 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะหลุดพ้นจากความยากจนได้ อ้างอิงตามเส้นแบ่งความยากจนของผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง*
ความไม่แน่นอนในระดับสากลที่เพิ่มมากขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคถูกจำกัด นอกจากนี้ การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดทางการค้า ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลทำให
อุปสงค์ภายนอกประเทศยังคงลดลงต่อไป
“ในขณะที่ต้องหาทางรอดท่ามกลางโลกที่ผันผวน ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกก็ยังมีโอกาสที่จะรักษาแนวโน้มทางเศรษฐกิจของตนเองให้แข็งแกร่งขึ้นได้โดยการลงทุนและรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงเพิ่มโอกาสทางธุรกิจผ่านการปฏิรูปอย่างจริงจัง และสร้างความร่วมมือระดับสากลในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น” มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว
ธนาคารโลกยังคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2568 ของแต่ละประเทศในภูมิภาคไว้ดังนี้: ประเทศจีนคาดว่าจะมีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ประเทศกัมพูชาร้อยละ 4.0 ประเทศอินโดนีเซียร้อยละ 4.7 ประเทศมาเลเซียร้อยละ 3.9 ประเทศมองโกเลียร้อยละ 6.3 สปป.ลาวร้อยละ 3.5 ประเทศฟิลิปปินส์ร้อยละ 5.3 ประเทศไทยร้อยละ 1.6 และประเทศเวียดนามร้อยละ 5.8 ส่วนภาพรวมของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.5
ทั้งนี้ ทางธนาคารโลกได้เสนอแนะแนวทางการตอบสนองเชิงนโยบายสามประการ อันดับแรกคือการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสามารถกระตุ้นผลิตภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการสร้างงานที่เพิ่มขึ้นมาใช้ ดังที่ประเทศมาเลเซียและไทยได้ดำเนินการไว้ แนวทางที่สองคือการปฏิรูปเพื่อยกระดับการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้านการบริการ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ดังที่เห็นได้จากกรณีของประเทศเวียดนาม และประการที่สามคือการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมความแกร่งทางเศรษฐกิจได้
“การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับการปฏิรูปที่จริงจังและความร่วมมือเชิงนวัตกรรมสามารถช่วยให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและความท้าทายในระยะยาวได้” อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าว “นั่นคือสูตรสำหรับการเพิ่มผลิตภาพและการสร้างงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
---
*ธนาคารโลกกำหนดระดับความยากจนสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปที่ 6.85 เหรียญสหรัฐต่อวัน ที่มา: ข้อมูลธนาคารโลกในหมวด: ความยากจนและความไม่เท่าเทียม
ดาวน์โหลดรายงานอัพเดทเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
ดาวน์โหลดเอกสารสองหน้าเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและความยากจนของประเทศไทย