Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ท่ามกลางแรงต้านจากภาวะเศรษฐกิจโลก

กรุงเทพฯ 14 ธันวาคม 2565 – เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ในปี 2565 แต่ในปี 2566 จะขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้อันเป็นผลมาจากแรงต้านของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 ในปี 2565 และเพิ่มเป็นร้อยละ 3.6 ในปี 2566 ซึ่งการขยายตัวในปี 2566 ถูกปรับลดลง 0.7 จุดร้อยละ เทียบกับประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายน 2565 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนธันวาคม 2565: นโยบายการคลังเพื่ออนาคตที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงและเท่าเทียม ที่เผยแพร่ในวันนี้พบว่า เศรษฐกิจไทยแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว การไหลเข้าของนักท่องเที่ยวจากการกลับมาเปิดประเทศในเดือนพฤษภาคม และมาตรการของภาครัฐเพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านค่าครองชีพ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศในเดือนกันยายนกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 45 ของระดับก่อนการระบาด แซงหน้าประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

ปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลง ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2566 ลดลงอย่างมากจากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.1 ในปี 2565 การปรับลดนี้สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ

“ในขณะที่ประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่เส้นทางของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงหลังจากการระบาดของโควิด-19 การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและเพื่อรองรับผลกระทบด้านลบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการ” ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว

จากรายงานดังกล่าว การดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤติที่มีต่อสวัสดิการของครัวเรือนได้อย่างมาก แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่คาดว่าความยากจนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.6 ในปี 2565 จากร้อยละ 6.3 ในปี 2564 เนื่องจากมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 กำลังจะสิ้นสุดลงท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งรวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้นอาจทำให้พื้นที่ทางการคลังลดลง เว้นแต่จะมีการนำมาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมาใช้มากขึ้น

"วิกฤติในปัจจุบันเป็นแรงผลักดันที่สำคัญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยการปรับปรุงคุณภาพและการจัดสรรการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งเพิ่มการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำตามโครงสร้างเศรษฐกิจ" เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลกกล่าว “เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้จ่าย ในขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงผลกระทบของนโยบายการคลังในด้านการกระจายความเท่าเทียม และ การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งความพยายามในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการ”

รายงานฉบับนี้เสนอแนะให้มีการพัฒนาอาชีพและเพิ่มโอกาสในการหารายได้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อให้มีการใช้จ่ายอย่างเพียงพอในการให้ความช่วยเหลือทางสังคมสำหรับกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มคนที่ยากจนสุดขั้ว การจัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนของรัฐที่จำเป็นทั้งในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และทุนมนุษย์เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนามนุษย์ในระยะยาว จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการลดความยากจนอย่างยั่งยืน

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่: 2023/035/EAP

รายชื่อผู้ติดต่อ

ในกรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
08-1846-1246

บล็อก

    loader image

เรื่องราวใหม่ๆ

    loader image