14 กันยายน 2563 กรุงเทพฯ – สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (สำนักงาน ก.ล.ต.) และธนาคารโลกร่วมกันจัดสัมมนาออนไลน์เพื่อแบ่งปันความรู้ในด้านการลงทุนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (society) และธรรมาภิบาล (governance) หรือ ESG ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืนและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของระบบทางการเงินในประเทศไทยของสำนักงาน ก.ล.ต.
ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หน่วยงานกำกับดูแลภาคสถาบันการเงินและเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนาเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับแนวทางและกรอบการทำงานที่นักลงทุนสถาบันของไทยสามารถนำไปใช้เพื่อบูรณาการแนวคิดการลงทุนที่คำนึงถึงหลักการ ESG เข้ากับการตัดสินใจในการลงทุนได้
ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ สำหรับสำนักงาน ก.ล.ต. และ ธนาคารโลก การบริหารการลงทุนเชิงรุกเกี่ยวกับประเด็นด้าน ESG ก่อให้เกิดโอกาสที่น่าสนใจแก่นักลงทุนสถาบันท้องถิ่นในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทย เป็นต้น ที่จะมีส่วนในการกำหนดนโยบายและเป้าหมายของการพัฒนาความยั่งยืนของประเทศอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความเข้าใจด้วยมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงในระยะยาวและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
“ถึงเวลาที่จะต้องสร้างเศรษฐกิจของเราขึ้นมาใหม่ให้มีความเท่าเทียมและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในการที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ พวกเราต้องปฏิบัติและทำทันที” นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล- เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวในพิธีเปิด “นักลงทุนสามารถมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ที่เพิ่มความต้องการในกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งสร้างคุณค่าให้กับมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมและยังสร้างผลตอบแทนที่สามารถแข่งขันได้อีกด้วย”
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ธนาคารโลกได้ร่วมพิจารณากับ กบข. ในเรื่องการนำปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญ ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ประเด็นทางสังคมเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับต้น ๆ ซึ่งด้วยประสบการณ์ที่เรามีในการลงทุนแบบ ESG เราหวังที่จะแบ่งปันในสิ่งที่เราได้เรียนรู้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและอุตสาหกรรมการลงทุน”
ธนาคารโลกมีประสบการณ์ที่กว้างขวางในการให้การสนับสนุนตลาดเกิดใหม่ด้านการพัฒนาตลาดการเงินอย่างยั่งยืน ได้เป็นผู้นำการอภิปรายในมุมมองที่ นักลงทุนทั่วโลกมีการนำข้อกำหนดการลงทุนแบบ ESG เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการลงทุนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลตอบแทนโดยรวมที่ปรับด้วยความเสี่ยงของสินทรัพย์ทางการเงินหรือพอร์ตการลงทุน หรือการเสริมแทรกวัตถุประสงค์ที่คำนึงถึงผลกระทบด้านบวกทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าไปในเครื่องมือการลงทุนหรือยุทธศาสตร์ที่ได้รับมา
นางเคธี ชมิทส์ ยูลิธ ผู้อำนวยการของโครงการเผยแพร่ข้อมูลแก่นักลงทุน (Investor Outreach) ในที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยมาตรฐานทางบัญชีเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Accounting Standards Board - SASB) ได้นำเสนอประเด็นการลงทุนแบบ ESG ที่นักลงทุนส่วนใหญ่พิจารณาว่าสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด
นายเดิร์ก มิวเลแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟีนิกซ์ แคปปิตอล ได้พูดถึงแนวโน้มของตลาดสำหรับการลงทุนที่คำนึงถึงผลกระทบที่กำลังเติบโตขึ้น นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงกลยุทธ์และภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
“ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับสำนักงาน ก.ล.ต. แห่งประเทศไทย ในการกำหนดกรอบการสนทนาเกี่ยวกับการลงทุนแบบ ESG ระหว่างผู้มีส่วนร่วมในตลาดในประเทศไทย” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “เราหวังว่าความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการและการรวมพลังของเรา จะช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลภาคสถาบันการเงินและกระทรวงการคลังของประเทศไทย สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับวัตถุประสงค์ทางการเงิน
ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารโลกในลำดับที่ 47 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2492 เป็นเวลามากกว่า 70 ปีแล้วที่ธนาคารโลกและประเทศไทยได้ร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนางานในด้านต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นในเรื่องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ เพื่อขจัดความยากจนและส่งเสริมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน รวมถึงการลงทุนอย่างยั่งยืนและการลงทุนแบบ ESG ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน วิชาการและการให้คำปรึกษา