Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563

การเพิ่มผลิตภาพเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศไทย

กรุงเทพฯ 17 มกราคม 2563 - เศรษฐกิจไทยชะลอการเติบโตลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.5 ในปี 2562 จากเดิมที่เคยเติบโตร้อยละ 4.1 เมื่อปี 2561 เนื่องจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ  คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเล็กน้อยในปี 2563 ที่ร้อยละ 2.7 จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวและการลงทุนเพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยที่เปิดตัววันนี้พบว่าการกระตุ้นผลิตภาพและการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580

เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโตขึ้นที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2563 เนื่องจากการลงทุนและการค้าฟื้นตัวจากการค้าซึ่งอ่อนแออย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดปัจจัยลบยังคงมีอยู่  ความเสี่ยงนี้ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้าที่อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้อีกครั้ง ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ซึ่งส่งผลให้จากเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่เติบโตลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ รวมถึงความยุ่งยากทางการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

“กิจกรรมด้านเศรษฐกิจของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน ภาคพื้นยุโรป และสหรัฐอเมริกายังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และอาจมีผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้อีกครั้ง เนื่องจากความต้องการสินค้าส่งออกลดลงและผลกระทบจากห่วงโซ่มูลค่า” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “การลงทุนด้านการเงิน สินค้าโภคภัณฑ์ และความเชื่อมั่นในเรื่องต่าง ๆ สามารถส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย”

เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเนื่องจากสองปัจจัยสำคัญได้แก่ การส่งออกที่ลดลง และความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรลดลงร้อยละ 7 ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2562 จากการที่ความต้องการสินค้าส่งออกประเภทข้าวและยางพาราลดลง สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกก็ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 6 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนี้ การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 8.9 ตั้งแต่ปีก่อนทำให้ค่าเงินบาทแข็งที่สุดในรอบหกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและสินค้าส่งออก

รัฐบาลได้รับมือกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างทันท่วงทีโดยการออกนโยบายการเงินและมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในอนาคตรายงานนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณานโยบายที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิผลโดยให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการการลงทุนภาครัฐ และการให้การคุ้มครองทางสังคมแก่ครอบครัวที่เปราะบาง

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการลงทุนที่ชะลอตัวลงและผลิตภาพที่เติบโตในระดับต่ำ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ผลิตภาพของไทยได้ลดลงเหลือร้อยละ 1.3 ในช่วงปี 2553-2559 จากเดิมที่เคยอยู่ที่ร้อยละ3.6 ในช่วงปี 2542-2550 การลงทุนภาคเอกชนได้ลดลงกว่าครึ่งจากร้อยละ 30 ของ GDP เมื่อปี 2540 มาอยู่ที่ร้อยละ 15 ในปี 2561 จากการที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศชะลอตัวลง และยังคงที่เมื่อมองจากการลงทุนของโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

รายงานนี้คาดการณ์ว่าหากแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงเหมือนเดิมต่อไป โดยที่การลงทุนและผลิตภาพไม่มีท่าทีจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้วนั้น เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 3  การที่ประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงให้สำเร็จภายในปี 2580 นั้น ประเทศไทยต้องมีเศรษฐกิจที่เติบโตสูงกว่าร้อยละ 5 อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยผลิตภาพที่เติบโตในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีและเพิ่มการลงทุนเป็นร้อยละ 40 ของ GDP

“การกระตุ้นผลิตภาพให้เติบโตขึ้นเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยระยะยาว” เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “การเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ประเทศไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงทักษะของแรงงาน”

การที่ผลิตภาพจะเติบโตในระดับที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืนได้ต้องอาศัยการขจัดข้อจำกัดต่าง ๆ ที่กีดกันไม่ให้บริษัทเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างชาติ และแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพชาวต่างชาติให้สามารถเข้ามามีส่วนในตลาดในประเทศ ข้อจำกัดนี้รวมถึงการลดกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ การนำพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าที่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้าและการควบคุมราคามาใช้ รวมถึงการพัฒนานโยบายที่จะสร้างแรงงานที่มีทักษะและสร้างทุนมนุษย์ที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม


รายชื่อผู้ติดต่อ

ในกรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
+662-686-8385
kanitha@worldbank.org
Api
Api