Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2562

รายงานของธนาคารโลกพบว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยคือกุญแจสู่เศรษฐกิจเติบโตสูงในระยะยาว และลดความเหลื่อมล้ำ

กรุงเทพฯ 16 มกราคม 2562 รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดของธนาคารโลกที่เปิดตัววันนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 3.8 ในปีพ.ศ. 2562 และร้อยละ 3.9 ในปีพ.ศ. 2563 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในทุนมนุษย์และการปฏิรูปเศรษฐกิจให้สำเร็จเป็นปัจจัยสำคัญในการก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูงโดยคนไทยทุกคนได้รับโอกาสอย่างเสมอภาคกัน

รายงานพบว่าในปีพ.ศ. 2561 เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตที่ร้อยละ 4.1 แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากการค้าและการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความยืดหยุ่นแม้จะต้องเผชิญกับแรงปะทะจากเศรษฐกิจโลกที่รุนแรง เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งซึ่งเกิดจากการใช้จ่ายและการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้น

ในปีพ.ศ. 2562 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เช่นเดียวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจะช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศในช่วงปีพ.ศ. 2562 และส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลาง”

“เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและผลการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกของไทย” ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก กล่าว “ในสภาวการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยควรเดินหน้าดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานและปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศในช่วงปีพ.ศ. 2562 และส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง”

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้เปิดตัวดัชนีทุนมนุษย์ซึ่งวัดระดับผลิตภาพของคนวัยทำงานรุ่นใหม่จากศักยภาพสูงสุดที่พวกเขาพึงมีหากได้รับการศึกษาและการดูแลด้านสุขภาพอย่างเต็มที่  แม้ว่า คะแนนดัชนีมนุษย์ของประเทศไทยหลายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยปานกลางของหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศที่มีรายได้สูงระดับปานกลางด้วยกัน แต่ทว่าประเทศไทยก็ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก

ในประเทศไทย เด็กไทยที่เกิดมาวันนี้จะมีโอกาสใช้ศักยภาพที่มีแค่ร้อยละ 60 หากมองจากเรื่องผลิตภาพและรายได้ที่จะสามารถหาได้ในช่วงชีวิต ความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพการศึกษายังคงเป็นความท้าทายที่สุดของประเทศไทยซึ่งในพื้นที่ยากจนได้รับทรัพยากรน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ เด็กไทยที่เกิดในวันนี้คาดว่าจะได้รับการศึกษาในโรงเรียนประมาณ 12.4 ปี ก่อนอายุ 18 ปี อย่างไรก็ตาม ผลการเรียนรู้ของเด็กไทยนั้นเทียบเท่ากับการศึกษาที่แท้จริงในโรงเรียนเพียง 8.6 ปี ซึ่งหมายความว่ามีช่องว่างในการเรียนรู้สูงถึง 3.8 ปี เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ไม่เพียงพอ  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ (NCD) และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ส่งผลต่ออัตราการมีชีวิตอยู่ของผู้ใหญ่ในประเทศ ซึ่งต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

“การรักษาระดับและคุณภาพของการปฏิรูปด้านโครงสร้างของประเทศให้ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยในการลดความยากจนและช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวให้สูงกว่าร้อยละ 4 ในสภาวะการณ์ที่ต้องเผชิญกับสังคมสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” ดร. เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “การให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนด้านทุนมนุษย์นับเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนไทยทุกคน และการให้ความสำคัญกับการศึกษาและสาธารณสุขจะเป็นการเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่คนรุ่นต่อไปในระยะยาว”

ประเด็นสำคัญลำดับแรกเพื่อปรับปรุงทุนมนุษย์ของประเทศไทย ได้แก่ การเผชิญกับความท้าทายในการจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีเด็กนักเรียนกว่า 1 ล้านคน ที่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำ การปรับปรุงการจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายภาครัฐ  นอกจากนี้ การส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีกว่าเดิมโดยเฉพาะการมุ่งเน้นการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ล้วนมีความสำคัญต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยเป็นรายงานหลักของธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย จัดพิมพ์ปีละ 2 ครั้ง รายงานนี้วิเคราะห์การดำเนินการและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย รายงานฉบับเดือน มกราคม 2562 นี้ มุ่งเน้นในเรื่องความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยในการเพิ่มทุนมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำ


รายชื่อผู้ติดต่อ

ในกรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
+662-686-8385
+668-1846-1246
kanitha@worldbank.org
Api
Api