Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประเทศไทยและธนาคารโลกจับมือกันส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

กรุงเทพ – 26 กุมภาพันธ์ 2561 – วันนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และธนาคารโลกได้ตกลงร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ เรื่องอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) ในประเทศไทยและนำการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน


การประกาศความร่วมมือระหว่างสองสถาบันมีขึ้นในงานสัมมนาเปิดตัวรายงานล่าสุดของธนาคารโลก ภายใต้ชื่อ “The Internet of Things: The New Government-to-Business Platform” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนกว่า 150 คนเข้าร่วมงาน

“อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตระหนักถึงความสำคัญของ IoT ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลซึ่งจะกระตุ้นผลิตภาพและปรับปรุงชีวิตของประชาชนทุกคน เราจึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนา IoT ในประเทศไทยผ่านโครงการริเริ่มที่หลากหลาย” ฯพณฯ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว

“อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) ไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจเท่านั้น เราเล็งเห็นว่า IoT เป็นเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นที่สุดในทศวรรษนี้ซึ่งจะช่วยเร่งในเกิดการเปลี่ยนผ่านให้ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้น เราจึงต้องการสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องของ IoT แก่ทุกภาคส่วน โดยการสร้างเครือข่ายเวทีสนทนา ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถพบปะและอภิปรายถึงโอกาสต่างๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีนี้ อีกทั้งยังเป็นหนทางให้นำ IoT มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยด้วย” ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าว

DEPA เป็นหน่วยปฏิบัติภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในทุกภาคส่วนของประเทศไทย ในการนี้ DEPA ได้รับมอบหมายให้จัดตั้ง สถาบัน IoT เพื่อช่วยสร้างสรรค์ระบบนิเวศทาง IoT ที่เข้มแข็งแก่ประเทศไทย ดังนั้น สถาบันนี้จึงได้เริ่มบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นนี้เป็นครั้งแรก จากการสัมมนาในครั้งนี้

“ธนาคารโลกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) เกิดประโยชน์กับคนไทยทุกคน” นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงิน และสถาบัน ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทยกล่าว

“อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) มีศักยภาพสูงมาก อย่างไรก็ตามภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจำเป็นต้องมีการทำงานที่เป็นระบบและสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด ผมหวังว่าผลการศึกษาจากรายงานนี้จะช่วยตรวจสอบความก้าวหน้าในการดำเนินงานของประเทศไทยในเรื่องนี้ และส่งเสริมความมีส่วนร่วมในการคิดและอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายและภาคเอกชนต่อไป ในเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมของการนำ IoT ไปใช้งานในด้านต่างๆ” นายปราศสานา ลาล ดาส ผู้เขียนหลักของรายงาน กล่าว

IoT คือระบบดิจิทัลที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ มีการรับส่งรวบรวมข้อมูลผ่านระบบเซ็นเซอร์ (sensors) และส่งสัญญาณเชื่อมโยงเครือข่าย IoT ถูกนำมาใช้คิดวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ หรือในบางกรณีสามารถปรับการทำงานและการตอบสนองได้ตามปัจจัยแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์จีพีเอส หรือ Global Positioning System (GPS) ที่เรานำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ระบบเซ็นเซอร์ที่สามารถนำไปติดตั้งไว้กับเสาไฟเพื่อตรวจจับค่าฝุ่นละอองและมลพิษได้ หรือเครื่องปรับอุณหภูมิอัตโนมัติที่เรานำมาใข้ตามบ้านเพื่อประหยัดการใช้พลังงานละลดค่าใช้ไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือน

ผลการศึกษาจากรายงานนี้เรื่องความก้าวหน้าของการดำเนินงานภาครัฐในการนำอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) พบว่ารัฐบาลในประเทศต่างๆ ล้วนมีความกระตือรือล้นที่จะนำ IoT มาใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน แม้ว่าจะมีอุปสรรคในระยะนำร่องไปแล้วก็ตาม รูปแบบของธุรกิจที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโครงสร้างพื้นฐานของ IoT นั้นต้องมีการพัฒนาต่อไปอีกในอนาคต รวมถึงการปรับปรุงนโยบายภาพรวมดังต่อไปนี้

• ปรับปรุงความรู้และความเข้าใจในเรื่อง IoT และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในหน่วยงานภาครัฐอย่างเร่งด่วน
• เปลี่ยน “กระแสความสนใจไปสู่การปฏิบัติจริง” และเตรียม “คู่มือ” ในการดำเนินความริเริ่มนี้ซึ่งมีเรื่อง IoT เป็นองค์ประกอบ
• การเผยแพร่ “บทเรียน” จากประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่สนใจจะเรียนรู้ประสบการณ์ในเรื่องนี้จากประเทศอื่นๆ และอะไรที่ทำแล้วสำเร็จและไม่สำเร็จ


รายชื่อผู้ติดต่อ

กรุงเทพฯ
อภิรดี ตรีรัตน์เกื้อกูล
+66-2-686-8363
atreerutkuarkul@worldbank.org
วอชิงตัน
อลิซาเบ็ธ ฮาวทัน
+1 (202) 458-5922
ehowton@worldbankgroup.org
Api
Api