ข่าวประชาสัมพันธ์

กลุ่มธนาคารโลกรายงานว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง

วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558



กรุงวอชิงตัน (7 มกราคม 2558)รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects) โดยกลุ่มธนาคารโลกได้วิเคราะห์สถานการณ์การปรับตัวลงของราคาน้ำมันไว้ในรายงานฉบับล่าสุดว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันจะได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง หากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

การปรับตัวลงของราคาน้ำมันมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขึ้นของการผลิตน้ำมันและการลดลงของความต้องการน้ำมันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลดลงของความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองในบางภูมิภาคของโลก การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายขององค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (Organization of the Petroleum Exporting Countries: OPEC) และการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าปัจจัยใดมีอิทธิพลต่อระดับราคาน้ำมันสูงกว่ากัน ปัจจัยด้านการผลิตนั้นมีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลที่สำคัญต่อการกำหนดระดับราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันนั้นคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการโยกย้ายรายได้ประชาชาติที่แท้จริงจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันไปยังประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน นอกจานี้ ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันต่างๆ จะได้รับประโยชน์จากปรับตัวลงของราคาน้ำมันในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดแรงกดดันทางด้านภาวะเงินเฟ้อ สถานะทางการคลัง รวมถึงแรงกดดันภายนอกต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำสร้างความท้าทายที่สำคัญให้กับประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งจะได้รับผลกระทบในด้านแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ สถานะทางการคลัง รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจที่แย่ลง โดยหากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป การลงทุนในการพัฒนาและการสำรวจหาแหล่งน้ำมันใหม่อาจชะลอตัว โดยเฉพะอย่างยิ่งการลงทุนในประเทศที่มีรายได้ต่ำต่างๆ หรือการลงทุนในแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น น้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ทรายน้ำมัน (Tar sands) และน้ำมันใต้ทะเลลึก (Deep sea oil) เป็นต้น

สำหรับผู้กำหนดนโยบายในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันแล้ว การปรับตัวลงของราคาน้ำมันเป็นโอกาสดีที่จะใช้นโยบายทางการคลังและการปฏิรูปทางด้านโครงสร้าง รวมถึงการส่งเสริมนโยบายสวัสดิการสังคมต่างๆ ทั้งนี้ สำหรับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนั้น การปรับตัวลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สำคัญในการพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจใดกิจกรรมหนึ่งมากเกินไป และสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจทั้งในระยะกลางและระยะยาวนายอายาน โคส ผู้อำนวยการกลุ่มแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจ ของ กลุ่มธนาคารโลก กล่าว

การวิเคราะห์เกี่ยวกับทิศทางราคาน้ำมันในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ยังประกอบไปด้วยการวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบจากทิศทางการค้าโลกและการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวต่อประเทศกำลังพัฒนา

การค้าโลกยังคงซบเซาเนื่องจากปัจจัยด้านวงจรทางเศรษฐกิจและปัจจัยระยะยาว

การค้าโลกขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 3.5ในปี 2555 และ 2556 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าการขยายตัวในช่วงก่อนวิกฤตทางการเงินที่อยู่ในระดับร้อยละ 7 ต่อปี โดยเฉลี่ย ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างจำกัด

อุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำทั้งในด้านการลงทุนและการบริโภคเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การค้าโลกชะลอตัว เนื่องจากประเทศที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนการนำเข้าที่สูงถึงร้อยละ 65 ของการนำเข้าทั้งหมด ความล่าช้าในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้สูงในช่วง 5 ปี หลังจากวิกฤตทางการเงินแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ที่ซบเซาส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการค้าโลก อย่างไรก็ดี แนวโน้มระยะยาวส่งผลให้การค้าโลกมีการเติบโตที่ช้าลง โดยรวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างการค้าและระดับรายได้ของประเทศ ทั้งนี้ การค้าโลกมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านระดับรายได้ของประเทศต่างๆ น้อยลง เนื่องจากการขยายตัวที่ช้าลงของห่วงโซ่การผลิตสากลและการเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการจากการลงทุนที่เน้นการค้าไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนที่เน้นการค้าน้อยลงและการบริโภคของภาครัฐ

จากการวิเคราะห์พบว่า ปัจจัยระยะยาวต่างๆ ที่กระทบการค้าโลกจะมีอิทธิพลต่อทิศทางของการค้าในระยะต่อไป ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอาจไม่ทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตทางการเงิน

การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวมีศักยภาพในการส่งเสริมการบริโภค

ผลการวิเคราะห์อีกเรื่อง เกี่ยวกับการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางมีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อจีดีพี และมีมูลค่าที่ใกล้เคียงกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมถึงความช่วยเหลือจากต่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวไปยังประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉลี่ยคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวม ทั้งนี้ การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดด้วย

นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่า นอกจากปริมาณการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจะเพิ่มสูงแล้ว การส่งเงินกลับประเทศฯ ยังเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความสม่ำเสมอ(มั่นคง)มากกว่าแหล่งเงินทุนอื่นๆ แม้แต่ในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ อาทิ ในช่วงวิกฤติต่างๆ ที่การไหลเข้าของเงินทุนลดลงโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 14.8 แต่การส่งเงินกลับประเทศฯ กลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ทั้งนี้ ผลการศึกษาสรุปว่า ความสม่ำเสมอของการส่งเงินกลับประเทศฯ มีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งประสบปัญหาความผันผวนด้านเศรษฐกิจมหภาคบ่อยครั้ง


สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน
Merrell Tuck-Primdahl
โทร: +1 (202) 473-9516, +1 (202) 476-9897
mtuckprimdahl@worldbank.org
Indira Chand
โทร: +1 (202) 458-0434, +1 (703) 376-7491
ichand@worldbank.org
สำหรับ สื่อออกอากาศ
Mehreen Arshad Sheikh
โทร: +1 (202) 458-7336
msheikh1@worldbankgroup.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2015/270/DEC

Api
Api

Welcome