ข่าวประชาสัมพันธ์

ประเทศไทยได้รับเงินช่วยเหลือมูลค่า 23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลดและเลิกการผลิตสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและลดโลกร้อน

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557


กรุงเทพ – 13 พฤศจิกายน 2557  ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงเงินช่วยเหลือให้เปล่ามูลค่า 23 ล้านเหรียญสหรัฐกับกลุ่มธนาคารโลกเพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศและโฟมของไทยมีความเป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศมากขึ้น กองทุนนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมไทยปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเครื่องปรับอากาศและโฟมไม่ให้ทำลายโอโซน และเป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานที่ดีในระดับนานาชาติ

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศและโฟมเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องปรับอากาศรายสำคัญของโลก ในแต่ละปีอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยผลิตเครื่องปรับอากาศกว่า 12 ล้านเครื่องซึ่งถือเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน  โดยไทยได้ส่งออกเครื่องปรับอากาศกว่าร้อยละ 90 ไปขายยังต่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่นำเข้าและใช้สาร HCFC มากที่สุดในโลก โดยในปีพ.ศ. 2555 ได้นำเข้าถึงกว่า 18,000 เมตริกตัน

โครงการเงินช่วยเหลือให้เปล่านี้มาจากกองทุนอนุรักษ์โอโซนภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศไทยเป็นมูลค่า 23.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 760 ล้านบาทเพื่อลดการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFC) ในกระบวนการผลิต โดยเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากกองทุนนี้จะมอบให้แก่ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติในการรับความช่วยเหลือ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศ 12 บริษัท และบริษัทผลิตโฟมอีกกว่า 120 แห่ง

“กระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการให้การสนับสนุนการเติบโตสีเขียวและการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน” นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้อำนวยการ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังกล่าว “หนึ่งในมาตรการเพื่อส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าวคือการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเช่นธนาคารโลกในเรื่องเงินช่วยเหลือและความช่วยเหลือทางเทคนิค เราหวังว่าเงินช่วยเหลือนี้จะถูกนำไปใช้และให้การสนับสนุนแก่บริษัทและอุตสาหกรรมในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับแนวทางของโลกที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว”

ธนาคารโลกในฐานะผู้บริหารกองทุนช่วยเหลือให้เปล่าซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดการใช้สาร HCFC ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและโฟมซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในการลดและเลิกการใช้สาร HCFC ตามที่ได้ลงนามไว้ในพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้ เงินช่วยเหลือนี้จะช่วยประเทศไทยให้สามารถลดการใช้สาร HCFC ได้ร้อยละ 15 และยังส่งผลดีต่อสภาพภูมิอากาศโลก โดยการลดการปล่อยคาร์บอนจากการปรับเปลี่ยนไปใช้สารทำความเย็นและสารเป่าโฟมที่ค่ามีศักยภาพทำให้โลกร้อน (GWP) ต่ำ และจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในเครื่องปรับอากาศ

“การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการปกป้องชั้นบรรยากาศถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย การใช้เทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการผลิตโฟมแบบใหม่นี้จะช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยสูงขึ้นในตลาดโลกที่มีความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อบรรยากาศและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายการเติบโตสีเขียวของไทยอีกด้วยนายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการกลุ่มธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว“การใช้เงินช่วยเหลือนี้ในการลงทุนธุรกิจและเทคโนโลยีนอกจากจะช่วยปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนของโลกแล้ว ยังจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแถวหน้าของประเทศไทย”

กรมโรงงานอุตสาหกรรมและธนาคารออมสินร่วมกันเป็นผู้บริหารจัดการเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่านี้



สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพฯ
Paul Risley
โทร: 084-752-1783
prisley@worldbank.org
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: 02-686-8326
bsangarun@worldbank.org

แหล่งอ้างอิง



Api
Api

Welcome