รายงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับใหม่ของธนาคารโลก
กรุงโตเกียว วันที่ 13 ตุลาคม 2554 – รายงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับใหม่ของธนาคารโลกกล่าวว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางในภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องพัฒนาระบบอุดมศึกษาให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจในช่วงที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่านี้
โดยภาพรวมในภูมิภาคนี้ สถาบันอุดมศึกษาสามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ในการพัฒนาทักษะแรงงานและการวิจัยที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิต และพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาวะการแข่งขันสูงในโลก
รายงานที่มีชื่อว่า “การอุดมศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะและงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก” ได้ชี้ให้เห็นถึงทักษะเฉพาะทางที่แรงงานต้องมีเพื่อสามารถหางานได้และสามารถส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันและประสิทธิภาพในการผลิต โดยรายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ถึงประโยชน์ของการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการสร้างงานวิจัยซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการประยุกต์และการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน การพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในภูมิภาคนี้ในช่วง 2-3 ทศวรรษนี้มีความก้าวหน้าไปมากนี้ ที่ผ่านมา โดยอัตราการเข้าศึกษาได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือสูงกว่าในหลายประเทศจากอัตราเดิมที่ต่ำมาก ทั้งนี้ ความท้าทายโดยรวมที่สำคัญ คือการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการพัฒนาและจัดหาแรงงานที่มีทักษะตามที่ตลาดต้องการและการศึกษาวิจัย
“ในภาวะของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต โดยความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประเทศพยายามที่จะพัฒนาจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง” นายเจมส์ อดัมส์ รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว
รายงานฉบับนี้กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกไม่สามารถสร้างทักษะให้กับนักศึกษาได้อย่างเพียงพอตามที่ภาคการผลิตต้องการ โดย “ผู้จ้างงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต้องการทักษะในการแก้ปัญหา การสื่อสาร การบริหารจัดการ และทักษะอื่น ๆ ที่ส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิต อย่างไรก็ตาม ความเห็นของผู้จ้างงานและค่าตอบแทนแรงงานมีทักษะที่สูงชี้ให้เห็นถึงความขาดแคลนของทักษะเหล่านี้ ในบรรดาผู้ที่เข้าทำงานใหม่” นางเอ็มมานูเอล ดิ เกรุเพโล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก และผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้กล่าว
“ความเหลื่อมล้ำระหว่างทักษะที่ภาคการผลิตต้องการและทักษะที่สถาบันอุดมศึกษาผลิตออกมาอาจส่งผลบัณฑิตต้องใช้เวลาหางานหลังจากจบการศึกษานานขึ้น ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่อาจส่งผลกระทบต่อความคาดหวังในชีวิตของคนรุ่นใหม่” นายอิมัลนวล จิเมเนส ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว
นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษายังไม่ได้มีส่วนในการส่งเสริมงานวิจัยประเภทที่ช่วยกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิต มหาวิทยาลัยสามารถมีบทบาทในการผลิตความคิดใหม่ ๆ สำหรับภาครธุรกิจ และส่งเสริมการพัฒนาความรู้และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีด้วยงานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยประยุกต์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี หากแต่โดยรวมแล้วมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังมีส่วนร่วมค่อนข้างจำกัด แม้กระทั่งในเรื่องการปรับใช้และพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า
“การพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างการอุดมศึกษาและภาคธุรกิจ ได้กลายเป็นประเด็นทางนโยบายที่สำคัญ เนื่องจากบทบาทของเทคโนโลยีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจมีความสำคัญมากขึ้น โดยนอกจากจะเป็นแหล่งให้การศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้กลายเป็นแหล่งความรู้ทางด้านทักษะเฉพาะด้านทางอุตสาหกรรม นวัตกรรม และทักษะการประกอบธุรกิจ” นายปราทีก ทันดอน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซฟิก ผู้เขียนร่วมของรายงานฉบับนี้ กล่าว
“รายงานนี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างมาก เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาระดับการเติบโตให้ยั่งยืน และพัฒนาให้มีรายได้สูงขึ้น การจะบรรลุความท้าทายทั้งสองเรื่องนี้ต้องอาศัยการปรับปรุงผลิตภาพ” นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “การพัฒนาคุณภาพของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตทางรายได้ของประเทศ”
ประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอุดมศึกษาต่อการเจริญเติบโตของประเทศ การเข้าถึงการศึกษาโดยรวมมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยการสนับสนุนจากเงินกู้ยืมทางการศึกษาและนโยบายเงินให้เปล่า อย่างไรก็ตามผลการวิจัยของบริษัทและนายจ้างพบว่า ทักษะทางด้านเทคนิค อุปนิสัยในการทำงาน และการวิเคราะห์ของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นยังสามารถที่จะพัฒนาได้อีกโดยอาศัยการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ
รายงานฉบับนี้ระบุว่า สาเหตุหลักที่การศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ คือการที่สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งบริหารงานแยกจากกันเป็นเอกเทศไม่ได้เชื่อมโยงกัน รัฐบาลสามารถมีบทบาทหลักในการทำให้การอุดมศึกษาทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ โดยมีการเชื่อมโยงกันระหว่างสถาบันการศึกษาด้วยกัน และมีความเชื่อมโยงกับภาคการผลิต สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษาอื่น ๆ
รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญกับ 3 แนวทางการดำเนินงาน ซึ่งนโยบายสาธารณะสามารถมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลผลิตของระบบอุดมศึกษา
สนับสนุนด้านการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- การให้การสนับสนุนด้านการเงินอย่างพอเพียงและสร้างแรงจูงใจสำหรับการวิจัย
- การให้ความสำคัญในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งขาดแคลนเงินสนับสนุนอย่างเพียงพอ
- การให้ทุนการศึกษาและเงินกู้ยืมแก่ผู้ด้อยโอกาสและผู้ยากจน
พัฒนาการบริหารจัดการสถาบันของรัฐ
- ปรับปรุงการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งนักศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้าศึกษากว่าร้อยละ 70 โดยส่งเสริมให้มหาวิทยาลัย บริหารจัดการเป็นอิสระ และมีความโปร่งใสในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น
- สนับสนุนให้มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจในเรื่องการหลักสูตร การจัดการบุคลากร และการบริหารจัดการงบประมาณ
- ส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้โดยการส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาและคณะกรรมการบริหารสถาบันมีอำนาจและความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นและโดยการให้ข้อมูลแก่นักศึกษาเพื่อให้มีโอกาสเลือกและเรียนข้ามสถาบัน
การเกื้อหนุนระบบการศึกษาขั้นอุดมศึกษา
- สร้างแรงจูงใจแก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอย่างพอเพียงเพื่อที่จะได้ช่วยภาครัฐในการเพิ่มจำนวนการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาและเพิ่มทักษะให้แข้มแข็ง
- เชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด
- ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ได้จากภาคการอุดมศึกษานานาชาติ