ข่าวประชาสัมพันธ์

กองทุนเพื่อคนยากจนที่สุดของธนาคารโลกได้รับเงินสนับสนุนสูงเป็นประวัติการณ์

วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553



บรัสเซลล์ วันที่ 15 ธันวาคม 2010 – สมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association) หรือ IDA ซึ่งเป็น 1 ใน 5 หน่วยงานภายใต้กลุ่มธนาคารโลก และมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ยากจนที่สุด  รวมทั้งเป็นกองทุนที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) จะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสูงถึง 49,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังทุกฝ่ายพร้อมใจตกลงกันในวันนี้

ทั้งนี้ เงินทุนเพื่อสนับสนุนกองทุน IDA ครั้งที่ 16 (Sixteenth IDA Replenishment) นี้ เพิ่มสูงขึ้นจากครั้งที่แล้วเมื่อ 3 ปีก่อนถึงร้อยละ 18 โดยผู้ให้การสนับสนุนไม่เพียงแต่ประเทศผู้บริจาครายปกติเท่านั้น แต่ยังมาจากกองทุนภายในกลุ่มธนาคารโลกเอง และจากผู้กู้เงินกองทุน IDAทั้งในอดีตและปัจจุบัน

“คำมั่นสัญญาที่จะให้การสนับสนุน IDA แสดงให้เห็นว่ามีการสนับสนุนจากแนวร่วมซึ่งประกอบด้วยประเทศผู้บริจาคและประเทศผู้กู้ที่ได้รวมตัวกันเพื่อจะสื่อว่าแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ แต่เรายังสามารถเป็นความหวังและให้โอกาสแก่คนยากจนทั่วโลก” นายโรเบิร์ต บี เซลลิค ประธานกลุ่มธนาคารโลกกล่าว “การสนับสนุนอย่างแข็งขันนี้เป็นผลพวงของการทำงานของกองทุน IDA เองที่เน้นย้ำผลงานเพื่อทำให้คนยากจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

ข้อตกลงใหม่นี้อยู่ในรูปของคำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันจากประเทศผู้บริจาคทั้งรายเดิมและหน้าใหม่ ตลอดจนเงินชำระคืนล่วงหน้าจากประเทศที่เคยกู้เงินปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้ และเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งมาจากจากรายได้สุทธิของธนาคารโลกและบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอฟซี

“การมีเงินสมทบก้อนใหม่จำนวนมหาศาลเช้ามาในกองทุนเช่นนี้ จะทำให้เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับเด็กอีก 200 ล้านคน ให้บริการสุขภาพแก่คนกว่า 30 ล้านคน คนอีก 80 ล้านคนจะสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่ดีกว่าเดิม สร้างถนนได้กว่า 80,000 กิโลเมตร ตลอดจนอบรมและจ้างครูอีกกว่า 2 ล้านคน” นายเซลลิคกล่าว

ข้อตกลงนี้เป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับประเทศผู้บริจาคและประเทศยากจนที่จะใช้เงินในกองทุน IDA เพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าจะลดความยากจนให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2558 ขณะนี้ ประเทศผู้บริจาค 51 ประเทศให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนเงินทุนให้กับกองทุน IDA ครั้งที่ 16 ซึ่งจะครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ไปจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2014

“ผลตอบรับที่ดีจากบรรดาประเทศผู้บริจาคยังเป็นสัญญาณชี้ว่าการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาไม่ควรมองว่าเป็นเพียงเงินช่วยเหลือธรรมดาๆ หากคือ การลงทุนในอนาคต เพราะเราจำเป็นต้องให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเติบโตเพื่อฉุดให้เศรษฐกิจของโลกเติบโตไปด้วย” นางนโกซี โอคอนโย อีเวอาลา กรรมการผู้จัดการธนาคารโลก และประธานการเจรจา IDA 16 กล่าว “กองทุน IDA ช่วยให้เราเชื่อมั่นว่าเงินเพื่อการพัฒนาทุกเหรียญจะเป็นประโยชน์ทั้งกับประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว”

ในอีก 3 ปีข้างหน้า IDA หรือกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนที่สุดจะช่วยประเทศที่ยากจนที่สุด 79 ประเทศให้เติบโตและเอาชนะความยากจนโดยการสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ปรับปรุงบริการด้านสุขภาพ ให้การศึกษาแก่เด็ก และรับมือกับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยจะมีจุดเน้นเรื่องความเสมอภาคหญิงชาย  รวมไปถึงการช่วยเหลือให้ประเทศที่เปราะบางและได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งให้ได้รับสันติภาพและได้รับการพัฒนา ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตซับซาฮาร่าแอฟริกาจะยังคงเป็นเป้าหมายหลักของการให้ความช่วยเหลือของกองทุน IDA

“นี่คือข่าวดีของคนยากจนทั่วโลก โดยเฉพาะคนยากจนในซับซาฮาร่าแอฟริกา ที่ซึ่งกองทุน IDA ได้ให้การสนับสนุนอย่างยาวนานและมีส่วนช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เราขอชื่นชมต่อพลังและความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชนผู้บริจาคที่สื่อให้เห็นผ่านข้อตกลงการสนับสนุนเงินทุนแก่กองทุน IDA ในรอบนี้” ฯพณฯ บิงกู วา มูทาริกา ประธานาธิบดีมาลาวีและประธานสหภาพแอฟริกา กล่าว

นอกจากนี้ ประเทศผู้บริจาคและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนายังให้การสนับสนุนเงินก้อนพิเศษเพื่อใช้ในเหตุวิกฤติจากภายในกองทุน IDA เอง เพื่อช่วยประเทศที่มีรายได้น้อยให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและผลพวงทางเศรษฐกิจที่รุนแรง โดยแนวทางสำหรับเงินกู้เพื่อรับมือกับเหตุวิกฤติ (Crisis Response Window) ใหม่นี้ จะรวมถึงเงินที่จัดสรรเป็นพิเศษให้กับประเทศเฮติ ในขณะที่เฮติฟื้นตัวต่อเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อต้นปี พ.ศ. 2553

คำมั่นสัญญาในการสนับสนุนเงินทุน IDA นี้เกิดขึ้นหลังการประชุมหลายครั้ง โดยมีการเจรจา 2 วันสุดท้ายที่กรุงบรัสเซลล์ โดยมีรัฐบาลเบลเยี่ยมเป็นเจ้าภาพ  ทั้งนี้ พณฯ ดิดิเอร์ ไรน์เดอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเบลเยี่ยม และ ฯพณฯ ชาร์ลส์ มิเชล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาได้แสดงความชื่นชมต่อผลการสนับสนุนเงินทุนให้กับกองทุน IDA ครั้งที่ 16  อีกทั้งได้ชมเชยความพยายามของประเทศผู้บริจาคในห้วงเวลาที่โลกมีปัญหาทั้งทางด้านการเงินและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีทั้งสองท่านกล่าวว่า ความสำเร็จจากการได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมต่อเนื่องของกองทุนฯ จะทำให้ IDA มีบทบาทสำคัญต่อเนื่องในการทำให้ประเทศที่ยากจนที่สุดและเปราะบางที่สุดบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ

ระหว่างการเจรจาในครั้งนี้ คณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้ตระหนักดีถึงผลงานของ IDA ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในการช่วยชีวิตคนกว่า 13 ล้านคน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่เด็กกว่า 310 ล้านคน ทำให้ประชาชนกว่า 100 ล้านคนเข้าถึงแหล่งน้ำได้ดีกว่าเดิม ปรับปรุงถนนหนทางกว่า 100,000 กิโลเมตร รวมทั้งช่วยเหลือให้คนจนสามารถเข้าถึงตลาดและบริการต่าง ๆ

“คำมั่นสัญญานี้ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้ชีวิตคนอีก 200 ล้านคนดีขึ้น แต่ยังเป็นการแสดงความมั่นใจใน IDA และความสามารถของกองทุนที่จะใช้เงินภาษีประชาชนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อทำให้เกิดผลกระทบสูงสุดจากการพัฒนา” นายเอ็กเซล วาน ทรอตเซนเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกฝ่ายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและหุ้นส่วนระดับโลก กล่าว

IDA เป็นเวทีที่ทรงประสิทธิภาพในการประสานความพยายามของประเทศผู้บริจาคในประเทศที่ยากจน เพื่อทำงานสร้างเสริมความสามารถและสถาบันต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการพัฒนาในระยะยาว

สมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) – กองทุนเพื่อสำหรับคนยากจนที่สุดของธนาคารโลก

สมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ  หรือ IDA เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก  IDA ให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านสุขภาพ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานและเกษตรกรรม  และการพัฒนาเศรษฐกิจและสถาบันแก่ประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุด 79 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในแอฟริกา 39 ประเทศ เงินทุนประมาณร้อยละ 20 ของ IDA เป็นเงินให้เปล่า ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ระยะยาวปลอดดอกเบี้ย สินเชื่อเกือบทั้งหมดของ IDA ไม่คิดดอกเบี้ยและมีระยะเวลาผ่อนชำระนาน 35 - 40 ปี ซึ่งรวมถึงระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 10 ปี

นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา  IDA ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้มีรายได้น้อยไปแล้วกว่า 220,000 ล้านเหรียญฯ หรือเฉลี่ยประมาณ 14,000 ล้านเหรียญฯ ต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเงินสูงสุดถึงร้อยละ 50 ให้กับแอฟริกา IDA สนับสนุนการพัฒนาของประเทศโดยใช้เงินทุนที่มีความสม่ำเสมอและไม่ “ถูกกำหนดให้ใช้จ่ายเพื่อกรณีหนึ่งกรณีใดเป็นการเฉพาะ”  จึงส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความยั่งยืนมากกว่า

นอกจากนี้    IDA ยังได้ปรับปรุงระบบการตรวจวัดผลการดำเนินงานของตนอย่างละเอียดต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545   IDA เป็นผู้นำของโลกด้านความโปร่งใสและผ่านกระบวนการประเมินอิสระที่เข้มข้นที่สุดในบรรดาองค์การระหว่างประเทศต่างๆ  IDA ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและประสิทธิผล และยังได้รับการจัดลำดับเป็นที่ 1 จากการประเมินผลงานของหน่วยงานทวิภาคีและพหุภาคีเร็วๆ นี้

IDA ได้รับการกำกับดูแลโดยประเทศผู้ถือหุ้น 170 ประเทศซึ่งเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดการถ่ายโอนความรู้และความเชี่ยวชาญตลอดจนส่งเสริมให้มีการเน้นที่ผลงาน นอกจากนี้  IDA มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำและหารายได้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของตัวเองด้วยการคิดค่าธรรมเนียมจำนวนเล็กน้อยจากลูกค้า

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
WB

Api
Api

Welcome