ข่าวประชาสัมพันธ์

หลังจากพุ่งทะยานได้อย่างร้อนแรงในปี 2553 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเย็นลงในปีหน้า

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553




กรุงเทพฯ 19 ตุลาคม 2553 – หลังจากฟื้นตัวได้อย่างสวยงามมาตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2552 เศรษฐกิจไทยในปี 2554 มีแนวโน้มว่าจะเย็นลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เนื่องจากการที่ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายซึ่งเคยเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบที่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกมีต่อระบบเศรษฐกิจและภาคการเงินของตนอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารโลกแถลงในวันนี้ว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการสำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ของไทยในปี 2553 ขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 7.5 จากที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเป็นร้อยละ 6.1 นายเฟรดเดอริโก จิล ซานเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำประเทศไทยระบุว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการส่งออกของไทยในครึ่งแรกของปีได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดไว้ กอปรกับการที่ผู้บริโภคในประเทศเริ่มจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้มีแรงหนุนเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอาจไม่สดใสเท่าในปี 2553 ธนาคารโลกคาดว่า จีดีพีของไทยในปี 2554 จะขยายตัวเพียงในอัตราร้อยละ 3.2 เนื่องจากฐานของปีนี้ค่อนข้างสูง รวมทั้งการที่เศรษฐกิจของประเทศร่ำรวยต่างๆ ยังอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่อความต้องการสินค้าทั่วโลก ถึงแม้ความต้องการในประเทศจะยังมีอยู่และความต้องการสินค้าส่งออกของไทยในตลาดเกิดใหม่ได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ธนาคารโลกยังเห็นว่า ปัจจัยทั้งสองนี้ไม่น่าจะเพียงพอที่จะสามารถชดเชยกับความต้องการภายนอกที่อ่อนแอได้

การพยากรณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีถัดไปเป็นส่วนหนึ่งของสาระสำคัญจากรายงาน “ตามติดเศรษฐกิจไทย” (Thailand Economic Monitor) ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553 ซึ่งธนาคารโลกมีกำหนดจะตีพิมพ์เผยแพร่กลางเดือนหน้า รายงานดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ภาพรวมและแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยซึ่งธนาคารโลกจัดทำทุกๆ หกเดือน

ธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจไทยนั้นสามารถทนทานต่อแรงกดดันที่มาจากสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี และยังสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วตลอดทั้งไตรมาสที่สองของปี 2553 เนื่องจากความต้องการสินค้าส่งออกของไทยยังมีเข้ามาเรื่อยๆ อีกทั้งผู้บริโภคเองก็เริ่มมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากกว่าในอดีตจนส่งผลให้ตลาดรถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว นายเฟรดเดอริโกกล่าวว่าปรากฏการณ์เช่นนี้สวนกับความคาดหมายดั้งเดิมของธนาคารโลก จึงต้องปรับตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจขึ้น

กระนั้นก็ตาม การที่หลายประเทศในยุโรปมีความจำเป็นที่จะต้องลดการขาดดุลงบประมาณด้วยการตัดรายจ่ายภาครัฐ อีกทั้งภาวะว่างงานในสหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ทำให้ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าความต้องการสินค้าส่งออกของไทยในปีหน้าจะยังแข็งแกร่งดังเช่นในครึ่งแรกของปีนี้ นอกจากนั้น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความต้องการสินค้าจากภายนอกประเทศเพิ่มสูงมากในช่วงที่ผ่านมาก็มาจากการที่ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาสะสมสินค้าคงคลัง (inventory restocking) อีกครั้ง เมื่อการกระทำดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลง ความต้องการสินค้าส่วนหนึ่งก็จะหายไปโดยปริยาย

และเช่นเดียวกับในหลายประเทศในภาคพื้นนี้ ทางการไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการเงินทุนที่ไหลเข้าอย่างไม่หยุดยั้ง อันเนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยกับของประเทศพัฒนาแล้ว สำหรับนโยบายการคลัง ธนาคารโลกชี้ว่าสิ่งที่จะท้าทายความสามารถของรัฐบาลก็คือ ทำอย่างไรจึงจะค่อยๆ ลดการขาดดุลงบประมาณ พร้อมๆ กับเพิ่มการลงทุนโดยภาครัฐและพัฒนากลไกสำหรับสร้างหลักประกันแก่สังคมไปในเวลาเดียวกัน

นายแมทธิว เวอร์กิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกในประเทศไทยกล่าวว่า กลไกด้านสังคมดังกล่าวนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทั้งการปกป้องผู้ที่เปราะบางที่สุดของสังคมจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะกลาง และรับมือกับการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุในอนาคตด้วย

ที่สำคัญ รัฐบาลควรที่จะเร่งหากลยุทธใหม่ๆ มาใช้สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและยังประโยชน์อย่างทั่วถึงแก่ประชากรทุกกลุ่มของประเทศ นายแมทธิวกล่าวว่า องค์ประกอบที่จะช่วยให้กลยุทธดังกล่าวประสบความสำเร็จก็คือ การส่งเสริมการพัฒนาภาคบริการซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างงานได้อีกมากมาย แต่ปัจจุบันการขยายตัวของภาคบริการยังนับว่าตามหลังภาคการผลิตอยู่มาก นอกจากนี้ รัฐยังควรที่จะเร่งพัฒนาและส่งเสริมทักษะของแรงงานไทยเพื่อให้เกิดการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: 02 686-8326
bsangarun@worldbank.org



Api
Api

Welcome