ข่าวประชาสัมพันธ์

ประเทศกำลังพัฒนาช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553



กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. 27 กันยายน พ.ศ. 2553 – รายงานฉบับใหม่โดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกระบุว่า ในขณะที่เหล่าประเทศฐานะร่ำรวยกำลังเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆในประเทศของตนอยู่ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังกลายเป็นฟันเฟืองชิ้นใหม่ที่ทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและดึงประเทศที่เศรษฐกิจก้าวหน้ากว่าให้ออกจากวิกฤติ

รายงานชื่อ นับจากพรุ่งนี้: คู่มือสำหรับอนาคตของนโยบายด้านเศรษฐกิจในโลกกำลังพัฒนา (The Day After Tomorrow: A Handbook on the Future of Economic Policy in the Developing World) ได้สรุปว่า เกือบครึ่งหนึ่งของการเติบโตของโลกในปัจจุบันเกิดจากประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ยังมีการคาดหมายว่า ภายในปีพ.ศ. 2558 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้รวมกันจะมีขนาดใหญ่กว่าประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย

“ประเทศกำลังพัฒนาได้กลายมาเป็นอัศวินม้าขาวที่กอบกู้โลกให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ” นายโอทาวิเอโน คานูโท รองประธานธนาคารโลกด้านการลดความยากจนและการจัดการเศรษฐกิจ และผู้เขียนร่วมของรายงาน นับจากพรุ่งนี้ กล่าว “ประเทศเหล่านี้เป็นเสมือนหัวรถจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เติบโตไปข้างหน้า ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีรายได้สูง (ซึ่งเคยเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในอดีต) ยังคงซบเซาอยู่”

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า การเติบโตในประเทศกำลังพัฒนาโดยรวมน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.1 ใน พ.ศ. 2553 ร้อยละ 5.9 ใน พ.ศ. 2554 และร้อยละ 6.1 ใน พ.ศ. 2555 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่มีรายได้สูงในช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3, 2.4 และ 2.6 ตามลำดับ รายงานฉบับนี้ยังคาดด้วยว่าแนวโน้มการเติบโตที่แตกต่างกันนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในระยะเวลาหนึ่ง อันเป็นผลมาจากปัจจัย 5 ประการ ได้แก่ การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่เป็นชนชั้นกลาง การบูรณาการด้านการพาณิชย์ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งงบดุลที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นด้วย

“แนวโน้มเศรษฐกิจในโลกกำลังพัฒนานั้นค่อนข้างจะสดใสมาก” นายมาร์เซโล กีเกล ผู้อำนวยการด้านการลดความยากจนและการจัดการเศรษฐกิจภาคพื้นละตินอเมริกาและแคริบเบียนของธนาคารโลก ซึ่งเป็นบรรณาธิการร่วมของรายงานฉบับนี้กล่าว “การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกนั้นต้องพึ่งพาองค์ประกอบที่หลากหลายมากขึ้น (แทนที่จะเป็นการพึ่งพาแต่สถานการณ์ในประเทศพัฒนาแล้วแต่เพียงอย่างเดียวเช่นในอดีต) นี่ทำให้ความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนานั้นทวีขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้งยังจะส่งผลต่อทิศทางด้านนโยบายเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้ กล่าวคือ โดยทั่วๆไป การจัดการด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาน่าจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น การบริหารจัดการโดยภาครัฐน่าจะดีขึ้น และการขจัดปัญหาความยากจนให้สิ้นไปก็น่าจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเช่นกัน”

รายงานดังกล่าวยังได้เสนอแนะด้วยว่า ประเทศกำลังพัฒนาควรใช้โอกาสที่ตนเองมีฐานะการเงินที่ค่อนข้างเข้มแข็งกว่าประเทศอุตสาหกรรมต่าว ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ซึ่งหมายถึงการดำเนินโครงการด้านสังคมต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เน้นการให้โอกาสแก่ประชากรอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนและการประกอบธุรกิจซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างงานได้มากขึ้น

แนวโน้มด้านอื่น ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาที่รายงานฉบับนี้พูดถึงได้แก่ การฟื้นตัวของรายได้ที่มาจากแรงงานของประเทศกำลังพัฒนาในต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน การเพิ่มขึ้นของการลงทุนโดยกองทุนบริหารเงินสำรองภาครัฐ การจัดการหนี้ในแนวทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ตลอดจนการที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนมากขึ้น

ข้อมูลจากรายงาน นับจากพรุ่งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคต่างๆ อาทิ เอเชียตะวันออก ละตินอเมริกา เอเชียใต้ และในอนาคตคือแอฟริกา ล้วนแล้วแต่มีศักยภาพที่จะกลายเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ได้

ต่อไปนี้คือสาระสำคัญของบทสรุปเกี่ยวกับแต่ละภูมิภาค

ใน กลุ่มประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความยากจนที่สุดของโลกนั้น อาจมีประชากรอีกราว 7-10 ล้านคนที่ต้องตกอยู่ในภาวะความยากจนที่เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็วของทวีปนี้ก็ยังคงมีอยู่ ตราบเท่าที่ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินตามนโยบายที่ชาญฉลาด และนโยบายเหล่านี้จะต้องสามารถตอบรับกับความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงาน การบริหารปกครองอย่างโปร่งใสและรับผิดชอบต่อประชาชน ตลอดจนความช่วยเหลือที่ลดน้อยลงได้

เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่นำพาโลกให้พ้นจากวิกฤต อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ก็ยังคงต้องดำเนินการด้านการบูรณาการเศรษฐกิจให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งดำเนินนโยบายที่จะช่วยลดแรงเสียดทานอันมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้ได้ ในประเทศจีน จำเป็นต้องมีการสร้างดุลยภาพให้แก่การขยายตัวของเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัว รวมทั้งการส่งเสริมการเจริญเติบโตของภาคบริการ (เพื่อรองรับผลกระทบจากการที่ความต้องการสินค้าโลกลดลงในระหว่างที่เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่) ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย จำเป็นต้องพัฒนาตนเองไปสู่ตลาดฐานความรู้และนวัตกรรม ในขณะที่การอำนวยความสะดวกทางการค้าจะเป็นกุญแจดอกสำคัญของประเทศที่มีรายได้ต่ำ เช่น กัมพูชา สปป. ลาว และเวียดนาม เป็นต้น

ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ถือเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากที่สุด โดยมีอัตราการเติบโตลดลงถึงร้อยละ 12 จุด ในช่วงปี พ.ศ. 2550 ถึง 2552 ทำให้ดอกผลจากความสำเร็จต่างๆ ในอดีตต้องละลายหายไปด้วย เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ภูมิภาคนี้จำเป็นจะต้องเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนดำเนินการให้บริการทางสังคมให้เป็นไปในแนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น

ในละตินอเมริกา นั้น การเติบโตมีลักษณะหยุดนิ่ง และผลมาจากวิกฤตที่เกิดขึ้นก็ทำให้จำนวนประชากรที่ยากจน (รายได้ 4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน) เพิ่มขึ้นถึงราว 8 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การล่มสลายทางเศรษฐกิจกลับไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เนื่องมาจากความก้าวหน้าในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคตลอดจนนโยบายด้านสังคมที่ชาญฉลาดมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หากปราศจากซึ่งวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจโลกระลอกใหม่ ภูมิภาคละตินอเมริกาน่าจะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะก้าวเข้าสู่แนวทางการพัฒนาที่รวดเร็วและยั่งยืน

ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ วิกฤตเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบให้ประชากรอีก 2.6 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากจนภายในพ.ศ. 2554 ตลอดจนส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น กลุ่มประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เชียกำลังนำภูมิภาคให้ฟื้นตัวโดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการที่ภาคการเงินเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น กุญแจที่จะช่วยให้ภูมิภาคนี้ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่มี คือการเปิดประตูให้กับนักลงทุนเอกชนรุ่นใหม่ๆ รวมถึงให้ประชากรเพศหญิงได้มีโอกาสเข้าร่วมในโลกเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

เอเชียใต้ เคยเป็นภูมิภาคที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆในภาวะวิกฤต และยังเป็นภูมิภาคแรกที่เริ่มฟื้นตัวด้วย อย่างไรก็ตาม ความยากจนก็ยังคงมีอยู่ โดยประชากรราว 600 ล้านคนของภูมิภาคนี้ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินเพียง 1.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน ดังนั้น ความท้าทายของภูมิภาคนี้จึงได้แก่การดำเนินการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม และส่งเสริมให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ตลอดจนรังสรรค์ให้การเจิรญเติบโตทางเศรษบกิจนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืนมากขึ้น สิ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก ได้แก่ การลดการขาดดุลงบประมาณ และการลดการสะสมหนี้สาธารณะ เพื่อให้เหลืองบประมาณไว้สำหรับดำเนินโครงการด้านสังคมและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น นอกจากนี้ การทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศในภูมิภาคหล่อหลอมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้นก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภูมิภาคนี้เช่นกัน

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน ดีซี
อเลฮันดรา วิเวโร
โทร: +1 (202) 473-4306
Aviveros@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
WB

Api
Api

Welcome