ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกชี้การปฏิรูปพลังงานในเอเชียตะวันออกอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่ต้องยอมลงทุน

วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553




สิงคโปร์ 19 เมษายน 2553 – รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกระบุว่า  ประเทศหกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งมีประวัติการบริโภคพลังงานในปริมาณที่สูง  จะสามารถตรึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ ณ ระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ในอีก 15 ปีข้างหน้าโดยไม่จำเป็นต้องสละการเติบโตทางเศรษฐกิจ

รายงานดังกล่าวมีชื่อว่า “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง อนาคตพลังงานที่ยั่งยืนของเอเชียตะวันออก” (Winds of Change: East Asia’s Sustainable Energy Future) รายงานฉบับนี้ระบุว่า หากมีการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการซึ่งส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  และหากจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย รวมทั้งเวียดนาม จะพร้อมใจกันเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานทดแทนต่างๆ แล้ว  เอเชียตะวันออกจะสามารถตรึงระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้และยังสามารถเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานรวมทั้งยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นควบคู่กันไปได้ในเวลาเดียวกัน

บทหนึ่งของรายงานฉบับนี้ระบุว่า  การที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกถีบตัวสูงขึ้น 10 เท่าภายในระยะเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมานั้น  ได้ส่งผลให้อัตราการบริโภคพลังงานในภูมิภาคเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัว   และอาจเพิ่มขึ้นอีกเป็นสองเท่าในอีกสองทศวรรษข้างหน้า ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่ประชากรในเขตเมืองเพิ่มจำนวนขึ้นอีกร้อยละ 50 ในขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมของภูมิภาคยังคงดำเนินต่อไป

รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอการศึกษาความเป็นไปได้ในสองกรณี กรณีแรกเป็นการพัฒนาภายใต้นโยบายที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันของรัฐบาล และกรณีที่สองเป็นการพัฒนาทางเลือกโดยเน้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ หรือการพัฒนาด้วยพลังงานแบบยั่งยืน ในกรณีที่สองนั้นรายงานฉบับนี้พบว่า พลังงานทดแทน (ได้แก่พลังงานน้ำ พลังงานลม ชีวมวล พลังงานความร้อนใต้พื้นโลกและพลังงานแสงอาทิตย์) จะสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของภูมิภาคนี้ได้ในสัดส่วนที่สำคัญภายในปีพ.ศ. 2573

ด้วยเหตุนี้เอง รายงานดังกล่าวจึงได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมให้การใช้พลังงานของตนเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการใช้พลังงานสะอาดอย่างกว้างขวางมากขึ้นก่อนที่จะสายเกินไป  “ยิ่งปล่อยให้ล่าช้าออกไปเท่าไหร่ โอกาสที่เอเชียตะวันออกจะต้องติดอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงไปอีกนานแสนนานก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น”  รายงานฉบับนี้ระบุ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายจิม อาดัมส์ รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้กล่าวว่า “สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นก็คือ การเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาและการดำเนินชีวิตให้เป็นแบบที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำและไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศทั้งหลายในเอเชียตะวันออกจำเป็นที่จะต้องลงมือแต่เดี๋ยวนี้เพื่อให้การใช้พลังงานในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำมาใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อย่างแพร่หลายมากขึ้น ในขณะที่หลายประเทศได้เริ่มดำเนินการในทิศทางนี้บ้างแล้ว แต่การจะบรรลุถึงเส้นทางการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนได้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้รวดเร็วขึ้นกว่านี้และให้กว้างขวางกว่าเดิม

รายงานฉบับนี้คาดว่า การที่ภูมิภาคนี้จะเข้าสู่เส้นทางการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนได้จะต้องมีการลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้นอีก 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  – ซึ่งเป็นตัวเลขที่รายงานชี้ว่า “เป็นอุปสรรคสำคัญ

ในการประเมินความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในภูมิภาค รายงานได้ตั้งข้อสังเกตว่าหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนได้เริ่มดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองปล่อยในแต่ละปีลง  โดยที่ผ่านมานั้น จีนได้ลดสัดส่วนการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่อรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Energy Intensity) ลงถึงร้อยละ 70 ภายใน 25 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เวียดนามก็มีความก้าวหน้าในด้านนี้อย่างมากเช่นกัน 

การขยายตัวของเขตเมืองอย่างรวดเร็วและกว้างขวางเป็นโอกาสดีในการสร้างเมืองที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำนางสาวเซียวตง หวาง ผู้เขียนหลักของรายงานและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพลังงานอาวุโสของธนาคารโลกกล่าว

เครื่องมือที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปที่จำเป็นขึ้นได้นั้นมีอยู่แล้วทั้งเครื่องมือด้านเทคนิคและนโยบาย สิ่งที่ยังต้องการอยู่คือเจตนารมย์ทางการเมืองและความร่วมมือกันในระดับนานาชาติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพื่อตอบสนองความจำเป็นทางการเงิน

ข้อเสนอแนะหลักในการดำเนินการของรายงานได้แก่

  • การปฏิรูปทางนโยบายและสถาบันเพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเต็มศักยภาพของภูมิภาค จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ผสมผสานกันระหว่างการปฏิรูปราคาพลังงาน การกำหนดกฎระเบียบต่างๆ เช่น เป้าหมายการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่อรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และแรงจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้เนื่องจากเกือบครึ่งหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของภูมิภาค (โรงผลิตกระแสไฟฟ้า อาคาร ถนน) ที่จำเป็นต้องมีภายในปีพ.ศ. 2563 ยังไม่มีการสร้างขึ้นในขณะนี้ มาตรการดังกล่าวจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่สุด
  • เพิ่มความพยายามในการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานส่วนใหญ่ให้ได้ภายในปีพ.ศ. 2573 ซึ่งสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้ด้วยการกำหนดนโยบายสร้างแรงจูงใจทางการเงินในการพัฒนาพลังงานทดแทน (พลังงานลม ชีวมวล พลังงานน้ำขนาดเล็ก พลังงานความร้อนใต้ภิภพและพลังงานแสงอาทิตย์) หรือด้วยการกำหนดภาษีสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์   ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศจีน  ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว
  • เร่งรัดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสะอาด ในขณะที่เทคโนโลยีที่ผ่านการทดสอบแล้วสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในระดับหนึ่งทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง   แต่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปรับทิศทางระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลงในระยะยาวต่อจากปีพ.ศ. 2573 เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีกินเวลานานจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการด้านการวิจัยและพัฒนาและการสาธิตตั้งแต่บัดนี้
  • ดำเนินการร่วมกันหลายภาคส่วนเพื่อการวางผังเมืองอย่างฉลาด การลดความต้องการพลังงานและระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถทำได้โดยหลักการการวางผังเมืองอย่างฉลาด  ซึ่งเน้นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นอยู่แล้วแทนที่จะกระจายความเจริญของเมืองออกไปในวงกว้าง   และใช้การออกแบบผสมผสานที่เปิดโอกาสให้มีการเติบโตใกล้ศูนย์กลางของตัวเมืองและจัดให้มีการขนส่งที่เชื่อมโยงกับเขตเมืองเพื่อป้องกันการพัฒนาเมืองแบบกระจัดกระจาย  การวางผังเมืองอย่างฉลาดต้องกระทำควบคู่ไปกับทางเลือกในด้านระบบขนส่งมวลชนและพลังงานสะอาด เช่น อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยวดยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพ
  • ประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นต้องให้การสนับสนุนทางการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถดำเนินการตามลำพังได้ ประเทศเหล่านี้ต้องการความสนับสนุนจากประชาคมโลก   ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดหาเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยให้ประเทศเหล่านี้สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการลงทุนด้านพลังงานประสิทธิภาพสูงและพลังงานทดแทนได้ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน ดีซี
อลิซาเบท มีลีย์
โทร: +1 (202) 458-4475
emealey@worldbank.org
ใน กรุงเทพฯ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
EAP

Api
Api

Welcome