Skip to Main Navigation
เรื่องเด่นวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2565

สร้างวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืนในประเทศไทย: กรณิศ ตันอังสนากุล

The World Bank

ในโอกาสวันสตรีสากลปีพ.ศ. 2565 นี้ เราได้พูดคุยกับผู้นำหญิงทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่กำลังทำงานผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศสภาพในวันนี้เพื่อช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนกว่าสำหรับทุกคน กรณิศ ตันอังสนากุลเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนผลักดันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนของโลกและรณรงค์ให้คนในสังคมมีความตระหนักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเริ่มจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม?

เพราะว่าโลกของเรากำลังอยู่ในความเสี่ยง การกระทำของเราเองทำให้เราต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำท่วมบ่อยครั้งขึ้น การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และไฟป่าที่ลุกลามกว้างขวางในหลายส่วนของโลก การสื่อสารข้อมูลสามารถสร้างความตระหนักรับรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตลอดจนก่อให้เกิดการร่วมไม้ร่วมมือกันที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการทำธุรกิจที่รับผิดชอบมากขึ้นได้

ดิฉันร่วมก่อตั้ง ReReef โดยหวังจะให้เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ดิฉันเชื่อว่าคนเราจะรักษาหวงแหนสิ่งที่เราเห็นคุณค่า เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและสามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้

หากคุณสามารถบรรยายตัวเองได้ในสามคำ สามคำนั้นคืออะไร?

มีแรงบันดาลใจ สู้ไม่ถอย สนับสนุนให้กำลังใจ

ประเด็นหลักของปีนี้คือ 'ความเท่าเทียมในวันนี้เพื่อพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน' ในความเห็นของคุณ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับความเท่าเทียมทางเพศสภาพมีอะไรร่วมกัน?

ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราถกเถียงกันถึงเรื่องสิทธิของคนรุ่นอนาคตที่จะได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี ส่วนความเท่าเทียมทางเพศสภาพ สิทธิของคนที่ไม่ได้อยู่ในสภาพที่พึงเป็นพึงปรารถนายังไม่ได้รับการเหลียวแล ในทั้งสองประเด็น แนวทางการดำเนินการตามที่ทำกันมาไม่ครอบคลุมถึงคนที่ไม่มีปากไม่มีเสียง

ผลกระทบจึงตกอยู่กับผู้คนที่ไม่มีปากไม่มีเสียงในกรณีส่วนใหญ่ ผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงกว่าผู้ชายเท่านั้น แต่เวลามีภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้หญิงไม่เคยได้รับการเหลียวแลในกระบวนการวางแผนหรือตัดสินใจ กลไกที่ละเลยความต้องการของผู้หญิงและเพศสภาพอื่นเช่นนี้ทำให้คนเหล่านี้มีความยากลำบากในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในฐานะที่เป็นผู้นำคนหนึ่งในประเทศไทย คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอะไรที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดในยุคสมัยของเรา ในการจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อนเช่นนี้ เราจำเป็นต้องมีมุมมองที่กว้างขวางและหลากหลาย การมีปากมีเสียงที่เท่าเทียม (รวมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ) จะช่วยให้เราดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น ไม่เพียงแต่ในด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังในด้านการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

อะไรคือบทเรียนที่ใหญ่ที่สุดที่คุณได้รับมาในฐานะผู้นำคนหนึ่ง?

ผู้นำทุกคนล้วนเริ่มจากศูนย์ที่ไม่มีคนสนับสนุน ไม่มีคนติดตาม และเต็มไปด้วยข้อสงสัย หากเลิกล้มในสิ่งที่ตนเชื่อ ก็จะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

คุณคิดว่าจำเป็นจะต้องทำอะไรเพื่อให้มีผู้หญิงในบทบาทผู้นำมากขึ้นในประเทศไทย?

ดิฉันคิดว่ามีอุปสรรคมากมายที่ขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงมีบทบาทผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นในรัฐบาล ธุรกิจ องค์กร และชุมชน อุปสรรคมีหลายรูปแบบ เช่น อคติ วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ และขั้นตอนการคัดสรรที่แย่ และอุปสรรคหนึ่งคือโอกาสที่จำกัดสำหรับเด็กผู้หญิงในการเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่แรก

เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการขจัดอุปสรรคเหล่านี้เพื่อให้ผู้หญิงได้มีบทบาทผู้นำในสัดส่วนที่เสมอกัน

คุณชอบงานส่วนไหนมากที่สุด?

งานของดิฉันทำให้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยอย่างเป็นประโยชน์กับผู้คนที่มีใจคล้ายกันนับครั้งไม่ถ้วน เราแลกเปลี่ยนความคิด และการสนทนาธรรมดาๆ ระหว่างมื้อเที่ยงบางครั้งก็นำไปสู่การร่วมมือในกิจกรรมและการรณรงค์ต่างๆ และยังทำให้ดิฉันได้มีโอกาสลองบทบาทอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการ คอลัมนิสต์ นักวิจัย ผู้บรรยาย และนักรณรงค์

คุณมีคำแนะนำอะไรสำหรับหญิงสาวที่มุ่งหวังที่จะเป็นผู้นำเหมือนคุณ?

ต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่น และความพากเพียร เพียงเพราะว่าคุณไม่เห็นผู้หญิงในบทบาทผู้นำมากนัก ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นไม่ได้

อะไรที่เราสามารถทำให้ดีขึ้นเพื่อเพิ่มหรือกระตุ้นความเท่าเทียมทางเพศสภาพ?

ความคิดเกี่ยวกับเพศสภาพของเราถูกกำหนดโดยสื่อ สื่อมักแสดงให้เราเห็นภาพแบบฉบับของผู้หญิง ผู้ชาย ว่าควรมีหน้าตา ท่าทาง และปฏิบัติต่อคนอื่นๆ อย่างไร ความคิดเช่นนี้เป็นอันตรายและเป็นอุปสรรคต่อความเท่าเทียมทางเพศสภาพ

เราสามารถช่วยกันสร้างพื้นที่ให้ความเท่าเทียมทางเพศสภาพได้เติบโตโดยเริ่มจากในชีวิตประจำวัน ในที่ทำงาน ที่บ้าน ในชุมชน ปฏิเสธอคติหรือทัศนคติแบบเหมารวม แบ่งงานบ้านกันอย่างเท่าเทียม และส่งเสียงสนับสนุนสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียม

คุณมีความหวังและวางแผนสำหรับอนาคตอย่างไร?

ดิฉันจะยังคงมุ่งหน้าทำงานรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติต่อไป ดิฉันคาดหวังที่จะทำให้เครือข่ายที่มีอยู่แล้วมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นและสำรวจหาความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มคนกว้างขวางมากขึ้น ดิฉันหวังว่า ReReef จะสามารถดำเนินบทบาทต่อไปในฐานะช่องทางการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

บล็อก

    loader image

เรื่องราวใหม่ๆ

    loader image