Skip to Main Navigation
เรื่องเด่น วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563

อนาคตที่เราฝันถึง: งานนิทรรศการภาพจากใจเยาวชนทั่วประเทศไทย

Image

นิทรรศการ Thailand Young Artists: Our Country, Our Future เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยและธนาคารโลก 



ในช่วงสัปดาห์ที่ฟ้ากรุงเทพฯ ขมุกขมัวที่สุดในรอบปี ฝุ่นพิษ PM 2.5 ปกคลุมไปทั่ว ช่วงเวลาดังกล่าวอาจทำให้หลายคนหดหู่หมดวังต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมือง ในสังคมไทย แต่แท้จริงความเป็นไปได้มีอยู่เสมอ เริ่มจากเสียงของเราเอง

ในวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ชักชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่มามีส่วนร่วมกับงานนิทรรศการ Thailand Young Artists: Our Country, Our Future (ความฝันของเยาวชนไทย: อนาคตแบบไหนที่อยากเห็น) พร้อมชวนเยาวชนที่ได้รับรางวลพูดคุยถึงความเป็นไปได้และอนาคตที่พวกเขาใฝ่ฝัน

ริเริ่มจาก ธนาคารโลกเปิดให้เยาวชนทั่วประเทศส่งงานศิลปะเข้าร่วมโครงการ Thailand Young Artists: Our Country, Our Future โดยมีโจทย์คือให้วาดภาพอนาคตที่เยาวชนไทยอยากเห็น เยาวชนทั่วประเทศกว่า 300 คนจึงได้ส่งงานเข้าประกวด งานที่ส่งมามีความหลากหลายทั้งอายุ ถิ่นกำเนิด และเนื้อหา ตั้งแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความรักและความสัมพันธ์ในครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ คณะกรรมการได้พิจารณาจากความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ และเนื้อหา และได้นำผลงาน 50 ชิ้นมาจัดแสดง โดยชวนเยาวชนที่ได้รับรางวัลร่วมพูดคุยถึงความฝันของพวกเขา


Image

นางสาวอัญชลิกา แก้วจันทร์ นักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้าร่วมโครงการนี้เพราะคิดว่านี่เป็นโอกาสได้แสดงออกถึงความสามารถที่มีอยู่และได้พูดถึงปัญหาสังคมที่สนใจ เธอวาดภาพเด็กชายคนหนึ่งซึ่งถือสมุดวาดรูปที่เป็นความฝันของเขา

“เราตอนเด็กๆ เวลาฝันอะไรจะวาดสิ่งที่ฝันลงในสมุด เด็กคนนี้เหมือนกัน เขาวาดสิ่งที่เขาฝันลงสมุดจด แต่ข้างหลังเด็กเป็นบ้านไม้สังกะสี แสดงถึงสถานะครอบครัวที่ยากจน ภาพนี้เราอยากพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เด็กแต่ละคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ได้รับโอกาสในชีวิตไม่เท่ากัน เด็กบางคนอาจต้องเดินเท้าไปโรงเรียน ไม่มีหนังสือ ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ฉะนั้นภาพนี้ไม่ได้บอกว่าเขาจะได้เป็นตามที่ฝันไว้หรือไม่ แต่ชวนคนมองภาพคิดว่า เราจะทำอย่างไรให้เด็กทำตามฝันตัวเองไว้ได้ โดยที่เขาไม่ต้องดั้นด้นด้วยตัวเองเท่านั้น”

Image

นางสาวพันธหทัย บางขุนเทียน วาดภาพโลกสองด้านที่เป็นกระจกเงาสะท้อนซึ่งกันและกัน ด้านหนึ่งสดใสสวยงามด้วยธรรมชาติและเทคโนโลยี อีกด้านหม่นหมองด้วยกลุ่มควัน เธอวาดภาพเนื่องจากตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมและอยากจะสื่อถึง butterfly effect ที่ทุกกระทำของเราไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วนส่งผลต่ออนาคตแน่นอน

“เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม อยากเห็นการเดินทางที่ใช้รถน้อยลง มีขนส่งสาธารณะที่สะดวกมากขึ้น ทุกวันนี้กรุงเทพฯ มีปัญหารถติดและฝุ่นควันมาก ทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้ จึงอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญ”

Image

ด้าน นายปราชญ์ ธรรมาวุฒิกุล นักศึกษาชั้นสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้วาดรูปชาวนากำลังเกี่ยวข้าว รวงข้าวชูช่อออกมาเป็นธนบัตร 100 บาท เพื่อสื่อว่าทุกวันนี้ชาวนาทำงานแลกเงิน แม้ว่าจะทำอย่างเต็มร้อย แต่ก็อาจจะไม่ได้กลับคืนมาเต็มร้อย เพราะต้องให้ส่วนแบ่งกับโรงสีข้าว ค่าขนส่ง บริษัทต่างๆ ลฯ ทำให้ชาวนายังคงลำบากและยากจน

สำหรับสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ปราชญ์คิดว่าสังคมควรเคารพกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หยุดคิดว่าเรื่องแบบนี้ ใครๆ ก็ทำกัน ฉะนั้นทำได้ “มันมีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น มอเตอร์ไซค์ขี่บนฟุตบาท คนเดินเท้าเดินลัดสนาม ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ สิ่งเหล่านี้อาจไม่เป็นไรในสายตาคนทำ แต่ความจริงมันไม่ถูกต้องและก่อความเสียหายมาก ผมเลยอยากให้เคารพกันมากขึ้น ถ้าสังคมมีความเคารพกันมากขึ้น ปัญหาต่างๆ น่าจะน้อยลง”

Image

สุดท้ายคือ นางสาวปฏิมา แซ่บู่ อายุ 18 ปี ได้วาดภาพการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์ ถิ่นกำเนิด อายุ สีผิว และเพศ โดยใช้สีสันสดใสเพื่อบอกว่าเราอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่าง

“หนูคิดว่ามันมีปัญหาที่คนยังไม่เคารพความต่างของกันและกัน ตำหนิ ตีตราคนที่ต่างออกจากเรา สิ่งนี้แก้ไขได้เลยโดยที่เรายอมรับและเข้าใจคนอื่นว่ามีเงื่อนไขชีวิตต่างจากเรา มันจะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสบายใจ ไม่กังวลเวลาออกไปไหน ใส่ชุดนี้ มีอัตลักษณ์แบบนี้ ใครจะว่าอะไรไหม ทุกคนจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น”

Image

อาจารย์จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะกรรมการผู้ตัดสินผลงานและผู้นำเสวนากล่าวว่า ตอนที่เห็นงานของเด็กๆ เขารู้สึกว่ามันน่าสนใจมาก เพราะมีทั้งงานที่พูดถึงเรื่องใกล้ตัวที่เป็นรูปธรรม และงานที่สื่อสารเรื่องไกลตัวที่เป็นนามธรรม เมื่อมีโอกาสได้คุยกับเยาวชนในวันนี้พบว่าเด็กๆ มีความคิดอ่านน่าสนใจและผู้ใหญ่ควรรับฟัง

ด้าน เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจําประเทศไทย กล่าวเปิดงานครั้งนี้ว่า ธนาคารโลกอยากร่วมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างการเปลี่ยนแปลงแง่บวกในประเทศไทย จึงเริ่มต้นปีด้วยการฟังเสียงเยาวชนผ่านการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งต้นปีนี้จะพาเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่งไปพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ทำเทียบรัฐบาลเพื่อสะท้อนเสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อไป

นิทรรศการ “Thailand Young Artists:  Our Country, Our Future” เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยและธนาคารโลก โดยจัดแสดงภาพวาดจากเยาวชนทั่วประเทศ 50 ภาพ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่วันที่ 21-26 มกราคมนี้ สามารถย้อนดูงานเสวนาได้ที่นี่

Image



Api
Api