เรื่องเด่น

วิกฤตเศรษฐกิจกำลังส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ทั่วโลก

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

เรื่องเด่น
  • วิกฤตการเงินโลกอาจทำให้จำนวนเด็กทารกในกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกาที่ต้องเสียชีวิตลงในพ.ศ. 2552 นั้น เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 คน
  • ในประเทศยากจนที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทารกหญิงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากกว่า
  • โครงการด้านโภชนาการที่มุ่งตอบสนองความต้องการของเด็กเล็กสามารถสร้างคุณประโยชน์ที่ยั่งยืนชั่วชีวิตเด็ก

7 เมษายน 2553 – โดยปกตินั้น เด็กๆ ที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศซึ่งมีฐานะรายได้ต่ำจัดว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว  วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันทำให้ความเสี่ยงของพวกเขาเหล่านี้ทวีขึ้นมาก

จากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มงานวิจัยด้านการพัฒนาของธนาคารโลกทำให้เชื่อได้ว่า ในปีที่ผ่านมานั้น ทารกกว่า 50,000 คนจากกลุ่มประเทศซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาต้องเสียชีวิตลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตทางการเงินโลก ซึ่งเริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเกือบทั้งหมดของทารกเหล่านี้เป็นหญิง ปรากฏการณ์นี้ทำให้ภูมิภาคดังกล่าวยิ่งต้องต่อสู้มากขึ้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของทารก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปี ทารก 3 ล้านคนจากภูมิภาคนี้ต้องเสียชีวิตก่อนที่พวกเขาจะมีอายุครบหนึ่งปี

ยิ่งไปกว่านั้น เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศยากจน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา และบางพื้นที่ในเอเชีย ต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันเป็นผลมาจากภัยแล้ง การลดลงของรายได้ส่งออก และความถดถอยทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ที่ประเทศเหล่านั้นต้องเผชิญในภาวะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ การศึกษาผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ธนาคารโลกจัดทำในอดีตที่ผ่านมาชี้ว่า เด็กเหล่านี้มักต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือไม่ก็อยู่โดยปราศจากบริการด้านสาธารณสุข สภาพดังกล่าวผลักดันให้เด็กต้องตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบนานต่อเนื่องแม้ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะว่าเด็กที่ต้องเติบโตขึ้นมากับภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนถึงวัยสองขวบ มีแนวโน้มที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์ ได้รับการศึกษาน้อยกว่า และมีรายได้น้อยกว่าตลอดชั่วชีวิตของพวกเขา

ปีไหนที่อัตรา GDP ลดลง ปีหน้ามันก็จะฟื้นกลับ แต่เด็กเล็กที่ขาดสารอาหารไม่มีทางที่จะฟื้นตัว และเด็กที่ลาออกจากโรงเรียนกลางคันมักไม่ได้กลับไปเรียนต่อนายแฮโรลด์ อัลเดอร์แมน นักเศรษฐศาสตร์ผู้วิจัยผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต เช่นในแทนซาเนีย และซิมบับเว กล่าว

บทเรียนสำหรับผู้กำหนดนโยบาย   

งานวิจัยด้านเศรษฐกิจที่ธนาคารโลกจัดทำไว้ในอดีตนั้น อาจให้บทเรียนอันทรงคุณค่าแก่ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรบรรเทาทุกข์ และทุกภาคส่วนที่พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ  หรือกำลังหาทางบรรเทาผลกระทบจากแผ่นดินไหว และภัยพิบัติอื่นๆ กลุ่มงานวิจัยด้านการพัฒนาของธนาคารโลกประเมินว่า สถานการณ์ความยากจนข้นแค้นในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น โดยประเมินว่าในปี พ.ศ. 2558 จำนวนคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนาจะลดลงไปอยู่ที่ 920 ล้านคน เปรียบเทียบกับจำนวน 1,400 ล้านคน ณ ปี พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม  ผลที่เกิดจากการที่ราคาอาหารและเชื้อเพลิงถีบตัวขึ้นสูงตั้งแต่ปี 2548 ประกอบกับวิกฤตการทางการเงินทั่วโลกที่ตามมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ได้ผลักดันให้ผู้คนหลายล้านคนต้องตกสู่ภาวะยากจนเป็นจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็นหากไม่เกิดวิกฤตทางการเงินโลกขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง องค์การสหประชาชาติ ซึ่งกำลังดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายลดอัตราส่วนคนยากจนที่สุดทั่วโลกในพ.ศ. 2558นั้นลดลงไปครึ่งหนึ่งของที่เคยเป็นเมื่อปี 2533 จะได้จัดให้มีการประชุมระดับผู้นำโลกในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้เพื่อหารือประเด็นดังกล่าว 

สำหรับครัวเรือนที่ยากจนแล้ว ความมั่นคงด้านอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เช่นเดียวกับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น เพราะเรารู้ว่าวิกฤตสามารถส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็กในระยะยาวนายเจด ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำการศึกษาผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซียและแอฟริกา กล่าว

นายฟรีดแมนอธิบายว่า เด็กเล็กมักเสียชีวิตในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากครอบครัวซึ่งมีรายได้ลดลงมักจะลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารตามไปด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กมักไม่พาเด็กที่เจ็บป่วยไปหาหมอ เพราะว่าต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ยิ่งไปกว่านี้ ระบบบริการสาธารณสุขในบางประเทศอาจมีอันล่มสลายทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ทั่วถึง ทำให้เป็นการยากขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมหรือทันท่วงที 

จากผลการศึกษาของนายฟรีดแมนและคณะพบว่า ทารกหญิงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงสุดในระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจ และปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นมักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าในแอฟริกา หรือในภูมิภาคอื่นๆ ที่ประชากรไม่ได้นิยมมีลูกชายมากกว่าลูกสาว

แบบแผนต่างๆ เหล่านี้มักไม่มีคำอธิบายในเชิงชีววิทยานายนอร์เบิร์ต ชาดี้ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ศึกษาผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชนกล่าว “เด็กผู้หญิงมักจะแข็งแกร่งกว่าเด็กผู้ชาย และเรายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในสัดส่วนการเกิดระหว่างเด็กชายกับหญิงในช่วงวิกฤต ที่จริงแล้วดูเหมือนว่าครอบครัวต่างๆพยายามที่จะปกป้องคุ้มครองเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงในช่วงทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ

วิกฤตส่งผลกระทบกับแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

วิกฤตเศรษฐกิจโลกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประเทศที่ร่ำรวยหรือที่มีรายได้ระดับปานกลาง  ซึ่งมีทรัพยากรที่จะรับมือกับความสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจได้มากกว่าด้วย นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่วนใหญ่ (เว้นแต่ในกรณีที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างน้อยร้อยละ 15) มักจะไม่ทำให้ตัวเลขอัตราการตายในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นายชาดี้กล่าว

อันที่จริงแล้ว ในสหรัฐอเมริกา สุขภาพและการศึกษาของเด็กกลับมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในช่วงวิกฤต ทั้งนี้ก็เพราะว่าชาวอเมริกัน ซึ่งประสบกับปัญหาอัตราการว่างงานสูง มีแรงจูงใจที่จะเรียนหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้พวกเขาอาจใช้เวลาอยู่กับลูกๆ มากขึ้น ควบคู่กับการตัดค่าใช้จ่ายในรายการอย่าง เช่น เครื่องดื่มมึนเมา

สำหรับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางนั้นมีสภาพแตกต่างกัน โดยประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกา เช่นเม็กซิโกและเปรู สุขภาวะของเด็กโดยรวมจะแย่ลงในขณะที่อัตราการเข้าเรียนในโรงเรียนกลับเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ นักวิจัยชี้ว่านั่นอาจมีผลมาจากการที่ค่าแรงเด็กถูกลงในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้   จึงทำให้การศึกษาเป็นสิ่งพึงประสงค์มากขึ้น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปลายทศวรรษ1980’s  รายได้ต่อครัวเรือนที่ลดต่ำลงกับการที่ระบบบริการสาธารณสุขของรัฐล่มสลายในเปรู  มีปฏิสัมพัทธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราการตายในเด็กทารก โดยในช่วงนั้นทำให้มีเด็กเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 17,000 คน

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจขาลงดูจะส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ในประเทศยากจนมากที่สุด และนักวิจัยกล่าวว่าผลกระทบดังกล่าวจะอยู่ติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต ตัวอย่างเช่น ในซิมบับเว ข้อมูลจากทีมวิจัยของนายอัลเดอร์แมนระบุว่า การที่เด็กจะสามารถดำรงชีพอยู่ต่อไปได้ภายหลังสงครามกลางเมือง และภัยแล้งนั้น ขึ้นอยู่กับความสูงของพวกเขาในช่วงวัยเด็กตอนต้น เด็กที่ตัวแคระแกรนเนื่องจากขาดสารอาหารก่อนวัยห้าขวบมักจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวเตี้ยกว่าและได้รับการศึกษาน้อยกว่า

นักวิจัยกล่าวว่าผู้กำหนดนโยบายสามารถและควรที่จะดำเนินการตอบสนองต่อความต้องการของเด็กทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและภายหลังวิกฤต “รัฐบาลสามารถดำเนินการด้านต่างๆ ในการคุ้มครองเด็กในครอบครัวที่ยากจนจากผลกระทบของวิกฤต” นายมาร์ติน ราวาลเลียน ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยด้านการพัฒนากล่าว “ตัวอย่างเช่นการให้แรงจูงใจทางการเงินสามารถที่จะให้ความคุ้มครองได้ในระดับหนึ่ง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินช่วยเหลือนั้นมาพร้อมกับเงื่อนไขผูกพันว่าพ่อแม่ต้องดูแลสุขภาพและสารอาหารของเด็ก” หัวใจที่สำคัญคือการออกแบบโครงการให้สอดคล้องกับสภาวะของแต่ละประเทศและปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้นด้วยข้อมูลที่ได้จากการติดตามประเมินผล

Api
Api

Welcome