กรุงวอชิงตัน ดีซี 2 มีนาคม 2553 – หลังจากได้ช่วยสาธารณรัฐเฮติทำการประเมินความเสียหายจากแผ่นดินไหวมาเมื่อไม่นานนี้ ธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือรัฐบาลชิลีรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริคเตอร์ที่ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ประเทศแห่งทวีปอเมริกาใต้นี้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยคร่าชีวิตผู้คนกว่า 700 คนและส่งผลกระทบให้กับชีวิตประชาชนอีกกว่า 2 ล้านคน
ประธานธนาคารโลก นายโรเบิร์ต บี เซลลิค กล่าวในระหว่างการแสดงความเสียใจกับรัฐบาลและประชาชนชาวชิลีในวันเสาร์ทันทีหลังจากที่เกิดภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายให้กับตอนกลางและตอนใต้ของประเทศว่าธนาคารพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์แผ่นดินไหวอันรุนแรงครั้งนี้
“เราขอส่งกำลังใจให้กับประชาชนชาวชิลีในเวลาอันยากลำบากนี้” นายเซลลิคกล่าว “ธนาคารโลกพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลชีลีในรูปแบบใดๆ ก็ตามแล้วแต่ที่รัฐบาลจะเห็นว่าเป็นประโยชน์”
ในช่วงแรกของแผนความช่วยเหลือที่มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแนวร่วมระหว่างธนาคารโลกกับอาสาสมัครภายใต้เครือข่ายการประเมินภัยพิบัติที่ชื่อ Global Earth Observation – Catastrophe Assessment Network (GEO-CAN) และ Crisis Camp ซึ่งเป็นขบวนการนักพัฒนาระดับรากหญ้าที่สนับสนุนบริการเครื่องมือทางการสื่อสารในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ จะทำการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประเมินความเสียหายทางโครงสร้างสาธารณูปโภค
ในช่วงถัดไปของแผนความช่วยเหลือนี้ นายโจแกง โทโร ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติของธนาคารโลกกล่าวว่า ธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการโดยตรงและทำการประเมินความต้องการหลังเกิดภัยพิบัติของประเทศ คล้ายคลึงกับที่ดำเนินการอยู่ในเฮติในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
นายโทโรอธิบายว่าการจัดเก็บข้อมูลและภาพถ่ายในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอาจทำได้ลำบากกว่าในเฮติทั้งนี้เพราะความเสียหายในชิลีนั้นกินพื้นที่กว้างกว่า แต่อย่างไรก็ดี ชิลีมีข้อมูลภาพถ่ายจำนวนมากอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งทีมงานจะสามารถใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบในกระบวนการประเมินความเสียหายได้
ยิ่งไปกว่านี้คณะของนายโทโรมีประสบการณ์ในเฮติมาแล้ว
“เราจะพึ่งเครือข่ายสถาบันกว่า 600 สถาบันจาก 20 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการประเมินความเสียหายในเฮติมาแล้ว” นายโทโร ผู้เป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญขนาดเล็กแต่มีความมุ่งมั่นสูง ในแผนกการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของฝ่ายลาตินอเมริกาและคาริบเบียนของธนาคารโลกกล่าว
เพื่อการจัดเก็บข้อมูลความเสียหายในพื้นที่ในเฮติ นายโทโรและคณะได้ร่วมงานกับมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ เอกชนและหน่วยงานของรัฐบาลจำนวนมาก ซึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมงขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อรวบรวมภาพที่ได้บันทึกไว้อย่างรวดเร็วตามสถานการณ์
ความริเริ่มดังกล่าวเกิดจากประสบการณ์ในการดำเนินการห้องเกาะติดสถานการณ์เฮติ (Haiti situation room) ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการประเมินความเสียหายเบื้องต้นในพื้นที่จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 2 ถึง 3 สัปดาห์เหลือเพียง 36 ชั่วโมง ทำให้สามารถช่วยชีวิตคนและช่วยบ่งบอกความเสียหายที่แท้จริงของเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้เร็วขึ้น
ในขณะที่เครื่องบินจากสถาบันเทคโนโลยีโรเชสเตอร์ (Rochester Institute of Technology – RIT) เก็บภาพถ่ายคุณภาพสูงจากพื้นที่ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เครื่องแม่ข่าย (server) ขนาดยักษ์ของมหาวิทยาลัยบัฟฟาโลก็ส่งจัดส่งภาพดังกล่าวไปยังภาคีร่วมต่างๆ เพื่อการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญและการร่วมมือผ่านระบบออนไลน์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการความช่วยเหลือของ Crisis Camps ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฮติในวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา อาสาสมัครดังกล่าวนี้ รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเช่น ไมโครซอฟท์และกูเกิล ตลอดจนผู้พัฒนาระบบซอฟท์แวร์แบบเปิดเผยต้นรหัส (open-source developers) เช่น OpenStreetMap ซึ่งสามารถจับภาพเหตุการณ์ตามเวลาจริงในปอร์โตแปรงซ์ได้อย่างแม่นยำ
ชุมชนอาสาสมัครที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนี้จะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดอีกครั้งหนึ่งในการพัฒนาเครื่องมือทางอินเตอร์เน็ตสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน การสื่อสารและการเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ที่เสียหาย
ชุมชนอาสาสมัครนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วในชิลี ทันทีที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวอุบัติขึ้นในวันเสาร์ ได้มีการจัดตั้ง Crisis Camp Chile ขึ้นทันทีและมีการปรับใช้เครื่องมือทางอินเตอร์เน็ตในการตอบรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีอยู่แล้วให้เข้ากับสถานการณ์ของชิลี รวมถึง People Finder Tweak the Tweet และ CrisisWiki นายโทโรกล่าว
นายโทโรอธิบายเพิ่มเติมว่าชุมชนระหว่างประเทศของ Crisis Camp ยังได้เชื่อมประสานการดำเนินงานกับชุมชนเทคโนโลยีของชิลีเช่น ‘Digitales para Chile’ เพื่อดึงดูดอาสาสมัครเข้ามาร่วมงานอีกด้วย
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความพยายามดังกล่าวจะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับการสามารถในการบ่งบอกความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของรัฐบาลและประชาสังคมให้ได้โดยร่วมมือกันอย่างแข็งขันกับทุกฝ่าย
“เป็นความโชคดีที่เจ้าหน้าที่ของชิลีตอบรับข้อเสนอความช่วยเหลือของธนาคารโลกอย่างรวดเร็ว และในขณะนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างการพยายามระบุความต้องการที่เฉพาะดังกล่าวของประเทศร่วมกับผู้มีอำนาจหน้าที่ เพื่อที่จะปรับทรัพยากรความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับความต้องการเหล่านี้” นายโทโรอธิบาย
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การที่ชิลีมีประวัติการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตอบรับสถานการณ์ฉุกเฉินมาเป็นเวลานาน ประกอบกับมีความคุ้นเคยกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวน่าจะทำให้การดำเนินการง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ภาระหน้าที่ในเบื้องหน้านี้ยังยากลำบากนัก
แผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริคเตอร์ที่สร้างความเสียหายให้กับชิลีในตอนเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ผ่านมานั้นเป็นแผ่นดินไหวที่มีสถิติกำลังแรงเป็นอันดับที่เจ็ดในประวัติศาสตร์ ตามข้อมูลของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) เบื้องต้นรัฐบาลได้คาดการณ์ว่า อาคารบ้านเรือนกว่า 500,000 หลังถูกทำลายพินาศลง ในขณะที่ถนน สะพาน ท่าเรือและโครงสร้างทางสาธารณูปโภคเสียหายอย่างรุนแรง รายงานผู้เสียชีวิตจากภัยแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ที่ 795 คน แต่คาดว่าอาจจะสูงขึ้นอีก
ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวในชิลีจะรุนแรงกว่าเฮติถึง 500 เท่า แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการที่ชิลีมีกฎระเบียบในการก่อสร้างที่เข้มงวดและมีโครงสร้างบ้านเรือนที่สามารถต้านทางผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่งนั้น มีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการควบคุมไม่ให้จำนวนผู้บาดเจ็บเสียชีวิตและความเสียหายรุนแรงไปกว่าที่เป็นอยู่นี้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลในการลดทอนความเสียหายอีกประการหนึ่งคือ การที่จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัย ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
“ผลลัพธ์จากสถานการณ์ดังกล่าวก็คือผลกระทบต่อหัวประชากรในชิลีจึงต่ำกว่าในเฮติมาก” นายโทโรกล่าว