เรื่องเด่น

บทเรียนจากอาเจะห์สามารถช่วยในการฟื้นฟูเฮติได้

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553


3 กุมภาพันธ์ 2553 – แม้ว่าเรายังไม่สามารถประเมินได้ว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศเฮติ (อันสืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา) นั้นจะหนักหนาสาหัสสักแค่ไหน หากแต่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งรวมถึงผู้ชำนาญการพิเศษของธนาคารโลก ก็กำลังให้ความสนใจกับบทเรียนที่ได้รับจากการจัดการด้านการฟื้นฟูจากภัยธรรมชาติอื่นๆในอดีต

ตัวอย่างของการฟื้นฟูภัยพิบัติเหล่านี้ อาทิ เหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง โดยคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 200,000 ชีวิต และทำให้ประชากรกว่าครึ่งล้าน เฉพาะในจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ต้องไร้ที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกที่รับผิดชอบด้านการฟื้นฟูในจังหวัดอาเจะห์ได้กล่าวว่า ประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นความหวังอันดีของประเทศเฮติ

นายสก็อตต์ กุกเกนไฮม์ ผู้ชำนาญการพิเศษด้านการพัฒนาสังคมของธนาคารโลก ได้เดินทางเข้าไปยังจังหวัดอาเจะห์ภายหลังจากเกิดสึนามิเพียง 4 วัน เพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มคนที่ทำงานในโครงการที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมของเขา (community-based development project) ยังคงปลอดภัยดี รวมทั้งเพื่อหาทางช่วยเหลือให้พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายนี้ได้รับการฟื้นฟูโดยเร็ว

“ผมรวบรวมคนได้สัก 45 คน พวกเขาอยู่ในสภาวะตื่นตระหนก แต่ทุกคนก็มีความยินดีที่มีโอกาสได้มาพบกัน” นายสก็อตต์ กุกเกนไฮม์ กล่าว “เราใช้เวลาตลอดทั้งเช้าพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมถามพวกเขาว่าอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่หรือเปล่า และพวกเขาทุกคนก็ตอบตกลง”

และนี่ก็คือการเริ่มต้นของความพยายามในระดับรากหญ้า ในอันที่จะสร้างจังหวัดอาเจะห์ขึ้นมาใหม่ทีละหมู่บ้าน และทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

“ท่ามกลางความขัดแย้งและภัยพิบัติ วิธีการเริ่มสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ได้แก่ การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอันดับแรก เพราะเราต้องการความช่วยเหลือจากผู้คนเหล่านี้ในการก่อสร้างชุมชน และเพราะเขาเหล่านี้กำลังอยู่ในภาวะสับสน ตื่นตระหนก และเจ็บปวด” นายกุกเกนไฮม์ กล่าว

การฟื้นฟูที่ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งตรงข้ามกับการใช้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาทำการก่อสร้างบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติขึ้นมาใหม่ เป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของธนาคารโลกกล่าวว่าน่าจะสามารถใช้ได้ผลในประเทศเฮติ ซึ่งกำลังประสบกับภาระอันหนักหน่วงในการฟื้นฟูประเทศจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ประเทศเฮติซึ่งมีภูมิประเทศเป็นเกาะต้องสูญเสียประชากรไปกว่า 100,000 ชีวิต พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองหลวงถูกทำลายเนื่องจากภัยพิบัติที่รุนแรงครั้งหนึ่งของโลกในครั้งนี้ และในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดนี้ ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลรวมอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

และในระหว่างที่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเบื้องต้นกำลังดำเนินอยู่ต่อไป คณะทำงานจากหลายต่อหลายหน่วยงาน รวมทั้งจากธนาคารโลก กำลังเตรียมการประเมินความเสียหาย ความสูญเสีย และความต้องการที่เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อวางแผนและขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟู ตลอดจนสร้างชุมชนที่ถูกทำลายขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่าจะเป็นความท้าทายอันใหญ่หลวง หากแต่ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศอินโดนีเซีย นายโยคิม วอน แอมสเบิร์ก ก็ได้กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่าประสบการณ์ของอาเจะห์ได้สอนบทเรียนที่สำคัญ 3 ประการให้กับเฮติ ซึ่งได้แก่ 1) ความเป็นผู้นำทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการบูรณะพื้นที่ 2) การให้อำนาจแก่ประชาชนและชุมชนเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ และ 3) การประสานความช่วยเหลือในระดับโลกเป็นสิ่งจำเป็น

ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกที่ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่มาแล้วถึง 8 ครั้ง ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ได้เสนอมุมมองเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การดำเนินการที่อาจได้ผลในเฮติไว้เพิ่มเติมอีกบางประการ

ข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่

  • ต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพัฒนาแผนการบูรณะฟื้นฟูภายใต้การดำเนินการของรัฐบาล แผนการดังกล่าวจะต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะสามารถประยุกต์ให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนไปของพื้นที่ได้ และควรมีความเรียบง่าย
  • ไม่ควรมอบหมายความรับผิดชอบใดๆที่เกินกำลังของผู้ปฏิบัติงานจะแบกรับ
  • พิจารณาลำดับขั้นตอนการสร้างชุมชนตั้งแต่การดำเนินการในขั้นแรก
  • หาทางให้วิถีชีวิตตามแบบฉบับดั้งเดิมของชุมชน การศึกษาเล่าเรียนของเด็ก ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชุมชนดำเนินอยู่ก่อนภัยธรรมชาติครั้งนี้จะเกิดขึ้น และความรู้สึกว่าสถานการณ์ทั่วไปอยู่ในภาวะปกตินั้นกลับคืนมาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (เพื่อบรรเทาผลกระทบทางจิตใจแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ)
  • ดำเนินการอย่างโปร่งใสมากที่สุด และลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการบูรณะฟื้นฟูได้รับการสื่อสารไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
  • ควบคุมดูแลการสนับสนุนด้านเงินทุนและกิจกรรมต่างๆในการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด

ความรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ

ในขณะที่สึนามิได้ทำลายสถาบันต่าง ๆ ในภาครัฐของอาเจะห์ไปมากมาย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก ซึ่งรวมถึงนายกุกเกนไฮม์ นายอนิรุทธ์ ดัสคุปต์ นายจีฮัน อารุลปรากาซาม นายโจเอล เฮลล์แมน นางซูซาน หว่อง และนายวูล์ฟกัง เฟงเลอร์ ก็ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกทั้งหมดในประเทศอินโดนีเซียและคณะผู้บริหารประจำภูมิภาคของธนาคารโลก เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ที่จะช่วยให้การสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ดำเนินต่อไป แม้ว่าจะปราศจากแรงสนับสนุนจากภาครัฐในวงกว้างก็ตาม (เนื่องจากหน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมารับผิดชอบการบูรณะอาเจะห์อย่างทันท่วงที)

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ความสำคัญกับความรวดเร็วมากกว่าการวางแผนในรายละเอียด โดยขอให้แต่ละหมู่บ้านทำการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนอย่างคร่าวๆ ตลอดจนระบุเขตที่ตั้งหมู่บ้านของตน ในขณะเดียวกัน ก็มีการมอบเงินทุนช่วยเหลือให้กับหมู่บ้าน โดยเงินทุนก้อนแรกเป็นการมอบให้เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน และก้อนต่อๆมา เพื่อการสร้างหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ มีการจัดตั้งและดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่เป็นระยะเวลา 3 เดือนหลังเกิดภัยพิบัติสึนามิ นายกุกเกนไฮม์ กล่าว

“ความช่วยเหลือของธนาคารโลกมักเป็นไปอย่างรวดเร็ว และความช่วยเหลือในอาเจะห์ก็เป็นไปด้วยความรวดเร็วเช่นกัน หากมีเครือข่ายท้องถิ่นเพียงพอให้เราสามารถวางระบบต่างๆลงไปได้” นายวูล์ฟกัง เฟงเลอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ซึ่งได้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลอินโดนีเซียในการแต่งตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการฟื้นฟูบูรณะอาเจะห์เมื่อ พ.ศ. 2547 กล่าวเสริม

เครือข่ายดังกล่าวเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ชุมชนมีส่วนร่วมซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล และเป็นโครงการที่ธนาคารโลกให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเพียงไม่กี่โครงการที่ดำเนินการอยู่ในอาเจะห์ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ

ในประเทศเฮติเอง ก็มีการดำเนินโครงการที่ชุมชนมีส่วนร่วมที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากธนาคารโลกอยู่เช่นกัน โครงการดังกล่าวได้แก่ โครงการ PRODEP ซึ่งดำเนินการในชุมชนชนบทจำนวน 59 แห่ง และโครงการ PRODEPUR ในเขตเมือง ซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่ยากไร้และได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดใกล้เมืองปอร์โตแปรงซ์ด้วย

เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกในเฮติและกรุงวอชิงตันกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วนเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ หน่วยงานที่ชุมชนมีส่วนร่วม (community-based organizations-CBOs) ในเฮติประมาณ 4,000 แห่ง จะมีบทบาทสำคัญในการส่งมอบเสบียงยังชีพ ตลอดจนการเก็บกวาดและการก่อสร้างอาคารต่างๆขึ้นใหม่ นายอายัท โซลิมาน หัวหน้าโครงการ 2 โครงการของธนาคารโลก กล่าว มีการขึ้นบัญชีรายชื่อหน่วยงานที่ชุมชนมีส่วนร่วมแล้วกว่า 600 แห่ง และแต่ละหน่วยงานก็ได้รับมอบหมายให้มีส่วนร่วมในเชิงรุก ในความพยายามที่จะบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟู ตลอดจนสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ในครั้งนี้

“การดำเนินการด้วยความรวดเร็วในสถานการณ์หลังภัยพิบัติ มีความสำคัญเท่าเทียมกับการวางแผน และอาจถือได้ว่ามีความสำคัญเท่าๆกับคุณภาพเลยทีเดียว” นายแฟงเลอร์ กล่าว

“อย่าเสียเวลาไปกับการวางแผนอย่างละเอียด เราจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลในการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู แต่อย่าให้ยุทธศาสตร์นั้นยืดยาวและลงรายละเอียดมากเกินไป ยุทธศาสตร์ควรเป็นเอกสารที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม”

นายกุกเกนไฮม์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ในจังหวัดอาเจะห์นั้น ผมเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารโลกต้องจัดให้มีสำนักงานภาคสนามที่มั่นคงขึ้นตั้งแต่แรกเริ่ม การเปิดสำนักงานและจัดหาเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ที่จำเป็น เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังรัฐบาลว่าเรามีความพร้อมสำหรับภารกิจอันหนักหน่วง และจะปฏิบัติงานร่วมกับรัฐบาลจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ส่งคณะที่ปรึกษาเข้าไปให้คำแนะนำแล้วก็จากมา พวกเขาบอกเรื่องนี้กับเราครั้งแล้วครั้งเล่า”

การฟื้นฟูวิถีชีวิตและการสร้างงานมีความสำคัญเป็นอันดับแรก

ประสบการณ์ที่ผ่านมายังได้แสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูวิถีชีวิตและการสร้างงานให้กับเหยื่อภัยพิบัติมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และยังได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูในระยะแรกโดยอัตโนมัติ” นายแฟงเลอร์ กล่าว

ความสำคัญของการให้อำนาจแก่ประชาชนในท้องถิ่นและชุมชนเป็นบทเรียนที่สำคัญอีกบทหนึ่งที่ธนาคารโลกได้เรียนรู้ ตามความเห็นของนางพาเมล่า ค็อกซ์ รองประธานธนาคารโลกประจำลาตินอเมริกาและคาริบเบียน

“เหยื่อภัยพิบัติสามารถทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาท้องถิ่นได้ ผู้รับความช่วยเหลือสามารถเปลี่ยนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชน และผู้คนที่ไร้ที่อยู่อาศัยก็สามารถสร้างอนาคตของตนเองขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง” นางค็อกซ์ ได้กล่าวไว้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับกรณีภัยพิบัติที่เฮติ ที่จัดขึ้น ณ กรุงมอนเทรอัล เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินสด หรือที่มักเรียกกันว่าการโอนเงิน (cash transfers) ก็มิได้เพียงช่วยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวมีเงินมาใช้จัดหาสิ่งของที่ตนต้องการในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังเกิดภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ และยัง “ช่วยให้พวกเขากลับสู่สภาวะปกติได้ในระดับหนึ่งท่ามกลางความโกลาหล” นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก นางธารา วิษวาณัฐกล่าว

นางวิษวาณัฐได้ออกแบบโครงการให้ความช่วยเหลือแบบที่เรียกว่าการโอนเงินในศรีลังกา หลังจากเกิดสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 และในปากีสถานหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งได้คร่าชีวิตประชากรกว่า 73,000 คน และทำให้ผู้คนอีก 2.8 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย รวมทั้งทำให้ประชากรกว่าหนึ่งล้านคนที่ไม่มีงานทำเมื่อฤดูหนาวมาถึง

การประสานงานและตรวจสอบเป็นสิ่งสำคัญ

เนื่องจากมีการคาดหมายว่าจะมีความช่วยเหลือจากหลายต่อหลายแหล่งหลั่งไหลเข้ามายังเฮติ (ซึ่งรวมถึงเงินช่วยเหลือจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากธนาคารโลก และอีก 200 ล้านเหรียญ ฯ ที่โอนมาจากโครงการอื่นๆ ซึ่งมีอยู่แล้ว) ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประสานงานเพื่อให้การฟื้นฟูและการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ดำเนินไปอย่างราบรื่น

“เฮติต้องการความสามารถ ทรัพยากร และพลังงานจากทุกๆฝ่าย ทั้งในลักษณะทวิภาคีและพหุภาคี จากหน่วยงานไม่หวังผลกำไรต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน” นางค็อกซ์ กล่าว ณ กรุงมอนทรีออล ประเทศแคนาดา “เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเกิดผลสูงสุด พวกเขาจะต้องไม่ยอมให้ทรัพยากรของรัฐบาลเฮติและสถาบันระดับท้องถิ่นต่างๆอันมีอยู่อย่างจำกัดถูกใช้ไปอย่างสูญเปล่า”

ในอาเจะห์นั้น สำนักงานของธนาคารโลกรวมทั้งคณะทำงานที่ปฏิบัติงานอยูในสถานที่ที่เกิดภัยพิบัติขึ้น ได้กลายเป็น “กลไกการประสานงาน ระหว่างผู้มีส่วนรับผิดชอบกิจกรรมฟื้นฟูบูรณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเบื้องต้นไปโดยปริยาย แต่เป็นกิจกรรมที่ในภายหลังจะกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อแง่มุมด้านการพัฒนาของการก่อสร้าง” นายกุกเกนไฮม์กล่าว

คณะทำงานของธนาคารโลกมีการส่งผ่านข้อมูลในการปฏิบัติงานจริงที่ทันต่อเหตุการณ์ไปยังคณะผู้บริหารอาวุโส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในระยะเริ่มต้นของการฟื้นฟูได้อย่างทันท่วงที นายกุกเกนไฮม์กล่าวเพิ่มเติม

การตรวจสอบการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการสื่อสารในลักษณะนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่สู่การก่อสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ นายเฟงเลอร์กล่าว ทั้งนี้เขายังเสริมด้วยว่า ความพยายามดังกล่าวจำเป็นต้องมีการติดตามผลในการดำเนินการจริง รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลด้วยความชำนาญ

“หากเราต้องดำเนินโครงการต่างๆนับพันโครงการอย่างเช่นที่ประเทศเฮติจะต้องทำ เราก็จำเป็นต้องมีบุคลากรที่สามารถติดตามผลการดำเนินงานและมีความเข้าใจในโครงการเหล่านั้น การติดตามโครงการไม่ได้ทำโดยใช้ระบบสารสนเทศ แต่ต้องทำกับคนที่รู้ว่าจะจัดการกับข้อมูลต่างๆอย่างไร และการดำเนินการที่ว่านี้ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากเมื่อเราเดินหน้าต่อไป รัฐบาล ตลอดจนผู้ร่วมดำเนินการฝ่ายต่างๆ จะต้องทำการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆมากมาย โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าจะจัดสรรเงินช่วยเหลือไปยังพื้นที่ใดบ้าง และโดยช่องทางใด เราจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐาน เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ได้ และข้อมูลที่เชื่อถือได้ ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีความสำคัญมากเพียงใดในกรณีภัยพิบัติที่อาเจะห์”

การรับมือกับภัยพิบัติสึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547 ของโลก ส่งผลให้เกิดความช่วยเหลือมูลค่านับหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯก่อให้เกิดการก่อตั้งกองทุนพิเศษเพื่อให้ความช่วยเหลือมูลค่า 7,000 ล้านเหรียญฯ ในภูมิภาคที่ได้รับความเสียหาย กองทุนดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศและองค์กรต่างๆรวม 15 แห่ง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยลด ภาระค่าธรรมเนียมการโอนเงินให้กับรัฐบาลของประเทศที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

นอกจากนี้ กองทุนพิเศษเพื่อให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ก็ยังทำหน้าที่เป็นเวทีอันเข้มแข็งสำหรับการอภิปรายด้านนโยบายอีกด้วย นายเฟงเลอร์ กล่าว

“กองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคจำนวนหลายรายนี้ได้บรรลุความสำเร็จในประเด็นหลักๆ 2 ประการ ประการแรก ได้แก่ กองทุนดังกล่าวได้นำมาซึ่งการสนับสนุนด้านการเงินซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการโอนเงินให้กับรัฐบาลได้เป็นมูลค่ามหาศาล และประเด็นที่สอง คือ กองทุนดังกล่าวได้ทำให้เกิดเวทีอภิปรายในระดับสูงสำหรับรัฐบาลและกลุ่มภาคีเพื่อการพัฒนา เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับประเด็นด้านนโยบาย รวมทั้งพิจารณาภาพรวมของโครงการการสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ได้เป็นประจำทุกเดือน”

ในประเทศเฮตินั้น “รัฐบาลไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเข้าร่วมในการประชุมที่จัดขึ้นในหลายวาระ เพื่อจัดสรรทรัพยากรต่างๆ การมีระบบสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพจึงจะช่วยพวกเขาได้เป็นอย่างมาก” นายฟรานซิส เกสกิเยร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งเป็นผู้นำในภารกิจการประเมินหลังเกิดภัยพิบัติในปอร์โตแปรงซ์ กล่าวย้ำในที่สุด

Api
Api

Welcome