เรื่องเด่น

นโยบายรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

โดย จัสติน ยีฟู หลิน

แม้จะเป็นที่ทราบกันดีในอดีตว่าความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินอย่างรุนแรงได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในยุคที่เศรษฐกิจยังเฟื่องฟู (ระหว่างปี 2546-2550) อยู่นั้น  ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในนโยบายและการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นในภาคการเงินของเศรษฐกิจที่เติบโตเต็มที่  หรือในกลุ่มตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง ไม่มีใครเต็มใจหรือกล้าที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น หรือเผยแพร่ข่าวร้ายที่จะทำให้แขกของงานปาร์ตี้หมดอารมณ์เฉลิมฉลอง อีกทั้งกฎระเบียบโลกในด้านต่างๆก็ไม่มีอำนาจพอที่จะทำเช่นนั้นได้ด้วย  

นอกจากนี้   ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์และการเงินหลายคนยังวิเคราะห์จังหวะะเวลาที่น่าจะเกิดวิกฤติผิดพลาดไป  รวมทั้งไม่มีใครสามารถประเมินความเร็วและความรุนแรงของวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้เอง แม้เราจะได้เห็นนโยบายตอบสนองระดับมหภาคที่แข็งแกร่งจากหลายฝ่ายในช่วงที่วิกฤติกำลังลุกลาม แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันก็ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน  

ในอนาคตอันใกล้นั้น ความท้าทายที่สำคัญจะอยู่ที่การเร่งให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสม การเพิ่มผลผลิตในอนาคตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และในขณะเดียวกัน การขยายกรอบการทำงานด้านการกำกับดูแลของภาคการเงินเพื่อป้องกันวิกฤติอื่นๆที่จะเกิดขึ้นและการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

วิกฤติเศรษฐกิจโลก

เรามีความเข้าใจพอสมควรในปัจจุบันถึงสาเหตุหลักของวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้  ซึ่งก็คือนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่หละหลวมในสภาพแวดล้อมที่มาตรการกำกับดูแลยังขาดความรัดกุมอยู่ ทำให้เอื้อต่อความพยายามของนักลงุทนที่จะจับเสือมือเปล่าด้วยการใช้เงินทุนหรือสินทรัพย์ที่คาดว่าจะมีในอนาคตมาเป็นเดิมพันในการพนันขันต่อ ณ ปัจจุบัน การประเมินความเสี่ยงที่ผิดพลาด และการก่อตัวของความเสี่ยงในระบบการเงินของโลก 

วิกฤติการเงินโลกได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางหลายประการในระบบการเงินโลกที่เชื่อมต่อประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่รับรู้และได้รับการรายงานมาเนิ่นาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข 
 
วิกฤติการณ์ดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาครวมทั้งการดำเนินงานของภาคการเงินอย่างต่อเนื่องนั้น  มีอยู่ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดเกิดใหม่  ขณะที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ซึ่งได้รับบทเรียนจากวิกฤติในช่วงทศวรรษที่ 90 ถูกจับตามองทั้งจากตลาดและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IFIs)  

ศักยภาพของประเทศเหล่านี้ที่จะมีอิทธิพลต่อนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจก้าวหน้ากว่านั้นยังอยู่ในขอบเขตจำกัด นี่เป็นข้อเท็จจริงในเศรษฐกิจระดับใหญ่ซึ่งเงินสกุลท้องถิ่นมีสถานะเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั่วโลก 

ในเศรษฐกิจเหล่านี้ แรงจูงใจที่จะปรับความไม่สมดุลภายในประเทศยังมีอยู่น้อยเนื่องจากสภาพคล่องของสินทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นดอลล่าร์นั้นมีอยู่สูง สามารถตอบสนองความต้องการเงินทุนจากนอกประเทศได้โดยง่าย เศรษฐกิจโลกได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากสภาวะเศรษฐกิจเฟื่องฟูในช่วงปี 2546-2550 ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากปัจจัยที่ไม่ยั่งยืน

ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากวิกฤติการเงินนั้นมีมูลค่ามหาศาล ทำให้มูลค่าโดยรวมของตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงเกือบครึ่งในปี 2551  คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จนถึงปัจจุบันในปี2552 ตลาดฟื้นตัวแล้วประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น    ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว มูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนอันเกิดจากการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ทรุดต่ำลงนั้นอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2551

ความเสียหายขนาดใหญ่นี้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการบริโภคและการออมในภาคครัวเรือน ทำให้วิกฤติโลกในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาคการเงินแต่ได้ขยายไปยังภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงด้วย การผลิตด้านอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 2552 ตกลงร้อยละ 23 ในยุโรปตะวันออก ร้อยละ 62 ในญี่ปุ่น และร้อยละ 42 ในเยอรมนีจากการวัดการเปลี่ยนแปลงแบบอัตรารายปีปรับฤดูกาล (seasonally-adjusted, annualized rates - SAAR) 

โดยภาพรวมของโลกนั้น การผลิตด้านอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 28 ในไตรมาสแรกหลังการลดลงร้อยละ 22 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ก่อนที่การถดถอยนั้นจะชะลอความรุนแรง โดยมาอยู่ที่ร้อยละ 19 ในเดือนเมษายน 2552 (โดยการใช้ฐาน SAAR ตามไตรมาส) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกนั้น การส่งออกของจีนและญี่ปุ่นลดลงกว่าร้อยละ 50 และร้อยละ 43 ในเกาหลี นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการคาดการณ์ว่า 2552 จะเป็นปีที่การค้าโลกจะถดถอยอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2472 เป็นต้นมา

มีเอกสารวิจัยและความเห็นจากนักวิเคราะห์ต่างๆ ซึ่งได้เปรียบเทียบธรรมชาติและความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกับสถานการณ์ในอดีต เช่น the Great Depression ในทศวรรษที่ 30 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 90

  • เช่นเดียวกับ the Great Depression วิกฤติในครั้งนี้มีเหตุมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการเงินสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน  ขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเชื่อมโยงกันของเศรษฐกิจโลกก็ทำให้ปัญหามันลุกลามไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วหลังจากบริษัทเลห์แมน บราเธอร์สล้มละลายลงเมื่อเดือนกันยายน 2551 
  • ข้อแตกต่างระหว่างการแห่ถอนเงินออกจากธนาคารในช่วงทศวรรษที่ 30 กับวิกฤติการเงินครั้งนี้ก็คือ วิกฤติครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการใช้เครื่องมือทางการเงินซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าเครื่องมือการเงินอื่นๆ ในอดีต ทำให้การประเมินราคาของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น การที่มีสถาบันการเงินต่างๆ มากมายถือครองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอยู่นั้นได้กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงจากการถือครองสินทรัพย์เหล่านี้กระจายไปทั่วระบบการเงินอย่างรวดเร็ว อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจต้องล่มสลายหลังจากที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมาเป็นเวลาหลายปี ในกลางปี 2550 การล่มสลายนั้นเริ่มต้นด้วยวิกฤติในตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐฯ การลดลงของมูลค่าของสินทรัพย์นอกงบดุลผลักดันให้สถาบันการเงินหลายแห่งเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ยิ่งไปกว่านั้น นวัตกรรมการเงินหลายประเภทในทศวรรษที่ผ่านมาที่นักลงทุนเชื่อว่าจะทำให้เกิดการลงทุนในหลากหลายรูปแบบและก่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ได้กลายมาเป็นช่องทางสำคัญที่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของระบบการเงินทั้งระบบได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว วิกฤติที่มีสาเหตุมาจากสินเชื่อด้อยคุณภาพจึงได้กลายเป็นวิกฤติการเงินโลกอย่างเต็มตัว
  • กำลังการผลิตส่วนเกินในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงก่อนช่วงวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมนั้น จะส่งผลให้ความสามารถในการผลิตล้ำหน้าความต้องการที่แท้จริงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวแล้วก็ตาม เมื่อภาคครัวเรือนตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างฉับพลันด้วยการลดการบริโภค และภาคการเงินตอบสนองต่อภาวะวิกฤติทางการเงินด้วยการระมัดระวังต่อการลงทุนมากขึ้น  ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แหล่งเงินทุนต้องเหือดหาย อุปสงค์รวม (aggregate demand) จึงลดต่ำลงทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 69.1 ในเดือนมีนาคม 2552  ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่มีการรวบรวมสถิติในปี 2510 เป็นต้นมา อัตราการใช้กำลังการผลิตในเยอรมนีนั้นอยู่ที่ร้อยละ 72 และร้อยละ 65 ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำสำหรับช่วงทศวรรษนี้  ภาวะที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงนี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจเวียนว่ายอยู่ในวัฏจักรแห่งความถดถอย และทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการมองหาโอกาสการลงทุนที่จะประสบผลสำเร็จ เช่นนั้นแล้วอุปสงค์ในการลงทุนก็ลดลงตามไปด้วย หลายบริษัทต้องเผชิญกับภาวะล้มละลาย ภาวะเช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงในอาชีพและรายได้ของคนงาน ทำให้พวกเขาต้องลดค่าใช้จ่ายและการบริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นดำเนินต่อไปอีกยาวนาน
  • ประการสุดท้าย กลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาขนาดเล็กโดยมากมักใช้การลดค่าเงิน ซึ่งทำให้ราคาสินค้าส่งออกของตนได้เปรียบประเทศอื่นๆ นำไปสู่การขยายตัวของภาคส่งออกอันจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตด้วย มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ใช้ไม่ได้เลยในสภาพแวดล้อมที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมอยู่ในภาวะตกต่ำ ถ้าปราศจากความร่วมมือซึ่งกันและกันแล้ว เครื่องมือในการดำเนินนโยบายทั้งในประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนามีแนวโน้มว่าจะด้อยประสิทธิภาพ และถ้าเราไม่จัดการกับกำลังการผลิตส่วนเกินแล้วล่ะก็ พวกเราทั้งหมดจะประสบกับวิกฤติที่ยืดเยื้อ

ในกลางเดือนมีนาคม 2552 ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความมั่นใจว่าจะไม่มีสถาบันการเงินไหนล้มละลายอีก ตลาดเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นและเงินทุนต่่างๆ ก็เริ่มหลั่งไหลไปยังประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้ง การลงทุนในหลักทรัพย์ในประเทศกำลังพัฒนาในสองเดือนแรกของไตรมาสที่สองมากกว่ายอดรวมสำหรับไตรมาสที่หนึ่งทั้งไตรมาส  

ขณะที่ทั้งการปล่อยสินเชื่อของธนาคารและการออกพันธบัตรก็เพิ่มขึ้นไปด้วย ทำให้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งอย่างรวดเร็ว โดยนับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ตลาดประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 19 ในประเทศที่มีรายได้สูง

แม้กระนั้นก็ตาม สภาวะโดยรวมของตลาดก็ยังคงต่ำกว่าสถิติสูงสุดในช่วงก่อนวิกฤติ ความเคลื่อนไหวในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นสัญญาณแรกๆของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ก็ได้เป็นไปในวิถีทางที่ชี้ว่ามีพัฒนาการในทางบวกมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และในประเทศกำลังพัฒนาทางเอเชียตะวันออกบางประเทศ  

พัฒนาการเหล่านี้สอดคล้องกับจุดพลิกผันของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ในยุโรปและญี่ปุ่นจะไม่ดีเท่าที่เห็นในสหรัฐฯ แม้ว่าการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคและความมั่นใจทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น สถิติทางเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง

ในวันนี้ ความไม่แน่นอนยังปกคลุมอยู่ทั่วไป ผลผลิตโลกได้รับการคาดการณ์ว่าจะหดตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2552 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 การค้าโลกมีแนวโน้มหดตัวลงร้อยละ 10 ในปี 2552 และการว่างงานจะสูงขึ้นในประเทศอุตสาหกรรม เนื่องจากประเทศที่มีรายได้สูงยังคงซวนเซจากการล่มของตลาดสินทรัพย์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

นโยบายในการรับมือ

ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ที่ดำเนินไปในช่วง the Great Depression การเข้าแทรกแซงโดยหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมและรวดเร็วได้ช่วยป้องกันมิให้การล่มสลายของระบบทางการเงินโลกต้องมาถึง ณ ปลายปี 2551 ธรรมชาติโดยรวมของนโยบายแทรกแซงและขนาดของการแทรกแซงซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการขยายงบดุลของภาครัฐนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคปัจจุบัน 

ขนาดของการแทรกแซงในภาคการเงินในช่วงปี 2551-2552 นั้นมหาศาล มีมูลค่ารวมเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 50 ของความเสมอภาคของอำนาจซื้อถ่วงน้ำหนักด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสำหรับประเทศที่ระบบเศรษฐกิจได้พัฒนาไปไกลกว่าประเทศอื่น ๆ   

แต่ทั้งๆที่มีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบมากมาย รวมทั้งการสนับสนุนสภาพคล่องผ่่านช่องทางพิเศษ  การผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน  การประกันความเสี่ยงต่างๆ การกำหนดสถานการณ์จำลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสถาบันการเงินในการรับมือกับภาวะวิกฤติที่มาแบบฉับพลัน และการประกาศแผนปรับโครงสร้างการเงินด้วย สถานะทางการเงินของภาคเอกชนก็ยังไม่กลับคืนสู่เสถียรภาพเท่าที่ควร

นอกเหนือจากการให้การสนับสนุนภาคการเงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาด้านการประสานงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน   การจัดการภาวะวิกฤติให้ำด้อย่างมีประสิทธิภาพนี้ต้องใช้นโยบายที่ครอบคลุม เด็ดขาดและสอดคล้องกันทั่วโลกในรูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (fiscal stimulus) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือเขตแดนของแต่ละประเทศควบคู่กันไปด้วย 

ในกรณีของกลุ่มประเทศ G-20 ส่วนใหญ่นั้น นอกเหนือจากการช่วยเหลือภาคการเงินแล้ว หลายประเทศก็ได้ใช้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นตัวเงินแล้ว  สัดส่วนของมาตรการเหล่านั้นจะอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยในปี 2551   ที่ร้อยละ 2 ในปี 2552 และที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2553  มาตรการส่วนใหญ่นั้นยังมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนที่สมเหตุสมผลในการพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะส่งผลทวีคูณสูงกว่า (เนื่องจากทั้งสร้างงานในระยะสั้นและช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว)  

สิ่งเดียวที่แน่นอนก็คือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับความพยายามด้านการพัฒนาและโอกาสของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีข้อจำกัดทางการคลังในการนำนโยบายที่จำเป็นมาใช้มากกว่าประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2552 คาดว่าจะลดลงถึงระดับร้อยละ 1.2 ซึ่งการลดลงอย่างฮวบฮาบจากร้อยละ 8.1 ในปี 2550  และร้อยละ 5.9 ในปี 2551  

องค์การแรงงานระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติได้พยากรณ์ว่า ภาวะเช่นนี้จะส่งผลให้ประชากรโลกจำนวนสูงถึง 30 ล้านคนต้องตกงานและสูญเสียรายได้หลัก และแน่นอนปัญหาด้านความยากจนจะต้องแพร่หลายยิ่งขึ้นโดยหลีกเลี่ยงมิได้   

หากเราไม่ดำเนินการใดใด สถานการณ์นี้จะกลายเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับประชากรเหล่านี้  มีการประเมินว่า  ผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้จะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และปริมาณเงินทุนภาคเอกชนลดลงอย่างมหาศาล จากที่เคยเป็น 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 เหลือเพียง 363,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้  

ความตกต่ำในภาคส่งออกและการชะลอลงของเงินทุนไหลเข้าภาคเอกชนนี้จะทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องขาดงบประมาณในการบริหารประเทศและจัดสรรบริการพื้นฐานต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนสูงถึง 352,000-635,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เลยทีเดียว  ยิ่งไปกว่านั้น  การส่งรายได้กลับประเทศโดยแรงงานอพยพทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงร้อยละ 7.3 ในปี 2552 มาอยู่ที่ระดับ 305,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ตัวเลขประมาณการณ์สำหรับปี 2552 ชี้ว่า  อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงนี้จะทำให้ประชากร 53 ล้านคนทั่วโลกที่ควรจะลืมตาอ้าปากได้ ต้องตกอยู่ในวงเวียนของความยากจนต่อไปด้วยรายได้น้อยกว่า 1.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนประชากรที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนช่วงวิกฤติ  

และหากเราวัดจำนวนประชากรที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ด้วยการนำเส้นความยากจนซึ่งกำหนดให้รายได้ของผู้ที่จัดอยู่ในข่ายยากจนอยู่ที่ 2 เหรียญสหรัฐ ฯ ต่อวันนั้นมาใช้  เราก็จะพบว่ามีประชากรจำนวนมากถึง 65 ล้านคนที่ตกอยู่ในสภาพนี้ ถ้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงยืดเยื้อต่อไป จำนวนประชากรที่จะได้รับผลกระทบก็จะมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ระหว่างปี 2546-2550 นั้นดูเหมือนจะมีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าการผูกติดกันของวงจรธุรกิจระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกับกลุ่มที่เกิดใหม่นั้นน่าจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่สถานการณ์หลังการล้มละลายของเลห์แมนบราเธอร์สเมื่อปลายปี 2551 ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าภาวะวิกฤติในประเทศพัฒนาแล้วได้ลุกลามไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว   

ผลกระทบในระยะสั้นของวิกฤติเศรษฐกิจโลกมีมากมาย ตั้งแต่การที่การไหลเวียนของเงินจากตลาดหนึ่งไปยังอีกตลาดหนึ่งนั้นต้องหยุดชะงักลงอย่างฉับพลัน ความสามารถที่จำกัดของประเทศผู้บริจาคในอันที่จะช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบ (เนื่องจากประเทศผู้บริจาคเองนั้นก็ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติเช่นเดียวกัน)  

การลดลงของรายได้ที่แรงงานอพยพต้องส่งกลับบ้าน การถดถอยของการค้าโลก ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับแหล่งงบประมาณเพื่อยับยั้งผลกระทบความยากจนอย่างรุนแรงจากวิกฤติโลก การที่ภาวะสินเชื่อตึงตัว (รวมถึงการจัดสรรวงเงินสำหรับการค้า) การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำหรับผู้ส่งออกหลายรายลดลงอย่างฉับพลัน 

ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุุมาจากลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์บางประเภทอย่างแพร่หลาย  หรือการปรับการลงทุนในพอร์ตให้เหมาะสมกับภาวะการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการถอนทุนเพื่อส่งผลกำไรกลับไปยังประเทศผู้ลงทุนด้วย

ปัญหาต่อเนื่องระยะยาวของวิกฤติการเงินโลกในประเทศกำลังพัฒนาเป็นสิ่งที่ยากที่จะชี้ชัด เสถียรภาพของอัตราผลตอบแทนประเทศกำลังพัฒนานับตั้งแต่ต้นปีชี้ว่า ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับประเทศเหล่านี้อาจไม่เพิ่มสูงขึ้นเท่าที่วิตกกันล่วงหน้า  กระนั้นก็ตาม การไหลเวียนของเงินทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ผ่านมามาก และคาดว่าจะไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนช่วงวิกฤติในเร็วๆนี้ ด้วยเหตุนี้ การจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนการลงทุนทั้งโดยภาครัฐและภาคเอกชนนั้นมีแนวโน้มที่ยากขึ้น ปัจจัยนี้จะกระทบต่อความสามารถในการผลิตในระยะยาว

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับทั้งระดับความเชื่อมโยงของระบบการเงินของตนเองกับตลาดการเงินโลก และความจำเป็นของแต่ละประเทศในการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกประเทศจากตลาดทุน การส่งออก การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา รายได้ของแรงงานนอกประเทศ และอื่นๆ เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศสามารถจัดการผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ได้ดีกว่าในอดีต  

เนื่องจากหลายประเทศได้นำบทเรียนของวิกฤติก่อนหน้านี้มาใช้เป็นพื้นฐานในการวางกรอบการทำงานเชิงนโยบายที่เข้มแข็ง ทำให้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจมหภาคของแต่ละประเทศนั้นยังมีความแข็งแกร่งอยู่มาก ซึ่งส่งผลต่อศักยภาพของประเทศนั้นๆ เองในการดำเนินนโยบายทางการคลังเพื่้อกระตุ้นอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจแม้ในขณะที่อุปสงค์โดยรวมอยู่ในระดับต่ำ  

ขณะที่ในอดีตนั้น (เช่น ระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจเม็กซิโก เอเชียตะวันออก และรัสเซีย) ความจำเป็นที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจและการเงินอย่างปัจจุบันทันด่วนทำให้แต่ละประเทศไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการนำมาตรการทางการเงินและการคลังมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นอีกครั้งได้

ปัจจัยที่ท้าทายนโยบายของรัฐในอนาคต

แม้จะมีการหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการเลิกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในอนาคต ปัจจัยหลักๆ ที่ท้าทายนโยบายของรัฐ ณ ช่วงเวลานี้ยังคงเป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายแทรกแซงต่อไปเพื่อรักษาอุปสงค์โลกและความสอดคล้องทางนโยบายดังกล่าว  

ในด้านหนึ่งหนึ่ง ประเทศพัฒนาแล้วมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาภาคการเงิน การกระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และการพยายามอย่างเต็มความสามารถที่จะทำให้การริเริ่มนโยบายการเงินการคลังใหม่ๆ ของแต่ละประเทศนั้นมีความสอดคล้องกัน ในขณะที่หลายประเทศกำลังใช้การขยายงบดุลในภาครัฐ(เป็นเครืี่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต)   

แต่ประเทศเหล่านั้นก็ยังต้องคำนึงถึงเครดิตของตนเองในอนาคต รวมทั้งความสามารถทางการคลังของประเทศด้วย ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น  เรามี (ก) กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินทั้งในการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภค (ให้แก่ประเทศมีรายได้สูง) รวมทั้งมีความต้องการสินค้าทุนที่สูง และ (ข) กลุ่มประเทศรายได้น้อยที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินในการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย

ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อยนั้น มีหลักฐานแสดงว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ชะลอตัวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากปัญหาเรื้อรังต่างๆ เช่น ข้อจำกัดทางการเงินการคลังทั้งในอดีตและปัจจุบัน คุณภาพธรรมาภิบาลในประเทศ ความสามารถทางเทคนิคในการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสม ประเด็นเศรษฐกิจการเมือง และอื่นๆอีกมาก

ดังนั้น ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพที่แตกต่างกันในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ วิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ก็น่าจะเสนอโอกาสในการลงทุนที่มีเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มผลผลิตในอนาคต ซึ่งจะช่วยนำประเทศเหล่านี้ไปสู่สถานภาพที่จะสร้างศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นหลังจากวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นการลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะสมเหตุสมผลที่สุด เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและยังส่งผลกระทบในเชิงบวกไปยังภาคส่วนอื่นๆ อย่างมากมาย

ในระหว่างวิกฤติการเงินเอเชียตะวันออกเมื่อปี 2541 จีนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รัฐบาลจีนจึงได้ใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2541-2545 เพื่อทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังติดขัดอยู่สามารถลุล่วงไปได้โดยสัมฤทธิผล ในปี 2540 ระยะทางโดยรวมของทางหลวงในจีนอยู่ที่ 4,700 กิโลเมตร เพียงแค่ห้าปีให้หลัง  

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทำให้จีนมีทางหลวงยาวเป็นระยะทางถึง 25,000 กิโลเมตร มาตรการเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการขนส่งของจีนให้พัฒนาไปเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับศักยภาพของท่าเรือและการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

การกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้จีนรักษาอัตราการเติบโตต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.8 ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ อัตราการเติบโตยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วยหลังภาวะวิกฤติ ในระหว่างปี 2522-2545 อัตราการเติบโตต่อปีเฉลี่ยในจีนอยู่ที่ร้อยละ 9.6   และระหว่างปี 2546-2551 อัตราการเติบโตต่อปีเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.8   

อัตรานี้เกิดขึ้นได้โดยการลงทุนที่มีเป้าหมายเฉพาะอยู่ที่การสลายภาวะคอขวดในภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ด้วยเหตุดังกล่าว แม้ว่าสัดส่วนของหนี้สินภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงแรกนั้นจะเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพีมาเป็นร้อยละ 36ของจีดีพีในปี 2545 แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตยิ่งขึ้น ตัวเลขนี้ก็ลดลงตามลำดับ ภายในปี 2549-2550 สัดส่วนของหนี้สินภาครัฐนี้ก็ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 20 ของจีดีพี

บทเรียนที่ได้จากประสบการณ์ของจีนก็คือ ถ้าผลตอบแทนสูงพอที่จะทำให้เกิดการเติบโตสูงขึ้น รายได้ที่รัฐจะสามารถเก็บเกี่ยวได้จากโครงการลงทุนนั้น ๆ ก็จะมากพอที่จะนำไปชำระต้นทุนของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการริเริ่มโครงการดังกล่าวได้ เท่ากับว่าโครงการที่ว่านั้นเป็นโครงการที่ ”พึ่งพาตนเองได้” 

อย่างไรก็ดี โอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีเช่นนี้ไม่มีมากนักในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นไปมากแล้ว) ต่างจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังมีความสามารถในการลงทุนในลักษณะดังกล่าวสูงอยู่ เนื่องจากยังมีภาวะหรือปัจจัยที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต้องชะงักอยู่มากมาย

แม้ว่ามีความจำเป็นสูงที่จะต้องนำงบประมาณบางส่วนไปอัดฉีดเพื่อช่วยเหลือประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของวิกฤติในปัจจุบัน   วัตถุประสงค์นโยบายหลักควรจะเป็นการสร้างอุปสงค์ให้เร็วที่สุดและมีประสิทธิผลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  

สิ่งนี้สามารถทำได้โดยการหาช่องทางลงทุนที่ให้ประโยชน์สูงสุด เช่น การลงทุนเพื่อสลายสภาวะคอขวดที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การขาดโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศทั้งระดับท้องถิ่นและภูมิภาคเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตในอนาคต การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสามารถเพิ่มผลผลิตของภาคเอกชน พัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูง   

สิ่งนี้ต้องได้รับการส่งเสริมด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นและการเสริมรากฐานให้แข็งแกร่งโดยการพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้จ่ายภาครัฐ

นอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายยังต้องหาวิธีป้องกันวิกฤติในภาคการเงินในอนาคตด้วย เราทราบกันดีว่า วิกฤติการเงินโลกครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวของการกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศจี 7 หลังจากภาวะวิกฤติได้เกิดขึ้น 

รายงานและข้อเสนอแนะหลายฉบับได้เรียกร้องให้มีการเสริมความแข็งแกร่งของการกำกับดูแลที่รัดกุม การประเมินความเสี่ยงที่แม่นยำขึ้น และการทำให้มาตรฐานทางบัญชีมีความเข้มงวดกว่าเดิม กรอบการกำกับดูแลในช่วงก่อนวิกฤติเปิดโอกาสให้ธนาคารต่างๆ ดำเนินพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเงินที่มีความเสี่ยงและไม่มีการควบคุมปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง การกำกับดูแลก่อนวิกฤติจะเกิดขึ้นนั้น สร้างแรงจูงใจอย่างมากให้สถาบันการเงินข้ามขั้นตอนของการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำโดยการโยกเงินกู้ยืมที่มีความเสี่ยงออกจากงบดุลของสถาบัน

นอกจากนั้น แบบจำลองความเสี่ยงที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งจัดทำนั้น ไม่ได้นำ ”เหตุการณ์ร้ายแรงที่สุด” เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย  รวมทั้งมีการให้ราคากับความเสี่ยงที่ผิดพลาด การบริหารจัดการที่หละหลวมในธุรกิจการเงิน ซึ่งรวมถึงกฎเกณฑ์ภายในเองว่าด้วยค่าตอบแทนระยะสั้นนั้นก็มีส่วนอย่างมากในการก่อให้เกิดวิกฤติครั้งนี้

เมื่อมองไปข้างหน้า มาตรการปฏิรูปภาคการเงินที่จำเป็นนั้นก็ประกอบไปด้วยการให้ความสำคัญแก่การประเมินผลการดำเนินงานในระยะยาวในการพิจารณาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของค่าตอบแทนในธุรกิจประเภทนี้  การกำกับดูแลการลงทุนและการตรวจสอบคุณภาพสินทรัพย์ที่เข้มงวดขึ้น   

การบันทึกธุรกรรมการเงินที่ครอบคลุมธุรกรรมทุกประเภท รวมทั้งการซื้อขายผ่านตลาดรอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารที่มีสินทรัพย์เมื่อเทียบกับกองทุนสูงและตลาดตราสารอนุพันธ์) การประเมินบทบาทและการกำกับดูแลของสถาบันจัดอันดับ หลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน (Basel II) ที่สามารถลดระดับความผันผวนของวงจรธุรกิจโดยการลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง

วิกฤติในปัจจุบันนี้นับเป็นวิกฤติ ”ที่เกิดขึ้นพร้อมกันทุกด้าน” ครั้งแรกในรอบแปดทศวรรษ ดังนั้นการจัดการกับปัญหาจึงเกินความสามารถของประเทศใดประเทศหนึ่ง การดำเนินการที่เด็ดขาดและพร้อมเพรียงกันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาคมโลกทั้งหมด โดยเฉพาะความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สอดคล้องกันทั่วโลก 

ในการสร้างอนาคตโลกร่วมกันนั้น กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต้องพิจารณาใช้ทรัพยากรส่วนหนึ่งไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาด้วย นอกเหนือจากความพยายามที่จะกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเอง สิ่งนี้จะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย เพราะนอกจากจะเป็นการรองรับการฟื้นตัวในระยะสั้นแล้ว ยังจะช่วยวางรากฐานสำหรับการเติบโตแบบครอบคลุมและยั่งยืนในระยะยาวอีกเช่นกัน

บทสรุป

ขณะที่เรากำลังสังเกตการณ์อยู่นี้ (กรกฎาคม 2552) สัญญาณว่าเศรษฐกิจได้ผ่านภาวะที่ตกต่ำที่สุดมาแล้วเริ่มจะมีให้เห็นบ้าง กระนั้นก็ตาม มันยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการฟื้นตัว โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจที่เติบโตเต็มที่แล้ว และการกลับมาเติบโตอย่างมั่นคงของประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ดี เราสามารถระบุได้ว่า จะมีปัจจัยใดบ้างที่จะเป็นแรงผลักดันหลักให้เศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวและเติบโตต่อไปในอนาคต

เป็นที่คาดหมายกันว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงหลังวิกฤตินั้นอาจอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนวิกฤติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความจำเป็นในการปรับสมดุลการเติบโตในเศรษฐกิจโลกและการลดความไม่สมดุลของบัญชีเดินสะพัดที่มีมากเกินไป 

การแก้ไขนี้ต้องอาศัยรูปแบบที่หลากหลาย (รวมถึงเวลา) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในการบริโภคของภาคเอกชนในสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ซึ่งมีการขาดดุลทางดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของราคาเปรียบเทียบ (เช่น พลังงาน แร่ อาหาร และอื่นๆ) และการกำกับดูแลภาคการเงินที่เข้มงวดขึ้น 

ต่าง ๆ เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และในบางกรณี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจปัจจุบัน (ทั้งการเงินและการคลัง) จะต้องได้รับการผ่อนคลาย การทำเช่นนั้นจะช่วยลดปัจจัยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้เติบโตในระดับหนึ่ง จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการกำหนดเงื่อนเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายทั้งจากแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินไปของอุปสงค์รวม  

นอกจากนี้ แรงกดดันที่มาจากการกีดกันทางการค้า (เพื่อปกป้องธุรกิจภายในประเทศจากการแข่งขันในยามที่อุปสงค์ต่ำ) ยังสร้างความเสี่ยงต่อทั้งการค้าและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย ประการสุดท้าย การลงทุนอาจยังมีความไม่ชัดเจนระยะหนึ่ง เนื่องจากโลกยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินที่สูงอยู่

ความหมายโดยนัยต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ชัดเจนก็คือ ประเทศที่วางแผนเป็นอย่างดีก่อนที่จะมีการนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้ ที่มีการกำจัดอุปสรรคของการเติบโตในอนาคต และลงทุนอย่างเพียงพอทั้งในทุนทางกายภาพและทุนมนุษย์ภายใต้ข้อจำกัดของตนเอง จะได้รับความสำเร็จมากกว่าและพร้อมที่จะเริ่มวงจรการเติบโตใหม่ที่แข็งแกร่งกว่า บนพื้นฐานของความได้เปรียบทางการแข่งขันในเศรษฐกิจโลก 

สำหรับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ การช่วยให้กระบวนการนี้ดำเนินไปได้ด้วยดีผ่านความช่วยเหลือทางการเงินและการทางวิชาการ ในขณะที่บ่มเพาะสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมของสาธารณชนทั้งโลกนั้น จะเป็นวาระที่ท้าทายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

 

Api
Api

Welcome