เรื่องเด่น

รายงาน East Asian Renaissance ของธนาคารโลกนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุคปัจจุบัน

วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ถึงแม้ว่ารายงานเรื่อง “An East Asian Renaissance: Ideas for Economic Growth” ของธนาคารโลกจะพูดถึงเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกโดยรวม แต่นักธุรกิจและนักวิชาการชั้นนำของเมืองไทยก็ได้ออกความเห็นว่าสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ ยังช่วยให้ประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงวาระเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอีกด้วย

“หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนกระจกที่ส่องให้ประเทศไทยได้มองเห็นถึงศักยภาพของเราเองเมื่อเทียบกับเอเชียตะวันออกโดยรวม และทำให้เรารู้ว่าหากเรายังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายในระยะกลางและระยะยาวแล้ว เราก็คงไม่สามารถที่จะตามเพื่อนบ้านเขาได้ทัน” ดร. ชิงชัย  หาญเจนลักษณ์ ประธานบริษัทล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ดร. ชิงชัยเป็นหนึ่งในจำนวนนักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย   นักวิชาการ  ผู้แทนจากภาครัฐ  และผู้สื่อข่าวจำนวนกว่าร้อยคน ที่มาร่วมงานสัมมนาซึ่งจัดขึ้นในระหว่างพิธีเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา

งานสัมมนาและเปิดตัว An East Asian Renaissance นี้ ทางธนาคารโลกได้จัดขึ้นโดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นอกจากนี้แล้ว ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิจัยระดับแถวหน้าของประเทศ  ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการประธานทีดีอาร์ไอ ก็ยังได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน รวมทั้งร่วมเสวนากับผู้เข้าร่วมงานเกี่ยวกับสาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้ด้วย

ผู้เขียนหลักทั้งสองท่านของหนังสือฉบับนี้ คือดร. โฮมิ คาราส  อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกในเอเชียแปซิฟิก และดร. อินเดอร์มิต กิล  ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แทน ดร. โฮมิ  ก็ได้เดินทางมาจากกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อมาแนะนำหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเอง และร่วมสนทนากับผู้เข้าร่วมงานในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยโดยตรง

“An East Asian Renaissance: Ideas for Economic Growth” นี้ เป็นรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในเอเชียตะวันออกฉบับสมบูรณ์ฉบับที่สี่ที่ธนาคารโลกได้จัดทำขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา

สาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้ก็คือว่า หลังจากที่เอเชียตะวันออกได้ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ไปเมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 10  ปีที่ผ่านมาแล้วนั้น ภูมิภาคนี้ก็ได้กลับมาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐของแต่ละประเทศในภูมิภาคได้ดำเนินนโยบายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้แต่ละประเทศสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วนั้นเองที่นำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆ อันอาจจะท้าทายพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคในอนาคต

ปัญหาเหล่านี้ก็ประกอบไปด้วยการที่เมืองหลวงของแต่ละประเทศในภูมิภาคนั้นต้องแบกรับภาระในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอาไว้มาก ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประชาชนในเมืองหลวงและในเขตอื่นๆ ของประเทศ นอกจากนี้แล้ว ปัญหาเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ยังจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก หากไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไป

สำหรับประเทศไทยนั้น ดร.กิลกล่าวว่า ปัญหาหลักอยู่ที่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่ดึงดูดสายตาของลูกค้าในตลาดโลก เพราะหากรัฐบาลไทยไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมๆ ให้มีคุณค่ามากขึ้นแล้ว ประเทศไทยก็จะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้แล้ว ดร.กิลยังออกความเห็นด้วยว่า รัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องวางกรอบนโยบายเพื่อแบ่งเบาภาระของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการใหญ่ที่สุดของประเทศ นับเป็นมูลค่าถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ต้องขยายตัวกว้างขึ้น อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมตามมา ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนโดยรวม

หนังสือฉบับนี้ได้ระบุว่า การใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาในเอเชียตะวันออกนั้น ได้พุ่งสูงขึ้นเกือบสองเท่าของที่เคยเป็นในอดีต และเป็นการใช้จ่ายโดยภาคเอกชนเสียเป็นส่วนมาก (60 เปอร์เซ็นต์)

ในขณะที่ประเทศไทยนั้นสามารถใช้แหล่งผลิตในภูมิภาคและในโลกให้เป็นประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตของตัวเองแล้ว แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า   การใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาในไทยเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการของตัวเองนั้น ยังมีจำนวนน้อยมาก คิดเป็น 0.2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมเท่านั้น

นอกจากนี้  การประสานงานเพื่อการวิจัยระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยในประเทศไทย ก็ยังมิได้เป็นไปอย่างเข้มแข็งเท่าที่ควร ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ตัวเลขการจดสิทธิบัตรของไทยในต่างประเทศยังน้อยยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก และการที่ภาคเอกชนยังไม่สามารถนำวิทยาการใหม่ๆ มาใช้กับการดำเนินงานและการผลิตได้อย่างเต็มที่

“ในอดีตนั้น ประเทศไทยได้หันมาลงทุนในการศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องดี” ดร.กิลกล่าว “ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะหันมาสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ทั้งในภาคเอกชนและในวงการวิจัย” เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิต

มาถึงตรงนี้ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยของทีดีอาร์ไอได้ตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วสถิติที่มีอยู่ก็อาจจะยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของการวิจัยและพัฒนาของเมืองไทยได้อย่างเด่นชัด

“จำนวนสิทธิบัตรที่จดในอเมริกานั้น ถ้าจะดูกันแล้วก็จะพบว่า บริษัทที่ได้รับสิทธิบัตรนั้นโดยมากแล้วจะเป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาประกอบกิจการในเมืองไทย” ดร. สมเกียรติกล่าว “ผมจึงคิดว่า สถานการณ์เรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตของเรานั้น อาจจะแย่กว่าที่รายงานของธนาคารโลกว่าไว้ด้วยซ้ำ”

กรุงเทพฯ คือกลไกที่สำคัญที่สุดกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ภาครัฐก็จำเป็นที่จะวางนโยบายพัฒนาที่จะช่วยให้กรุงเทพฯ สามารถทำหน้าที่ของมันต่อไปได้ด้วยดี

ส่วนเรื่องของการพัฒนากรุงเทพฯ ให้สามารถแบกรับภาระทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้นั้น ดร. กิลชี้แจงว่า ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ได้ทำหน้าที่ของมันเองได้อย่างดี คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ ในกรุงเทพฯ นั้นก็ได้ช่วยให้ประเทศไทยสามารถติดต่อกับคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลกได้ การคมนาคมขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศก็สะดวกสบาย เพราะมีสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐก็จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเข้ามารองรับการเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ ในประเทศ เพื่อให้กรุงเทพฯ สามารถที่จะแบกรับภาระทางเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการที่จะมีคนจำนวนหลายสิบล้านคน อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯในระยะเวลาอีกกว่าสองทศวรรษข้างหน้า ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร หากการบริหารตรงนี้ไม่เป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุม การที่มีคนล้นหลามในเมืองหลวงนั้นก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตามมา

“ประเทศไทยสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและในโลกได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว และก็สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี” ดร. โฮมิกล่าว “ตอนนี้สิ่งซึ่งท้าทายการเจริญเติบโตของไทยนั้นมาจากภายในประเทศนี่เอง ดังนั้น นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคตนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของประเทศนั้นตกเป็นของทุกฝ่าย”

Api
Api

Welcome