Skip to Main Navigation
publication วันที่ 14 ธันวาคม 2564

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย: อยู่กับโควิดในโลกยุคดิจิทัล

Image

ประเด็นสำคัญ

หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 กิจกรรมเศรษฐกิจก็ได้ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นแล้ว

  • เศรษฐกิจคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 1.0 ในปีพ.ศ. 2564 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการประมาณการที่ธนาคารโลกได้เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
  • สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคของภาคเอกชนยังคงอ่อนแออันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 และการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะยังคงมีไม่มากนักจนถึงสิ้นปีพ.ศ. 2564 แม้ว่าจะเพิ่งมีการเปิดประเทศเมื่อไม่นานมานี้
  • การส่งออกสินค้าเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโต สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ของโลก และคาดว่าการลงทุนจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
  • มาตรการการให้เงินเยียวยา การริเริ่มด้านสาธารณสุข โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมารตรการสนับสนุนด้านการคลังในรูปแบบอื่นๆ ได้ช่วยหนุนอุปสงค์ของภาคเอกชน ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการบริโภคในกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง และช่วยลดผลกระทบของวิกฤตความยากจนด้วย

กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะสามารถกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2565 โดยมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยในการสนับสนุนการฟื้นตัว

  • คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปีพ.ศ. 2565 และถึงร้อยละ 4.3 ในปีพ.ศ. 2566 โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ
  • การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวเกือบร้อยละ 4.0 ต่อปีในปีพ.ศ. 2565 และ 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในปีพ.ศ. 2564 ที่ร้อยละ 1.0
  • คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปีพ.ศ. 2565 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีและเพิ่มขึ้นอีกในปีพ.ศ. 2566 เป็นประมาณ 20 ล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปีพ.ศ. 2562 ทั้งนี้คาดว่าการท่องเที่ยวจะช่วยส่งผลต่ออัตราการเติบโตของ GDP ได้ร้อยละ 2 ในปีพ.ศ. 2565 และร้อยละ 4 ในปีพ.ศ. 2566
  • อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังสามารถควบคุมได้ ในขณะที่มีช่องว่างผลผลิตอยู่มากในปีพ.ศ. 2564 และ 2565

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มีศักยภาพในการสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศไทยหลังการระบาดของโควิด-19 ไปพร้อมกับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

  • การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเดินทาง
  • การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจต่างๆ ช่วยส่งเสริมการค้าขายและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
  • การค้าดิจิทัลเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในประเทศไทย ที่ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมและช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ได้

รัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงค์อย่างแรงกล้าที่จะผลักดันวาระดิจิทัลภายใต้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลและธุรกิจดิจิทัล

  • ประการแรก ความพยายามส่งเสริมการแข่งขันและสร้างสภาวะแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรมนั้นมีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาดและเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบดิจิทัล
  • ประการที่สอง ความพร้อมของทักษะดิจิทัล พร้อมกับทักษะที่จะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เช่น การจัดการและบริหารองค์กร
  • ประการที่สาม การขยายการเข้าถึงนวัตกรรมของแหล่งเงินทุนจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs ในการใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัล