Skip to Main Navigation
บทสรุปวันที่ 16 มกราคม 2566

ประเทศไทยและกลุ่มธนาคารโลกขยายระยะเวลากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการรับมือโลกร้อน การพัฒนาด้านดิจิทัลและการรับมือสังคมสูงอายุ

กลุ่มธนาคารโลกได้ขยายความร่วมมือกับประเทศไทยตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอีก 2 ปี และจะขยายขอบเขตความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสเกิดใหม่

การขยายขอบเขตความร่วมมือนี้จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยเวลาที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเตรียมการสำหรับกรอบความร่วมมือฯ กับประเทศไทยฉบับต่อ ซึ่งจะสนับสนุนเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่มีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2565-2570)

การระบาดของโควิด-19 นั้นทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อมากที่สุดในกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค และมีความเปราะบางเชิงโครงสร้างอยู่แล้ว ซึ่งจุดอ่อนทางโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การพัฒนาด้านผลิตภาพที่ช้าลง งานที่ไม่มีคุณภาพและใช้ทักษะต่ำ และจำนวนแรงงานที่ลดลงและมีอายุมากขึ้น

กรอบความร่วมมือฯ ได้รับการรับรองตั้งแต่ปี 2561 และกำหนดทิศทางความร่วมมือตามหลักการและแนวทางการพัฒนาของประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ทั่วถึง ความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งกลุ่มธนาคารโลกมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ นโยบายการคลัง การบริหารเศรษฐกิจ และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือฯ มีเป้าหมายด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมคุณภาพการศึกษา และการสนับสนุนนโยบายและโครงการที่มีมุ่งเน้นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและมีความเปราะบาง รวมทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้