Skip to Main Navigation
สุนทรพจน์ และ บันทึกสุนทรพจน์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ผู้แทนประเทศไทยที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพูดถึงกลุ่มธนาคารโลก

Image

ดร. กุลยา ตันติเตมิท ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มาแบ่งปันความคิดเรื่องการทำงานกับกลุ่มธนาคารโลก และงานที่ท่านให้ความที่สำคัญระดับแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา

ในฐานะที่คุณเป็นกรรมการบริหารธนาคารโลกที่เป็นตัวแทนกลุ่มประเทศต่างๆ รวมประเทศไทยด้วยนั้น คุณคิดว่าอะไรคือเรื่องสำคัญและอยากทำให้สำเร็จเป็นลำดับแรกคะ


กลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วย 8 ประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรูไน  อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกอีกสามประเทศจากภูมิภาคอื่น คือ ฟิจิ เนปาล และตองกา   ประเทศในกลุ่มนี้มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและลำดับสำคัญในการพัฒนาที่หลากหลายมาก  ดิฉันจึงเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเข้าใจสภาวะแวดล้อมและลำดับความสำคัญในการพัฒนาของประเทศในกลุ่ม ซึ่งแต่ละประเทศก็ที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีความต้องการและเรื่องที่กังวลต่าง ๆ กันไป ทั้งนี้ เพื่อให้ดิฉันสามารถทำหน้าที่ตัวแทนของทุกประเทศได้ดีที่สุด และส่งเสริมประเด็นที่ประเทศในกลุ่มมีความสนใจร่วมกัน

ดิฉันให้ความสำคัญกับเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเป็นลำดับแรก  ดิฉันมีความเชื่อมั่นอย่างมากว่า กุญแจของความสำเร็จในเรื่องเหล่านี้คือ การลงทุนในทุนมนุษย์ ซึ่งรวมถึงเรื่องสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคม

นอกจากนี้ ดิฉันตะหนักว่า การที่ประเทศในกลุ่มเราจะเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ขึ้นอยู่กับว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเพียงใด  การปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับคนรุ่นเราและคนรุ่นต่อไป  ระหว่างที่ดิฉันดำรงตำแหน่งนี้  ดิฉันจะประสานงานและสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะรัฐบาลของแต่ละประเทศในกลุ่มเรา โดยเน้นเรื่องนโยบายและแนวคิดริเริ่มที่สำคัญของธนาคารโลก ความช่วยเหลือและโครงการต่างๆ ที่กลุ่มธนาคารโลกให้แก่ประเทศในกลุ่มเราจะต้องถูกเลือกและดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าจะสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

คุณเคยทำงานที่กระทรวงการคลังมาก่อนที่จะมารับตำแหน่งที่กลุ่มธนาคารโลก  คุณคิดว่าอะไรคือความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดคะ

ก่อนหน้านี้ ดิฉันเคยทำงานหลายตำแหน่งที่กระทรวงการคลัง  ซึ่งดิฉันได้รับประสบการณ์ในการทำงานกับผู้คนในการพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังพัฒนาทักษะของดิฉันในการสนับสนุนความริเริ่มความร่วมมือระดับนานาชาติด้วย  ประสบการณ์การทำงานในประเทศไทยที่ผ่านมานี้ ช่วยให้ดิฉันมีความพร้อมที่จะทำงานส่งเสริมแนวทางการทำงานของธนาคารโลกที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ  อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของกรรมการบริหารธนาคารโลกมีขอบเขตกว้าง และต้องใช้ความรู้และประสบการณ์หลากหลายสาขาวิชา นอกจากนี้ก็ยังมีความซับซ้อน  เนื่องจากเราต้องคำนึงถึงมุมมองของประเทศอื่นๆ อีก 11 ประเทศในกลุ่มของเรา และยังต้องพิจารณาด้วยว่า แนวทางการพัฒนาของกลุ่มประเทศเราสอดคล้องกับวาระการพัฒนาของประเทศอื่นๆ อีก 189 ประเทศของธนาคารโลกอีกด้วย

ในฐานะกรรมการบริหารธนาคารโลก คุณรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องอะไรที่สุดคะ

ดิฉันมีความสุขมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์การพหุภาคีที่ทำงานอย่างมืออาชีพโดยผู้คนที่มุ่งมั่นจะปรับปรุงชีวิตของผู้คนทั่วโลกเพื่อให้แน่ใจได้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการพัฒนาได้ถูกแบ่งปัน  ธนาคารโลกมีลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถทำงานในเรื่องต่างๆ ให้บรรลุผลสำเร็จได้ ซึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งอาจไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง  โดยเฉพาะย่างยิ่งในเรื่อง สินค้าสาธารณะของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสมอภาคทางเพศ และความขัดแย้ง

ชีวิตการทำงานที่ธนาคารโลกในแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้างคะ

ดิฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาและวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ เพื่อที่จะช่วยให้ดิฉันสามารถนำเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการบริหารธนาคารโลกได้อย่างสร้างสรรค์และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้แทนของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศที่ดิฉันรับผิดชอบ  ดิฉันต้องการมั่นใจว่าเสียงและข้อกังวลของทุกประเทศได้ถูกนำเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารธนาคารโลก  ดิฉันจึงทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมงานและเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศของเราเพื่อให้มั่นใจว่าคณะกรรมการบริหารธนาคารโลกได้รับรู้เรื่องสำคัญ ๆ จากประเทศเหล่านี้

นอกจากนี้ ดิฉันยังทำงานเป็นกรรมการในหลายคณะทำงานค่ะ ปัจจุบัน ดิฉันเป็นประธานคณะกรรมการด้านจริยธรรม รองประธานด้านธรรมาภิบาลและประเด็นด้านบริหารของคณะกรรมการบริหารธนาคารโลก (COGAM)  และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการทรัพยากรมนุษย์

ชีวิตการทำงานงานที่ธนาคารโลกโดยทั่วไปต้องมีปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนมุมมองกับเพื่อนร่วมงานที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก รวมถึงมีประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกันด้วย  ดิฉันถือว่าเป็นรางวัลของชีวิต  เพราะดิฉันชอบเปิดโลกทัศน์ไปกับมุมมองที่หลากหลายและเรียนรู้แง่มุมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของเพื่อนร่วมงาน  ทั้งระหว่างที่เรากำลังคุยเรื่องการเมือง หรือ แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องอาหารจานโปรด

คุณมีอะไรจะแนะนำคนไทยที่สนใจจะทำงานที่ธนาคารโลกไหมคะ

การทำงานที่ธนาคารโลกจะเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากเพราะมีศักยภาพที่จะเปิดโอกาสด้านอาชีพ และยังเป็นองค์การที่กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่  ผู้นำโลกหลายท่านเคยทำงานที่นี่ ทั้งนายอัชราฟ กาห์นี ประธานาธิบดีปากีสถานคนปัจจุบัน  นายโอมาร์ รัซซัส นายกรัฐมนตรีจอร์แดน  และ นางเอเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ อดีตประธานาธิบดีของไลบีเรีย

การทำงานที่ธนาคารโลกจะเปิดโลกของคุณไปกับความคิดเห็นของนักวิชาชีพและนักวิชาการที่มีความหลากหลาย ซึ่งจะท้าทายคุณให้เรียนรู้และเติบโต  ที่สำคัญที่สุด ธนาคารโลกมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนใคร คุณจะได้พัฒนามุมมองระดับโลก  ขยายโลกทัศน์ได้กว้างไกล และพัฒนาสัมพันธภาพอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

Api
Api