Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถสร้างมูลค่าการลงทุน การประหยัดต้นทุน และรายได้สำหรับประเทศไทยได้มากถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรุงเทพฯ 22 กุมภาพันธ์ 2565 — รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกเผยว่า การเร่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน และการส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศจะช่วยสร้างเม็ดเงินการลงทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้ให้ประเทศไทยสูงถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ โอกาสทางการตลาดดังกล่าวจะส่งเสริมเป้าหมายด้านสภาพแวดล้อมของประเทศและนำไปสู่แนวทางการเติบโตและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

รายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศไทย (CPSD) โดย บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ และธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องส่งเสริมรูปแบบการเติบโตที่ใช้นวัตกรรมใหม่ พร้อมทั้งแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อสร้างงานที่ดีขึ้นและบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศรายได้สูง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า “ในช่วงโควิด-19 เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ การใช้และการขยายขอบเขตการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นผู้นำตลาดที่ก้าวทันเมกะเทรนด์ระดับโลก เช่น ระบบอัตโนมัติและการลดคาร์บอนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าของห่วงโซ่คุณค่าทั้งในระดับประเทศและระดับโลก”

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเผยให้เห็นว่า การเร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะช่วยเพิ่มกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยีคมนาคมขนส่ง บิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีด้านสุขภาพ สื่อดิจิทัล และด้านบันเทิง รวมทั้งการขยายตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น อีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีด้านการเงิน (fintech) เป็นต้น

“ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างทักษะสำหรับอนาคตไปพร้อม ๆ กับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดตลาด” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “เราต้องเตรียมพร้อมให้คนรุ่นใหม่เป็นโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เส้นทางการเติบโตที่ยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุม”

ข้อมูลจากรายงานพบว่าการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้สามารถประหยัดต้นทุนและสร้างรายได้สำหรับภาคเอกชนสูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น อาหารและการเกษตร การก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจจะพิจารณาภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การทำเกษตรกรรมฟื้นฟู การแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างผลลัพธ์สูง

“เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์การเติบโตในระดับสูง ประเทศไทยยังต้องแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนและข้อจำกัดเฉพาะภาคส่วนซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน” เจน หยวน ซู ผู้จัดการ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทยและเมียนมากล่าว “การปฏิรูปที่สำคัญจะช่วยสร้างงานคุณภาพสูง เพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี พัฒนาตลาดนวัตกรรม และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”

รายงานยังเน้นย้ำว่าการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปฏิรูปโครงสร้างจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีหมุนเวียน จากการวิเคราะห์และการปรึกษาหารือกันอย่างกว้างขวางพบว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปหลายด้าน เช่น การส่งเสริมการแข่งขันในตลาด การขจัดข้อจำกัดในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การเปิดการเข้าถึงนวัตกรรมการเงิน และการขยายทักษะสำหรับอนาคต

เกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศ:
รายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของกลุ่มธนาคารโลกมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุภาคส่วนต่าง ๆ ที่ภาคเอกชนสามารถสร้างหรือขยายตลาดและมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาหลัก การวิเคราะห์ดังกล่าวใช้หลักการการวิเคราะห์ภาคส่วนสำคัญของภาคเอกชนที่มีศักยภาพแต่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในแต่ละประเทศ พร้อมทั้งวิเคราะห์ภาคส่วนต่างๆ ในเชิงลึก และให้คำแนะนำด้านการดำเนินนโยบาย บทวิเคราะห์ภาคส่วนต่าง ๆ อ้างอิงข้อมูลสำคัญจากทีมงานกลุ่มธนาคารโลกทั้งหมดและจากพันธมิตรภายนอก รวมถึงรัฐบาล เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งเรื่องความท้าทายและโอกาสในการยกระดับภาคเอกชนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนา รายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศสอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มธนาคารโลกว่าด้วยเรื่องการบริหารเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาอย่างสูงสุด (MFD) โดยพิจารณาถึงวิธีแก้ปัญหาของภาคเอกชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573

เกี่ยวกับธนาคารโลก

ธนาคารโลกจัดหาเงินทุน ความรู้ระดับโลก และมีความมุ่งมั่นในระยะยาวเพื่อยุติความยากจนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง พร้อมทั้งช่วยให้ประเทศเหล่านั้นเติบโตอย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสในการลงทุนสำหรับทุกฝ่าย ธนาคารโลกประกอบด้วยธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) หนึ่งในแหล่งเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก จากความร่วมกับสถาบันอื่น ๆ ในกลุ่มธนาคารโลก ตลอดจนพันธมิตรทั่วทั้งภาครัฐและเอกชน เราได้ช่วยพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายระดับโลกแห่งศตวรรษที่ 21 และพัฒนาในหลายภาคส่วนที่สำคัญ เราเชื่อมั่นว่าโลกที่ไม่มีใครยากจนและโลกที่ทุกคนมีโอกาสมีชีวิตที่ดีอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

เกี่ยวกับบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC)

บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ เป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลกและเป็นสถาบันการพัฒนาระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดและมุ่งเน้นภาคเอกชนในตลาดเกิดใหม่ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ดำเนินงานในประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศ โดยใช้ทุน ความเชี่ยวชาญ และอิความชำนาญเฉพาะด้านของเราเพื่อสร้างตลาดและโอกาสในประเทศกำลังพัฒนา ในปีงบประมาณ 2564 บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ได้ลงทุนมูลค่า 3.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในบริษัทเอกชนและสถาบันการเงินในประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้ประโยชน์จากอำนาจของภาคเอกชนเพื่อยุติความยากจนขั้นสูงและเพิ่มความมั่งคั่งร่วมกันในยุคที่่เศรษฐกิจต้องรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ifc.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่: 2022/059/EAP

รายชื่อผู้ติดต่อ

ในกรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
02-686-8385
kanitha@worldbank.org
คิทชี่ เฮอร์โมโซ
09-2267-1495
mhermoso@ifc.org
Api
Api