Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะก้าวขึ้นไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอีกระดับ หากมีนโยบายและการลงทุนที่ดี

กรุงเทพฯ 6 มิถุนายน 2562 - แม้ว่าการปฏิวัติดิจิทัลจะนำประโยชน์มากมายมาสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ภูมิภาคนี้ยังมีโอกาสเฉพาะตัวที่จะดำเนินการเรื่องนี้ได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ด้วยการสร้างรากฐานเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเข้มแข็ง ธนาคารโลกได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ผ่านรายงานเรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: เสริมรากฐานอนาคตให้เข้มแข็ง” ซึ่งได้วิเคราะห์โอกาสและความท้าทายที่ภูมิภาคนี้เผชิญเพื่อขยายการพัฒนาดิจิทัลให้เพิ่มขึ้น และต้องทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้เทคโนโลยี

ทุกภาคส่วนของประเทศในกลุ่มอาเซียนยังสามารถดำเนินการเพิ่มขึ้นได้อีกเพื่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และรูปแบบการทำธุรกิจที่ทันสมัยให้มากขึ้น  เพื่อเป็นการช่วยภาคเอกชนของเรา ทางรัฐบาลเองก็ต้องเปลี่ยนผ่านการทำงาน อาทิ ใช้เทคโนโลยีในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลและระบบอัจฉริยะ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลของประเทศ รวมถึงผสานการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้สอดคล้องกับขั้นตอนตามกฎระเบียบข้อบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การกำหนดอัตลักษณ์ทางดิจิทัล และการบริหารจัดการข้อมูล เราควรมุ่งทำงานเพื่อก้าวสู่การเป็นตลาดดิจิทัลในภูมิภาค” ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว

ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เดินหน้าไปสู่การใช้ดิจิทัล” นางบูเทเนีย กูเอมาซิ ผู้อำนวยการด้านการพัฒาดิจิทัล ธนาคารโลก กล่าว “แม้ว่ามีคนมากมายใช้บริการดิจิทัล รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเองก็มีการนำดิจิทัลไปใช้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นไปค่อนข้างช้า อุปสรรคในการใช้ระบบดิจิทัลยังเป็นเรื่องข้อจำกัดด้านกฎระเบียบข้อบังคับและการขาดความเชื่อใจในการดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ งานวิจัยใหม่ ๆ จะช่วยให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถก้าวผ่านความท้าทายในการสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลเหล่านี้ได้”

รายงานนี้ได้ระบุประเด็นสำคัญ 6 ประการเพื่อพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากการขยายการเชื่อมต่อซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจดิจิทัล แม้ว่าประชากรในภูมิภาคนี้เกินกว่าครึ่งสามารถเข้าถึงอินเทอร์เนต – ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก แต่ก็ยังสามารถที่จะขยายเพิ่มได้อีก หากมีนโยบายและการดำเนินงานที่ช่วยให้ราคาการเข้าถึงอินเทอร์เนตถูกลง เพิ่มความเร็ว และมีสัญญาณบอรดแบนด์ที่เชื่อถือได้ในพื้นที่ที่ควรได้รับ  สำหรับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางนั้น ประชากรเพียง 2 ใน 5 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เนตความเร็วสูง (4G) ได้ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่ากลุ่มนี้มีประชากรเพียง 1 ใน 5 คนที่เข้าถึงได้เท่านั้น หากภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมมือกันได้อย่างแข็งขัน และใช้ระเบียบข้อบังคับเชิงรุกจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่จำเป็น และช่วยสร้างการแข่งขันในภาคโทรคมนาคมอย่างสมบูรณ์

การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในทุกภาคส่วนของแต่ละประเทศนั้น จำเป็นต้องเดินหน้าสร้างกำลังแรงงานที่มีทักษะอย่างต่อเนื่อง ระบบการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาความรู้ด้านเทคนิคและทักษะด้านสังคมที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก ทั้งนี้ การปรับตัวและการเรียนรู้ตลอดชีวิตทวีความสำคัญมากกว่าที่เคย รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องไปกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การชำระเงินแบบดิจิทัลเป็นอีกเรื่องสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หากแต่รายงานนี้พบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังพัฒนาเรื่องนี้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังชำระเงินด้วยเงินสดอย่างแพร่หลาย  รายงาน Global Financial Inclusion (Findex) ของธนาคารโลกพบว่ามีผู้ถือบัญชีเงินเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่เข้าถึงข้อมูลในบัญชีผ่านอินเทอร์เนต ดังนั้น การใช้กฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มแข็งและการใช้ระบบการกำหนดอัตลักษณ์ดิจิทัลที่ทันสมัยสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการเงินดิจิทัลได้  ในขณะเดียวกัน การทำให้ระบบการชำระเงินของภาครัฐเป็นระบบดิจิทัลในด้านการจ่ายเงินบำนาญ การโอนเงินสด และการจ่ายเงินโครงการด้านสังคมอื่น ๆ จะทำให้เกิดแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างแรงกระเพื่อมในเรื่องนี้ได้

รายงานยังเน้นว่าการพัฒนาด้านดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่สามารถพึ่งพาแค่การมีรากฐานเสมือนจริง ภาคโลจิสติกส์ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์  สำหรับภูมิภาคนี้ กรอบกฎระเบียบข้อบังคับเรื่องโลจิสติกส์ที่ทันสมัยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ และปรับปรุงคุณภาพบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปรับระเบียบพิธีการด้านศุลกากรให้ความคล่องตัวมากขึ้นเพื่อให้การขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายลดลง และคาดการณ์เวลาได้ รวมถึงจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจการค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมาก

นอกจากนี้ การรวมตัวของภูมิภาค รวมถึงการประสานกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนสามารถช่วยผสานประโยชน์ที่จะได้รับจากตลาดดิจิทัลทั้งในส่วนของธุรกิจและลูกค้าได้

สุดท้ายนี้ รายงานนี้นำเสนอว่า ในการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องมาตรฐานและกฎระเบียบข้อบังคับที่มีประสิทธิภาพสำหรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กระแสข้อมูลระหว่างประเทศ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ข้อมูลส่วนตัว และการปกป้องลูกค้านั้น จะต้องมีการระบุความเสี่ยงและความเปราะบางที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลด้วย มาตรการที่เข้มแข็งในประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความเชื่อใจในแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงสร้างความปลอดภัย เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีความยั่งยืน


รายชื่อผู้ติดต่อ

ในกรุงเทพ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
+662-686-8385
kanitha@worldbank.org
ในวอชิงตัน
ซาเวีย มูลเลอร์
+1 (202) 458-5747
xmuller@worldbankgroup.org
Api
Api