Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561

ก้าวสู่การมีส่วนร่วมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในประเทศไทย ข้อเสนอแนะจากรายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลก

กรุงเทพฯ 26 มีนาคม 2561 – รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกเรื่อง “การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในประเทศไทย” พบว่า ประเทศไทยสามารถที่จะเป็นผู้นำในเรื่องการมีส่วนร่วมของกลุ่มเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และคนเพศกำกวม (LGBTI) ซึ่งจะช่วยให้คนไทยทุกคนได้รับโอกาสและความมั่งคั่งของประเทศอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน  รายงานนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกและภาคีอันได้แก่ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  องค์กรเลิฟ แฟรงกี้ และกองทุนนอร์ดิกทรัสต์ฟันด์ งานเปิดตัวรายงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหุ้นส่วนองค์การพัฒนาระดับนานาชาติซึ่งได้มาร่วมกันอภิปรายข้อค้นพบและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษาครั้งนี้

“รายงานฉบับนี้ช่วยให้เราได้เห็นประเด็นต่าง ๆ จากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และคำนึงว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ร่วมกันจัดการกับปัญหาเหล่านี้ โดยการสนับสนุนให้คนทุกคนที่มีความสามารถได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงานของไทย โดยปราศจากข้อจำกัดในเรื่องวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ” นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว

การนำผลการศึกษาที่ได้จากการสำรวจซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามเป็นจำนวนมากทั้งจากคนที่อยู่ในและนอกกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรกนี้ แบบสอบถามได้สำรวจทัศนคติและประสบการณ์ของพวกเขาในเรื่องการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งผลที่ได้รับจากการสำรวจครั้งนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อค้นพบสำคัญบางประการจากรายงานนี้ ได้แก่ คนไทยส่วนมากไม่ได้ตระหนักรู้ถึงเรื่องสิทธิทางกฎหมายและการคุ้มครองการเลือกปฏิบัติที่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับประโยชน์ในประเทศไทย หลายคนในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มหญิงและชายข้ามเพศต้องเผชิญกับการกีดกันอย่างเด่นชัดและพบความยากลำบากทั้งในตลาดแรงงานและในที่ทำงาน นอกจากนี้ รายงานยังได้รวบรวมรวมถึงผลจากกรณีศึกษา และประสบการณ์จากนานาชาติไว้ด้วย

รายงานนี้ได้เสนอแนะนโยบายและโครงการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่ม LGBTI อาทิ การรณรงค์ในสังคมเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่อง พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 การพัฒนาและดำเนินการให้มีกฎหมายความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ซึ่งห้ามการเลือกปฎิบัติอันเนื่องมาจากทางวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ (SOGI) รวมทั้งการนำเอาเรื่องความเสมอภาคทางเพศและการยุติการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากทางวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศรวมในหลักสูตรการอบรมแก่ผู้บริหารโรงเรียนและครูอาจารย์ทั้งก่อนเข้าทำงานและในช่วงที่ทำงานอยู่

“ประเทศไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านและได้ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ทั้งระดับครอบครัวและนานาชาติ ประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาและสนันสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ดร. อูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาคกล่าว “เพียงแค่การรวมกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้เข้ามามีส่วนร่วมเท่านั้น ประเทศไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและจากศักยภาพการผลิตจากคนไทยทุกคนให้เกิดประโยชน์ได้ การมีส่วนร่วมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งฉลาดที่ควรต้องทำ”

รายงานและชุดข้อมูลสามารถดาวน์โหลดได้จาก www.worldbank.org/thailand/


รายชื่อผู้ติดต่อ

กรุงเทพฯ
Leonora Gonzales
+1 (202) 629-6958
+66 2686 8341
lgonzales@worldbank.org
วอชิงตัน
Marcela Sanchez-Bender
+1 (202) 473-5863
sanchezbender@worldbank.org
Api
Api