Skip to Main Navigation
สุนทรพจน์ และ บันทึกสุนทรพจน์ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ความมุ่งมั่นที่มีต่อผู้ที่มองโลกในแง่ร้าย – ถาม&ตอบ กับวิรัช วิฑูรย์เธียร

Image

1.      กรุณาเล่าเกี่ยวกับตัวคุณ

วิรัช วิฑูรย์เธียร (วว): ปัจจุบันผมเป็นหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนงานที่ค่อนข้างจะพิเศษนั่นก็คือ การปกป้องโอโซนเพื่อประโยชน์ทางสภาพอากาศให้กับธนาคารโลก ดังนั้นผมจึงได้มีโอกาสที่จะประสานงานกับโครงการต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในเรื่องของการดำเนินการพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยเรื่องการลดและเลิกใข้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน งานส่วนใหญ่ของธนาคารโลกในเรื่องพิธีสารมอนทรีออล (MP)ของธนาคารอยู่ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ผมยังเป็นหัวหน้าการเจรจาทางด้านเทคนิคสำหรับการอนุมัติเงินช่วยเหลือโครงการใหม่ๆของ MP ดังนั้นพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลของผมและประสบการณ์ในการทำงานที่เกื่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องเย็นและเครื่องปรับอากาศมากว่า 30 ปีนั้นเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานในตำแหน่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ในความเป็นจริงการทำงานของผมตลอดระยะเวลา 24 ปีกับธนาคารโลกนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะเน้นในเรื่องของการให้การสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาในเรื่องของการดำเนินการและการปฏิบัติให้สอดคล้องกับพิธีสาร จากการที่ผมมาจากหนึ่งในประเทศเหล่านั้นซึ่งก็คือประเทศไทย ผมจึงได้มีโอกาสเรียนรู้และทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ของงานผ่านมุมมองของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงต้นของชีวิตการทำงานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็น “หน่วยงานโอโซนแห่งชาติ” ของประเทศ

2.      คุณรู้หรือไม่ว่าเมื่อคุณโตขึ้นมาแล้วคุณจะต้องมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกสนใขเกี่ยวกับงานในด้านนี้

วว: เมื่อสมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษา เรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้เป็นเรื่องที่ประขาขนให้ความสนใจเท่ากับในปัจจุบัน ในตอนนั้นมหาวิทยาลัยของผมยังไม่ได้มีภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งในภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล! แต่ก็เหมือนกับนักศึกษาวิศวกรรมโดยส่วนใหญ่ พวกเราถูกสอนให้ออกแบบและผลิตสินค้าด้วยต้นทุนที่ประหยัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ซึ่งถ้าจะทำให้สำเร็จตามนั้น การลดการสูญเสียให้น้อยที่สุดจึงเป็นหัวใจหลักของการเรียนรู้ของเรา

3.      เรื่องอะไรที่ทำให้คุณเซอร์ไพรส์ที่สุดในการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

วว: พิธีสารมอนทรีออลที่มีเป้าหมายหลักในการลดและเลิกใข้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเพื่อป้องกันขั้นบรรยากาศโอโซนนั้น ยังได้มีผลดีต่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลกมากกว่าการดำเนินงานตามพิธีสารเกียวโตหรือข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศใด ๆ ทั้งนี้เนื่องจากสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนมีค่าดัชนีที่ทำให้โลกร้อนสูงมาก การลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของพิธีสาร MP จนถึงปี  ๒๕๕๖ จึงมีผลดดีต่อการป้องกันภูมิอากาศโลกเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนรวมกว่า   1.35 แสนล้านตัน ซึ่งเป็นความสำเร็จที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

4.      คุณได้ไปทำงานเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยกับธนาคารได้อย่างไร

วว: ในปี 2533 ผมได้รับการแนะนำให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนจากเพื่อนของผมที่อยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม (6 เดือนหลังจากที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในพิธีสารมอนทรีออล) ในตอนนั้นธนาคารได้ให้การช่วยเหลือประเทศไทยในการจัดเตรียมแผนสำหรับประเทศเพื่อการดำเนินการพิธีสารมอนทรีออล ในตอนนั้นผมเป็นที่ปรึกษาธนาคารอยู่ 3 ปี และได้ร่วมจัดทำโครงการลดการใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ODS) เป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงปี 2556 ผมได้เข้าทำงานที่สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UNEP เพื่อจัดการเครือข่ายเจ้าหน้าที่โอโซนแห่งชาติแห่งแรกในภูมิภาคและเป็นเครือข่ายแรกภายใต้พิธีสาร MP ในปี 2539 ผมได้เข้าทำงานกับหน่วยประสานงานพิธีสารมอนทรีออลของธนาคารโลกในกรุงวอชิงตัน ด้วยประสบการณ์ที่ผมมีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สนับสนุนทางด้านเทคนิคให้แก่ทีมปฏิบัติการในเอเชียตะวันออก ตั้งแต่นั้นมาผมได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ MP ต่าง ๆ ของธนาคารในเอเชียตะวันออกและในประเทศไทย

5.      คุณเคยมีช่วงเวลาที่สำคัญที่คุณรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณทำลงไปนั้นมันคุ้มค่าหรือไม่

วว: มีบ้างครับ ผมขอยกตัวอย่าง 2 เรื่องจากประเทศไทยนะครับ เนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของธนาคารโลกและเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมในหลายๆประเภทสำหรับวิธีการปฏิบัติการของ MP และ โครงการต่าง ๆ  เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว กองทุนพหุภาคีของ MP และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกอนุมัติโครงการการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศสำหรับอาคาร ในประเทศไทย มันเป็นโครงการแรกที่แตกต่างจากโครงการอื่น ๆ ในหลาย ๆ ด้าน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่โครงการได้เน้นความสำคัญในการใช้โอกาสของการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซนและการปกป้องสภาพภูมิอากาศในการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ทำความเย็นมาเป็นประโยชน์อย่างจริงจังในการออกแบบนี้ด้วยการนำสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อโอโซนมาใช้แทนสารทำความเย็นที่ทำลายชั้นโอโซนและในขณะเดียวกันก็ได้มีการแนะนำให้ใช้เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดพลังงานให้มากขึ้น การเชื่อมโยงครั้งสำคัญนี้เป็นสิ่งที่ถูกสะท้อนในพิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ณ กรุงคิกาลีในปี 2559 ซึ่งจะเป็นการลดการใช้สารทำความเย็นที่เป็นก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภายภมิอากาศโลก

ตัวอย่างอีกเรื่องคือการพัฒนาวิธีการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนโดยการประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกในการลดการใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซน (ODS) ให้สอดคล้องตามข้อกำหนดของพิธีสาร วิธีการนี้ได้มีการนำเสนอในประเทศไทย(และประเทศมาเลเซีย)ในปี 2543 เป็นครั้งแรก ซึ่งเปลี่ยนแปลงรากฐานที่สำคัญของรูปแบบการให้เงินทุนของกองทุนพหุภาคีจากการให้ความช่วยเหลือโครงการย่อยๆซึ่งอาจไม่มีผลต่อภาพรวมของการลดใช้สารดังกล่าวในระดับประเทศ มาเป็นการให้เงินทุนสำหรับการลงทุนและนโยบายเป็นงวด ๆ ตามปริมาณการใช้สาร ODS ที่ลดลงในระดับประเทศที่ตรวจสอบได้ นับตั้งแต่ที่ได้มีการอนุมัติการดำเนินงานด้วยวิธีนี้และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย (ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการใช้สารดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว) ทำให้กองทุนมีการนำกลไกนี้มาใช้ในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่นับแต่นั้นมา

6.      เรื่องใดเป็นเรื่องที่คุณประสบความสำเร็จมากที่สุดและเรื่องใดที่เป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับคุณในการดำเนินการเรื่องนี้ในประเทศไทย

วว: สิ่งที่ท้าทายที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดมาจากโครงการ MP ล่าสุดที่เปลี่ยนตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยจากการใช้สาร ODS ไฮโดรครอโรฟลูโอคาร์บอน (HCFC) ซึ่งเป็นสารทำความเย็น ในตอนต้นมันเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากที่สุดเนื่องจากยังไม่มีการใช้สารทดแทนชนิดนั้นมาเป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศที่ใดในโลกนี้เลย ธนาคารโลกได้เสนอให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกๆ ที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้และในตอนนั้นโรงงานผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศทั้งในประเทศและระหว่างประเทศยังมีข้อกังขาเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่โรงงานผู้ผลิตยังอยากที่จะเปลี่ยนไปใช้สารที่คุ้นเคยอยู่แล้วแต่เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สารทกความเย็นที่มีดัชนีที่ทำให้โลกร้อนสูงมาก ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการลดการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HCFC และความพยายามอย่างไม่ลดละจากทางธนาคารในฐานะตัวแทนที่เป็นกลางทางด้านข้อมูลทางเทคนิค ผู้ผลิตในประเทศยินยอมที่จะเข้าร่วมในโครงการนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วความพยายามของผู้ผลิตไทยเป็นสิ่งจูงใจและผลักดันสำคัญที่ทำให้บริษัทระหว่างประเทศที่ดำเนินการผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยดำเนินการเลิกใช้สาร HCFC ไปในทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามตลอดการดำเนินงานยังคงมีหลายประเด็นที่จะต้องจัดการ ตั้งแต่เรื่องกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยไปจนถึงการจัดหาอุปกรณ์และส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการผลิต ธนาคารร่วมกับหน่วยงานโอโซนแห่งชาติของประเทศไทยได้มีการปรึกษาหารือกันอย่างหนักหน่วงร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเอาชนะความท้าทายนี้ให้ได้ ในที่สุดตลาดทั้งหมดได้ถูกเปลี่ยนไปให้ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมากขึ้นและในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศเนื่องจากว่าเทคโนโลยีใหม่นี้ทำตลาดไปแล้วทั่วโลก สำหรับผมสิ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือความเชื่อมั่นที่ธนาคารได้รับจากรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรม มันเป็นประสบการณ์ที่น่าภูมิใจสำหรับทีมงานและตัวของผมเอง และความเป็นพันธมิตรระหว่างธนาคารโลกและประเทศไทยยังแข็งแรงมากกว่าเดิมอีกด้วย

7.      คุณมีเคล็ดลับใด ๆ หรือ เทคนิคการใช้ชีวิตที่ทำให้ชีวิตและการทำงานของพวกเรานั้นเป็นมิตรต่อโอโซนมากขึ้นหรือไม่

วว: เวลาที่คุณซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (ตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ) กรุณาสอบถามหาผลิตภัณฑ์ที่มีระดับคะแนนมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูง และไม่ใช้สารให้ความเย็นไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) หรือ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ที่มีค่าดัขนีที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูง

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของคุณมีการบำรุงรักษาเชิงป้องกันอย่างเป็นประจำ (ถ้าไม่มีการรั่วซึมของสารให้ความเย็น ก็จะไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม)

ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 78 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 25 องศาเซลเซียส ทุก ๆ องศาที่ลดลงจะใช้พลังงานมากขึ้นถึงร้อยละ 6-8

ใช้พัดลม (พัดลมเพดาน) ร่วมกับเครื่องปรับอากาศจะช่วยในการกระจายอากาศเย็นและลมเย็นที่ออกมานั้นจะทำให้รู้สึกว่าอุณหภูมิของอากาศนั้นเย็นขึ้นมากกว่าความเป็นจริง

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานของธนาคารโลกในการปกป้องโอโซนและการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

Api
Api