Skip to Main Navigation
Results Briefs วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซนและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

Image

“จากความร่วมมือในครั้งนี้ คณะของเราได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ จากการร่วมงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก รวมถังภาคส่วนอื่นๆ เราสามารถขยายเครือข่ายของเราไปยังกลุ่มนักเรียนและบุคคลทั่วไปในวงกว้าง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เราไม่เคยติดต่อมาก่อน ในที่สุดเราก็ได้นโยบายต้นแบบ (Policy Prototypes) ผ่านการทำกิจกรรม Hackathon ที่เราจัดร่วมกัน ซึ่งได้รวบรวมความคิดและแนวทางใหม่ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อพัฒนานโยบายจากประชาชน (Bottom-up Policy) ที่จะปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนผ่านการลดการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ในประเทศไทย”

ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ธนาคารโลกได้ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537 เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ ลดการใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนที่ใช้ในการทำความเย็น เครื่องปรับอากาศ การผลิตโฟม การผลิตสเปรย์และสารหน่วงไฟ เนื่องจากสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเป็นก๊าซที่มีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนสูง การเลิกใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซนจึงเป็นประโยชน์ต่อการปกป้องสภาพอากาศด้วย ธนาคารโลกได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมไทยมานานกว่าสองทศวรรษในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้เกี่ยวกับโอโซนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศให้กับภาคเอกชน รวมทั้งให้คำแนะนำด้านนโยบายและเทคนิคแก่หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ด้วยความร่วมมือที่ลึกซึ้งกับภาครัฐและภาคเอกชนนี้ เราได้ร่วมกันช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้วกว่า 38.18 ล้านตัน เทียบเท่ากับการนำรถยนต์โดยสารออกจากถนนไปกว่า 8.1 ล้านคัน หรือการปิดโรงไฟฟ้าจากถ่านหินไปเกือบ 10 แห่ง

ความท้าทาย

เทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ส่งเสริมภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษา การถนอมอาหารและการลดของเสียให้น้อยที่สุด ช่วยพัฒนาภาคสาธารณสุข และสนับสนุนเป้าหทายการพัฒนาด้านดิจิตอลของประเทศ แต่การพัฒนาเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเนื่องจากสารประกอบต่างๆ ที่ใช้เป็นสารทำความเย็นไม่เพียงแต่เป็นสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน แต่ยังมีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจกด้วย

ประเทศไทยผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกซึ่งผลิตเครื่องปรับอากาศกว่า 16 ล้านเครื่องต่อปี และกว่าร้อยละ 90 นั้นเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 10 ผู้นำเข้าและผู้ใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) ซึ่งนำเข้ามากกว่า 18,000 ตันในปี 2555 โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาล คือ การแนะนำแนวทางการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมของประเทศไทยและการนำแนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียวมาใช้

เนื่องจากประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยการคุ้มครองชั้นโอโซนและพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารที่ทำลายชั้นโอโซน จึงจำเป็นต้องยกเลิกการใช้คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) และสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs)

กำหนดการเลิกการใช้สาร HCFC ได้สร้างความท้าทายที่สำคัญให้กับผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัยของไทย รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคอุตสาหกรรมโฟมที่ผลิตผลิตภัณฑ์โฟมฉนวนกันความร้อนชนิดต่างๆ การดำเนินโครงการลดและเลิกการใช้สาร HCFC อย่างทันเวลาได้ช่วยป้องกันการหยุดชะงักของภาคธุรกิจเหล่านี้ โดยผนวกกันระหว่างการลงทุนและการดำเนินนโยบายภาครัฐที่สอดคล้องกัน

ด้วยการสนับสนุนของธนาคารโลกผ่านโครงการนี้ ประเทศไทยได้ยกเลิกการใช้สาร CFCs อย่างสมบูรณ์ในปี 2553 และมีเป้าหมายที่จะยกเลิก HCFCs อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2573

แนวทางการดำเนินการ

เป็นเวลาเกือบ 25 ปีแล้วที่ธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการตามกองทุนพหุภาคีเพื่อการดำเนินพิธีสารมอนทรีออล ตั้งแต่ปี 2537 ธนาคารโลกได้จัดหาเงินทุนมากกว่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเลิกใช้สาร CFC และ HCFC ที่เป็นอันตรายในประเทศไทย ธนาคารโลกได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมไทยมานานกว่าสองทศวรรษในการถ่ายโอนเทคโนโลยีและความรู้เกี่ยวกับโอโซนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศให้กับภาคเอกชนรวมทั้งให้คำแนะนำด้านนโยบายและเทคนิคแก่หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนที่สำคัญ คือ คำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงการออกแบบโครงการที่มีประสิทธิภาพโดยกำหนดกรอบนโยบายที่เหมาะสมและการแทรกแซงการลงทุนในเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการโครงการในการเลิกการใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศจะประสบความสำเร็จ

ตัวอย่างคือความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงของตลาดเครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัยของไทย ธนาคารโลกได้มีบทบาทในการสร้างอำนาจในการต่อรองซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดให้มีการหารืออย่างเปิดเผยระหว่างกลุ่มผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศไทยและบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีใหม่เพียงรายเดียวที่ใช้สารทำความเย็น HFCs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโอโซนซึ่งมีศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนลดลงเพียง 1 ใน 3 ของสาร HCFCs เดิม ธนาคารโลกได้ช่วยผู้ผลิตไทยในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่และเข้าถึงความรู้จากผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และช่วยปลดข้อจำกัดในการจัดหาส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศใหม่ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ก่อนประเทศอื่นนี้ทำให้ผู้ผลิตไทยสามารถขยายตลาดส่งออกในประเทศที่พัฒนาแล้วได้

สำหรับภาคอุตสาหกรรมโฟม โครงการได้มอบเงินช่วยเหลือภายใต้กองทุนพหุภาคีมอบให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความสามารถทางด้านเทคนิคและการเงินที่เพียงพอเพื่อดำเนินการเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศด้วยตนเอง สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโฟมขนาดเล็กที่มีความสามารถทางเทคนิคและการเงินจำกัด จะได้รับการสนับสนุนโดยผ่านทางบริษัทที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละราย

ท้ายที่สุด การเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตในทั้งสองภาคอุตสาหกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากการห้ามใช้ HCFC เดิมทั้งในภาคเครื่องปรับอากาศและโฟม (ยกเว้นสเปรย์โฟม) การผนวกกันระหว่างแรงจูงใจการลงทุนและการดเปลี่ยนแปลงนโยบายภาครัฐ และการขับเคลื่อนตลาดที่สอดคล้องกันนี้จีงนำไปสู่ความสำเร็จและความยั่งยืนของโครงการ

ผลลัพธ์

ประโยชน์ในด้านสภาพภูมิอากาศที่ได้รับทั้งหมดตั้งแต่เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2537 ถึง 2557 ได้แก่:

  • การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 38.21 ล้านต่อปี เทียบเท่ากับการนำรถยนต์โดยสารออกจากถนนไปกว่า 8.1 ล้านคัน หรือการปิดโรงไฟฟ้าจากถ่านหินไปเกือบ 10 แห่ง
  • เงินสนับสนุนโครงการนี้จากกองทุนทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นต้นทุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพียง US$ 2.09 หรือประมาณ 60 บาท ต่อหน่วย CO2 ซึ่งคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับมาตรการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่นๆ
  • ผู้ผลิตโฟมขนาดเล็กและขนาดกลางมากกว่า 80 ราย ได้เปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตเป็นสารทางเลือกที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศต่ำลงส่งผลให้เกิดการหยุดผลิต HCFC ถาวรทั้งหมดกว่า 1,200 เมตริกตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 870,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่อปี
  • ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัยกว่า 11 รายได้เปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีทางเลือกที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศต่ำลง ณ เมื่อโครงการเสร็จสิ้น ได้มีการใช้สาร HCFC ทั้งหมดลดลงมากกว่า 5,000 เมตริกตัน
  • ประเทศไทยสามารถรักษาสถานภาพที่มั่นคงในตลาดโลกและรักษาความสามารถในการแข่งขันในฐานะผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในครัวเรือนรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก – ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 16 ล้านหน่วยต่อปี

ในแง่ของความสำเร็จของประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่:

  • เสนอให้กองทุนพหุภาคีใช้แนวทางการดำเนินโครงการแบบ performance-based approach เพื่อลดการใช้สารที่ทำลายโอโซนอย่างถาวร เช่น CFCs และ HCFCs กองทุนนี้จึงทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายระยะยาวเพื่อจำกัดการนำเข้าและการใช้สารเหล่านี้
  • ห้ามการผลิตและนำเข้าตู้เย็นที่ใช้สาร CFC ในปี 2540 นอกจากนี้ยังเป็นประเทศแรกที่เปลี่ยนตลาดเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HCFC ไปเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรกับโอโซนและสภาพอากาศมากขึ้นในปี 2560
  • ดำเนินการโครงการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศในอาคารเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเลิกใช้สาร CFCs ในเวลาเดียวกัน แนวทางการดำเนินโครงการที่ได้รับประโยชน์ทั้งสองทาง (Dual Benefit Approach นี้ (โอโซนและสภาพภูมิอากาศ) ได้รวมอยู่ในการออกแบบแนวทางการให้ความช่วยเหลือภายใต้พิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี ด้วย

บทบาทของกลุ่มธนาคารโลก

ธนาคารโลกได้มีส่วนร่วมในด้านการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซนและการพัฒนาอุตสาหกรรมทำความเย็นในประเทศไทยผ่านการดำเนินงานของกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งให้เงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้นประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังมีบทบาทในการสร้างอำนาจในการต่อรองและบทบาทในฐานะหน่วยงานประสานที่เป็นกลางในการรับฟังข้อกังวล รวมถึงช่วยประสานและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายฝ่ายเพื่อช่วยให้สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันให้การดำเนินการเลิกการใช้สาร HCFCs ต่อไป

ความร่วมมือจากภาคส่วนค่างๆ

โครงการดังกล่าวได้สร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งและการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยโอโซนของประเทศและหน่วยงานหลักในการจัดการโครงการ ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกรมศุลกากรในการตรวจสอบและติดตามโควต้าการนำเข้าสารที่ทำลายชั้นโอโซน ทีมของธนาคารโลกยังได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและโฟมเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินโครงการนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารออมสินยังทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานในจัดการโครงการ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางการเงินในการตรวจสอบและกำกับดูแลการเบิกจ่ายเงินไปยังโครงการย่อย โครงการยังได้จัดฝึกอบรมสำหรับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อเสริมสร้างความสามารถของผู้ฝึกสอนและอาจารย์เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในการติดตั้งและให้บริการเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HFC ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศมากขึ้น

การดำเนินการต่อไปในอนาคต

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของพิธีสารมอนทรีออลได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดและเลิกการใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยาการศโอโซน ขั้นตอนต่อไปของประเทศไทยคือการให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี เพื่อลดการใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ด้วยสาร HFCs นั้นเป็นสารที่มีผลต่อการทำลายชั้นโอโซนเป็นศูนย์ ปัจจุบันจึงได้มีการนำสาร HFCs มาใช้เพื่อทดแทนสาร HCFCs และสาร CFCs อย่างไรก็ตาม พวกสาร HFCS ยังคงเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ธนาคารโลกจึงจะยังคงสนับสนุนการดำเนินการเพื่อรองรับพิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี โดยการช่วยเหลือประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ในการลดการใช้สาร HFCs และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดและลดค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคต่อไป

ธนาคารยังตั้งเป้าหมายที่จะเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักๆ ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้การดำเนินการนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นอย่างเหมาะสม สิ่งนี้จะไม่เพียงยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สูงสุดด้วย ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ธนาคารโลกยังได้สนับสนุนกรมโรงงานอุตสาหกรรมของไทยในการจัด Policy Hackathon เป็นครั้งแรก โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 300 คนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ตั้งแต่กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ผู้ประกอบการเอกชน ไปจนถึงเจ้าของฟาร์มเกษตรกรรม - เพื่อพัฒนานโยบายจากประชาชน (Bottom-up Policy) ที่จะปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน โดยถือเป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างดีจากสมาชิกพิธีสารมอนทรีออลประเทศอื่น ๆ ที่สามารถจะเป็นต้นแบบให้มีการจัดทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ ต่อ


“คุณอาจไม่เคยรับรู้ว่าคุณใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนอย่างสาร CFCs มากแค่ไหนในชีวิตประจำวันของเรา แท้จริงแล้ว ตั้งแต่เราตื่นขึ้นมา ใช้ครีมโกนหนวด น้ำยาดับกลิ่นกาย น้ำหอม เปิดตู้เย็นเพื่อรับประทานอาหารเช้า เปิดแอร์ในรถ จนมาถึงที่ทำงานที่มีเครื่องปรับอากาศ ข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ที่เราใช้กันในทุกๆ วันนั้น ล้วนมีส่วนประกอบจากสาร CFC ทั้งสิ้น โชคดีที่ในวันนี้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มีสาร CFC เป็นส่วนประกอบอีกต่อไปแล้ว”

คุณสุภาณี จันทศาศวัต เจ้าของกลุ่มบริษัทกุลธรผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น


image
“It might not be obvious to you how much we used ozone depleting substances like CFCs before in our daily life. From the moment we woke up,  used shaving creams, deodorant, perfume, opened our refrigerators to get  breakfast, turned on the air conditioner in the car, and arrived in our air conditioned office, these appliances that people use throughout the day were made with or contained CFCs. Luckily, these products  no longer have them anymore.”  Ms. Supanee Chantasasawat, owner of Kulthorn Group, a manufacturer of air conditioning and refrigeration parts.