Skip to Main Navigation
เรื่องเด่น วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การระดมสมองเชิงนโยบายเพื่อค้นหาแนวทางที่สร้างสรรค์สำหรับการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนครั้งแรกของประเทศไทย

Image

ผู้เข้าร่วมการระดมสมองเชิงนโยบาย (policy hackathon) เป็นเวลา 24 ชั่วโมงเต็มเพื่อตกผลึกความคิดใหม่และพัฒนานโยบายภาครัฐจากประชาชน (bottom-up policy) เพื่อปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน


เรื่องเด่น

  • จากส่วนหนึ่งในความพยายามของประเทศไทยที่จะบรรลุเป้าหมายการลดละเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนอย่างยั่งยืน ธนาคารโลกได้ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารออมสินได้เปิดตัวชุดกิจกรรมการรณรงค์ที่ชื่อว่า “เรื่องของโอโซน เรื่องของเรา”
  • การรณรงค์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องโอโซนและการปกป้องสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในความพยายามของประเทศไทยและนานาชาติในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในโลกของเรา
  • หนึ่งในกิจกรรมหลักของการรณรงค์ในครั้งนี้ คือ การแข่งขันระดมสมองเชิงนโยบายจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงนักเรียนนักศึกษา เพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนานโยบายภาครัฐจากประชาชนในการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนของไทย

นอกจากนี้ การปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนนั้นยังช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน  ถึงแม้ว่าชั้นบรรยากาศโอโซนจะอยู่เหนือขึ้นไปจากพื้นโลกกว่า 10 กิโลเมตร แต่แท้จริงแล้วนั้นการปกป้องชั้นบรรยากาศที่ง่ายที่สุดนั้นอยู่ใกล้พวกเราทุกคนกว่าที่คิด  นี่คือแนวคิดเบื้องหลังการรณรงค์เรื่อง “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา” ซึ่งร่วมกันจัดโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนาคารออมสิน และธนาคารโลก เพื่อเพิ่มความเข้าใจและความตระหนักรู้เรื่องการปกป้องโอโซนและสภาพภูมิอากาศในกลุ่มคนทั่วไป ซึ่งชั้นบรรยากาศโอโซนนั้นจะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันปกป้องรังสียูวี-บีไม่ให้เข้าถึงโลกตามธรรมชาติ  โดยรังสียู-วีในระดับที่สูงนั้นจะเป็นอันตราย สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก ลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสามารถส่งผลทำลายห่วงโซ่อาหารได้

ตลอดชุดกิจกรรมซึ่งประกอบไปด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบนั้น การรณรงค์ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ประชาชนทั่วไปตระหนักรู้มากขึ้นว่าพวกเขาสามารถมีส่วนช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซนได้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กว่า 300 คนนั้นมาจากทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา อุตสาหกรรม และนักเรียนนักศึกษาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย

“ผมเริ่มเข้าใจความสำคัญของโอโซน ซึ่งการปกป้องโอโซนก็ดีต่อสุขภาพของเราด้วย อีกอย่าง ผมเพิ่งรู้ว่ายังมีเรื่องเกี่ยวกับโอโซนมากมายที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน” นายภวัคร วรสันต์ นักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกล่าว

ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เพิ่งรู้เป็นครั้งแรกว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ แลปท๊อป ครีมโกนหนวด โรลออนระงับกลิ่น ไปจนถึงที่นอนที่เรานอนทุกคืนนั้นต่างใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเป็นส่วนประกอบในการผลิตทั้งสิ้น

ในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของพิธีสารมอนทรีออล ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จก้าวสำคัญในการควบคุมการผลิตและการใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) และไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFCs)  ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกการผลิตและการนำเข้าสารทำความเย็นคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 นอกจากนี้ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่เปลี่ยนการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFCs) ในการผลิตเครื่องปรับอากาศโดยเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศโอโซนสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560  ก้าวต่อไปของประเทศไทยคือการรับรองการปรับแก้พิธีสารมอนทรีออล ณ กรุงคิกาลี ซึ่งได้กำหนดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนและมีกำหนดเวลาสำหรับการเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFCs)  ไปสู่การใช้สารอื่นที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น

“ฉันสนุกกับการบรรยายและงานกลุ่มที่ช่วยกันออกแบบเครื่องมือเพื่อปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนมากค่ะ เรื่องโอโซนนี่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิดไว้เยอะ มันเกี่ยวกับทั้งอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวันของเราด้วย ในฐานะที่ฉันเป็นเกษตรกร สิ่งที่ฉันคิดว่าจะกลับไปทำได้คือปรับปรุงการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” คุณชินะภัส ปูนา มั่นแน่ เกษตรกรฟาร์มออร์แกนนิก จากจังหวัดกาญจนบุรี กล่าว


"เรื่องโอโซนนี่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิดไว้เยอะ มันเกี่ยวกับทั้งอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวันของเราด้วย ในฐานะที่ฉันเป็นเกษตรกร สิ่งฉันสามารถจะทำได้คือปรับปรุงการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น"
นะภัส ปูนา มั่นแน่
เกษตรกรฟาร์มออร์แกนนิก จากจังหวัดกาญจนบุรี

Image

ผู้เข้าร่วมงานจากหลากหลายภาคส่วน ต่างวัย และพื้นเพ ได้ร่วมใจกันแสดงความคิดของพวกเขาออกมาให้เห็นว่าชั้นบรรยากาศโอโซนมีผลต่อโลกและชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง


กิจกรรมหลักของชุดการรณรงค์ครั้งนี้ได้แก่ การระดมสมองเชิงนโยบาย (policy hackathon) เป็นเวลา 24 ชม ซึ่งผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 13 กลุ่มกว่า 70 คน ได้ร่วมกันระดมความคิดแนวัตกรรมในการแก้ปัญหาเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการลดการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFCs)  ของประเทศไทย เพื่อช่วยลดอุณหภูมิโลกลงให้ได้ 0.5 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ ในขณะที่ยังคงดำเนินการเพื่อปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนอย่างต่อเนื่อง

“ในฐานะที่ผมเป็นนักศึกษา  ผมสามารถแชร์ความรู้กับคนอื่นๆ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้น  ถ้าคนเข้าใจมากขึ้น พวกเขาก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผมคิดว่าการทำแบบนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้นโยบายสั่งการจากผู้บริหารลงมาอีกครับ” นายภวัคร กล่าว

ในกิจกรรมการระดมสมองเชิงนโยบายครั้งนี้ ได้มีผู้ให้คำปรึกษาจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมให้การสนับสนุน ได้แก่ ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการจากภาคส่วนตู้เย็นและโฟม รวมถึงทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคารโลก ซึ่งทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจให้คำแนะนำอย่างเต็มที่ให้แก่ผู้เข้าร่วมแข่งขันเพื่อช่วยขัดเกลาแนวคิดเชิงนโยบายต่าง ๆ ให้เฉียบคมตรงเป้าหมาย  นโยบายที่ได้รับจากการระดมสมองในครั้งนี้ล้วนเป็นแนวคิดเชิงนวัตกรรมที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ ตั้งแต่การทำแอปพลิเคชั่นสำหรับการดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศ  การสร้างแรงจูงใจสำหรับการซ่อมบำรุงแอร์รถยนต์ ไปจนถึงการทำโครงการนำร่องบ้านที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผู้มีรายได้น้อย

“นอกเหนือจากวิธีการเรียนการสอนทั่วไปแล้ว การศึกษาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการใหม่ๆ ผ่านวิธีการแฮคกกาธอนได้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่มีนวัตกรรม  สังเคราะห์ความคิด และใช้เครื่องมือสร้างวิธีการคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาต้นแบบนโยบาย” รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ธนาคารโลกเป็นหนึ่งในหน่วยงานดำเนินการของกองทุนพหุภาคีเพื่อดำเนินการตามข้อตกลงในพิธีสารมอนทรีออล และได้ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมไทยมากว่าสองทศวรรษเพื่อถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำด้านเทคนิคแก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การลดละเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศนั้นมีความยั่งยืน  โดยที่ผ่านมา ได้ให้เงินสนับสนุนมากกว่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการการลดละเลิกการใช้การใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) และไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFCs) ในประเทศไทย

“การปกป้องสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและสภาพภูมิอากาศไม่ใช่งานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ควรจะเป็นความรับผิดชอบของทุกคน” ดร วิรัช วิฑูรย์เธียร หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมกล่าว “การประชุมเชิงปฏิบัติการและการรณรงค์เชิงนโยบายที่เราจัดขึ้นครั้งนึ้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มขั้นตอนเตรียมนโยบาย  ผมมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เหมือนกับที่เคยทำได้แล้วสำเร็จมาแล้วจากโครงการลดการใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) และไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFCs) ที่ผ่านมาครับ”



Api
Api