Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คาดการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

เศรษฐกิจของภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.4 ในปีพ.ศ. 2560 เปิดโอกาสให้กำหนดความท้าทายในระยะยาวได้

กรุงเทพฯ 4 ตุลาคม 2560 – รายงานล่าสุดของธนาคารโลกชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ทั้งนี้การเติบโตอย่างแข้มเข็งในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการค้าโลกต่างเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ในปีพ.ศ. 2560

รายงาน East Asia and Pacific Economic Update ฉบับเดือนตุลาคม 2560 นี้ รายงานว่าเศรษฐกิจในปีพ.ศ. 2560 เติบโตขึ้นเล็กน้อยจากที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 6.7 เท่ากับการเติบโตในปีพ.ศ. 2559 ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตสูงขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 5.1 ในปีพ.ศ. 2560 และร้อยละ 5.2 ในปีพ.ศ. 2561 สูงขึ้นจากร้อยละ 4.9 จากปีพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลายประการจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตที่ดี นโยบายเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าบางประเทศยังคงมีความไม่แน่นอน ในขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปอาจเพิ่มความเข้มงวดด้านนโยบายทางการเงินเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งหลายประเทศในภูมิภาคมีระดับหนี้ของภาคเอกชนสูง ขณะที่การขาดดุลการคลังก็ยังคงสูง หรือกำลังเพิ่มสูงขึ้น

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการขยายตัวของการค้าโลกล้วนเป็นข่าวดีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างประสบความสำเร็จในการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง” นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “ความท้าท้ายของประเทศต่างๆ อยู่ที่การสร้างสมดุลย์ระหว่างการจัดลำดับความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นกับการลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้มีรากฐานการเติบโตที่เข้มแข็งเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง”

ในประเทศจีน การสร้างความสมดุลย์ระหว่างการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศนั้นคาดว่าจะดำเนินต่อไป เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะชะลอการเติบโตลงอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ในปีพ.ศ. 2561

ประเทศไทยและมาเลเซียคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเร็วกว่าที่คาดไว้ ในระยะแรกเนื่องมาจากการส่งออกที่เข้มแข็งซึ่งรวมถึงภาคการท่องเที่ยวและในระยะต่อมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของค่าแรงแท้จริงส่งผลให้การบริโภคในอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้น  ภาคการเกษตรและการผลิตของเวียดนามฟื้นตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตไปด้วย ส่วนฟิลิปปินส์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตช้าลงกว่าปีพ.ศ. 2559 เล็กน้อยส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

แนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศขนาดเล็กนั้นมีความหลากหลาย มองโกเลียและฟิจิคาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเล็กน้อยในระหว่างปีพ.ศ. 2560-2561 นโยบายสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคของมองโกเลียช่วยให้มีการลุงทุนจากต่างประเทศในภาคเหมืองแร่และขนส่ง  การฟื้นฟูประเทศจากพายุไซโคลนวินสตันมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจฟิจิเติบโต  เศรษฐกิจของกัมพูชาและสปป.ลาวยังคงเติบโตระดับปานกลางเมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2559 แต่ก็ยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมีตัวขับเคลื่อนสำคัญของกัมพูชามาจากการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่สปป. ลาวเกิดจากการขยายตัวของภาคพลังงาน

ส่วนกลุ่มประเทศขนาดเล็กในหมู่เกาะแปซิฟิกคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวระดับปานกลางเนื่องจากการท่องเที่ยวขยายตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกลดลง รายได้จากค่าธรรมเนียมการประมงอยู่ในระดับสูง และการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ในระยะยาว ประเทศกลุ่มนี้มีศักยภาพที่จะมีรายได้ การจ้างงาน และรายได้ของภาครัฐที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหากมีการปฎิรูปด้านการท่องเที่ยว การเคลื่อนย้ายแรงงาน การประมง และเศรษฐกิจฐานความรู้

 “แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นนับเป็นโอกาสสำหรับประเทศต่างๆ ที่จะลดความเปราะบางในด้านต่างๆ และดำเนินการปฎิรูปอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่างๆ ได้รับผลตอบแทนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว”  นายชูเดียร์ แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินและการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการขยายความร่วมมือในภูมิภาคให้มากขึ้นยังคงเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ”

รายงานนี้ได้เสนอให้แต่ละประเทศคงความยืดหยุ่นเพื่อรับกับความเสี่ยงต่อไปโดยการเปลี่ยนจากมาตรการการเติบโตระยะสั้นให้เป็นมาตรการด้านนโยบายที่คำนึงถึงความเปราะบางด้านการเงินและการคลัง มาตรการดังกล่าวนี้ได้แก่ การสร้างกฏระเบียบในการตรวจสอบที่เข้มแข็งและระเบียบที่รัดกุมในประเทศที่มีภาคเอกชนขยายสินเชื่อและมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  การปฏิรูปนโยบายและการจัดการด้านภาษีเพื่อช่วยการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐบาล การเตรียมพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดในกรณีที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

ทั้งนี้ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างของแต่ละประเทศล้วนแตกต่างกันไป จีนและเวียดนามควรจะมีการพัฒนาภาครัฐวิสาหกิจที่ยั่งยืนเพื่อปรับปรุงการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ส่วน ฟิลิปปินส์ ไทย สปป.ลาว และกัมพูชาจะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงระบบการจัดการการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการขยายตัวของโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในขณะที่อินโดนีเซียควรให้ความสำคัญกับเรื่องเปิดเสรีกฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศ

นอกจากนี้รายงานยังได้เน้นถึงศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวและการรวมตัวระดับภูมิภาคให้มากขึ้นกว่าเดิมซึ่งจะชดเชยความเสี่ยงจากมาตรการปกป้องประเทศด้านการค้าได้  การเติบโตด้านการท่องเที่ยวนั้นหากมีการบริหารจัดการที่ดีแล้วจะส่งประโยชน์ต่อภูมิภาครวมถึงประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ส่วนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้สร้างแนวทางส่งเสริมการรวมกลุ่มในภูมิภาคซึ่งรวมถึงการเปิดเสรีด้านบริการและการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี

แม้ว่าประเทศต่างๆ จะประสบความสำเร็จในการลดความยากจน แต่ยังมีประเด็นที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นในเรื่องระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงและยังสูงขึ้นอีกอันเนื่องมาจากการเคลื่อนย้าย(แรงงาน)ที่ลดลง และความไม่ปลอดภัยทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น สำหรับการเติบโตแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนนั้น จะทำได้ต้องอาศัยมาตรการลดความยากจนซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายขยายการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ งานที่สร้างผลิตผลมากขึ้น ระบบคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะลดผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเฉียบพลันได้

รายงาน East Asia and Pacific Update จัดทำโดยธนาคารโลกเพื่อวิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจในภูมิภาค รายงานนี้จัดพิมพ์ปีละ 2 ครั้ง และสามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่  https://www.worldbank.org/eap


รายชื่อผู้ติดต่อ

กรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
02-686-8385
kanitha@worldbank,org
วอชิงตัน
ลิเวีย ปองต
+1-202-473-8949
Lpontes@worldbank.org
Api
Api